สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่: อดีตเคยยิ่งใหญ่แต่ปัจจุบันยังหลงทาง

17 พ.ย. 2566 - 11:28

  • สัญลักษณ์ม้ากระโดดยกขาหน้า ตัวรถสีแดงสดสุดโดดเด่น คือนิยามของ ‘ม้าลำพอง’ เฟอร์รารี่ แบรนด์รถซูเปอร์คาร์สุดหรูสัญชาติอิตาลี ซึ่งพวกเขามีจุดเริ่มต้นมาจากทีมแข่งรถชื่อว่า ‘สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่’

  • และในวันนี้เราจะพาทุกคนย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของทีม สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่ ตั้งแต่วันแรกของทีม ผ่านจุดที่ประสบความสำเร็จสูงสุด มาจนถึงปัจจุบันที่เหมือนจะกลับมาได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีหลงทางอยู่บ้าง

Scuderia-Ferrari-F1-team-story-SPACEBAR-Hero.jpg

สัญลักษณ์ม้ากระโดดยกขาหน้า ตัวรถสีแดงสดสุดโดดเด่น แค่สองอย่างนี้สำหรับคนที่ชอบรถน่าจะรู้กันแล้วใช่ไหมล่ะครับว่านี่คือ…. ถูกต้องครับนี่คือ ‘ม้าลำพอง’ เฟอร์รารี่ แบรนด์รถซูเปอร์คาร์สุดหรูสัญชาติอิตาลี ที่โดนใจบรรดาเศรษฐีคนมีเงิน เพราะเต็มไปด้วยรถที่ทั้งสวยและแรง ซึ่งพวกเขามีจุดเริ่มต้นมาจากทีมแข่งรถชื่อว่า ‘สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่’ ที่ปัจจุบันลงทำการแข่งขันในศึกรถสูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก หรือ ฟอร์มูล่าวัน นั่นเอง 

และในวันนี้เราจะพาทุกคนย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของทีม สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่ ตั้งแต่วันแรกของทีม ผ่านจุดที่ประสบความสำเร็จสูงสุด มาจนถึงปัจจุบันที่เหมือนจะกลับมาได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีหลงทางอยู่บ้าง ถ้าพร้อมแล้ว ติดตามไปกับ Spacebar VIBE ได้เลยครับ 

ชายผู้เป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของม้าลำพอง

Scuderia-Ferrari-F1-team-story-SPACEBAR-Photo01.jpg

จุดเริ่มต้นของทีมเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1929 โดยชายชื่อ ‘เอ็นโซ เฟอร์รารี่’ ที่แรกเริ่มเดิมทีก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งนักแข่งสมัครเล่นเข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ โดยเอ็นโซขอความช่วยเหลือในเรื่องของการเงินจากบรรดาผู้มีฐานะ ระหว่างการรับประทานอาหารมื้อค่ำที่เมืองโบโลญญ่า ก่อนที่เขาจะรวบรวมนักแข่งกว่า 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงแรกลงแข่งขันด้วยรถ อัลฟ่า โรมิโอ 8C ในขณะที่เอ็นโซเองก็ลงแข่งต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง ไดโน ลูกชายคนแรกของเขาเกิดในปี 1932 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่รถสองคันของทีมอย่าง อัลฟ่า โรมิโอ 8C 2300 สไปเดอร์ เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ในการแข่งขัน 24 ชั่วโมง ที่สปา ประเทศเบลเยียม 

หลังจากนั้นในปีถัดมาอัลฟ่า โรมิโอ ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องถอนตัวจากการแข่งขัน แล้วให้ทาง สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่ ดูแลแทน แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นก็ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในหลายๆ อย่าง ซึ่งตัวเอ็นโซเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วย จนสุดท้ายเขาออกจากอัลฟ่า โรมิโอ และไปก่อตั้งบริษัท Auto Avio Costruizioni Ferrari ขึ้นมาแทน แต่ก็มีข้อจำกัดที่ว่าจะต้องไม่มีชื่อของเฟอร์รารี่ปรากฎอยู่บนรถใดๆ เป็นระยะเวลา 4 ปี 

โดยรถแข่งคันแรกแบบจริงๆ จังๆ ของเฟอร์รารี่เกิดขึ้นในช่วงปี 1939 – 40 ในชื่อ Tipo 815 แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ทันได้ลงแข่งขันอะไรก็ถูกเบรกด้วยสงครามโลกครั้งที่สองไปซะก่อน หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้สร้าง Tipo 125 รถแข่ง 12 สูบ ที่มีเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และเข้าร่วมการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ที่ไม่มีการชิงแชมป์หลายรายการ และเมื่อข้อจำกัดห้ามใช้ชื่อเป็นระยะเวลา 4 ปี หมดลง เอ็นโซ ก็ก่อตั้งบริษัท Ferrari S.p.A ที่เป็นแบรนด์ซูเปอร์คาร์สุดหรูในปัจจุบันขึ้นมาอย่างเป็นทางการ

Scuderia-Ferrari-F1-team-story-SPACEBAR-Photo02.jpg

กลับมาที่การแข่งขัน เฟอร์รารี่ เป็นทีมที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานในวงการฟอร์มูล่าวัน ตอนนี้พวกเขาเป็นเพียงทีมเดียวในเอฟวันที่ยังลงแข่งขันอยู่นับตั้งแต่การชิงแชมป์โลกครั้งแรกเมื่อปี 1950 นั่นก็ทำให้ทีม ‘ม้าลำพอง’ เป็นทีมที่เก่าแก่ที่สุด และยังประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการกีฬาชนิดนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามในปีแรกของการแข่งขันก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ เนื่องจากทาง อัลฟ่า โรมิโอ คือทีมที่ครองความยิ่งใหญ่เหนือพวกเขาด้วยการเอาชนะไปทั้งหมด 11 รายการ (ชิงแชมป์โลก 6 รายการ และไม่ชิงแชมป์ 5 รายการ) แต่ใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่ปีเดียว เฟอร์รารี่ ก็สามารถหยุดความยิ่งใหญ่นั้นได้ เมื่อทาง โฮเซ่ ฟริโอลัน กอนซาเลซ คว้าแชมป์บริติช กรังด์ปรีซ์ 1951 ได้สำเร็จ หลังจากนั้นพวกเขาก็มีทั้งช่วงเวลาที่ดีและร้ายคว้าแชมป์โลกประเภทนักแข่งได้ทั้งหมด 9 สมัย จนถึงปี 1979  

มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ชายผู้เขียนประวัติศาสตร์ของเฟอร์รารี่

Scuderia-Ferrari-F1-team-story-SPACEBAR-Photo03.jpg

การคว้าแชมป์โลกนักแข่งได้ในปี 1979 เป็นหนสุดท้ายที่พวกเขาทำได้ ก่อนที่จะไม่สามารถทำได้อีกเลยเป็นระยะเวลายาวนานถึง 21 ปี รวมไปถึงแชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิตที่ทำได้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1983 จนกระทั่งการมาถึงของ ‘มิชาเอล ชูมัคเกอร์’ นักแข่งชาวเยอรมันในปี 1996 ที่ตอนนั้นเขามีดีกรีเป็นแชมป์โลกมาแล้ว 2 สมัย กับทีมเบนเนตตัน แต่ในช่วงแรกของชูมัคเกอร์กับทีมยังไม่ดีเท่าไหร่ เพราะรถเฟอร์รารี่ตอนนั้นยังไม่ตอบโจทย์การแข่งขันเท่าทีมอื่นๆ ที่ทำได้ดีกว่า บวกกับฟอร์มที่ยังไม่เข้าที่เข้าทางของเจ้าตัวด้วย  

จนในปี 1999 ทีมม้าลำพองก็ทำได้สำเร็จ เมื่อสามารถกลับมาคว้าแชมป์โลกผู้ผลิตได้ในรอบ 16 ปี และหลังจากนั้นแค่ปีเดียวจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ กับ เฟอร์รารี่ ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อชูมัคเกอร์โชว์ฟอร์มเข้าขั้นโหด ด้วยการกวาดชัยชนะไปถึง 9 เรซ จากทั้งหมด 17 เรซ คว้าแชมป์โลกนักขับให้ทีมด้วยคะแนน 108 แต้ม ทิ้งห่างอันดับสองอย่าง มิก้า ฮัคคิเนน นักขับชาวฟินแลนด์ของแมคลาเรนไปถึง 21 คะแนน และยังช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ผู้ผลิตได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน 

หลังจากนั้นก็คือความไร้เทียมทานที่ไม่มีใครมาต่อกรได้ของทีมสคูเดอเรีย เฟอร์รารี่ โดยชูมัคเกอร์คว้าแชมป์โลกต่อในปีถัดมาด้วยการจบอันดับหนึ่งไป 9 เรซเหมือนเดิม แต่คราวนี้เขาเป็นแชมป์แบบที่ยังเหลือการแข่งขันอีกถึง 4 สนาม แล้วยิ่งโหดขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2002 เพราะทีมสามารถเอาชนะการแข่งขันไปได้ถึง 15 เรซ จากทั้งหมด 17 เรซ ในจำนวนนั้นเป็นผลงานของชูมัคเกอร์ไปแล้ว 11 เรซ ต่อเนื่องด้วยการคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 6 และ สมัยที่ 7 ที่เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ผู้เป็นแชมป์โลกมากที่สุดของการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ซึ่งในสมัยที่ 7 เขาชนะไปทั้งหมด 13 จาก 18 เรซ และคว้าชัยได้ถึง 12 เรซ จาก 13 เรซแรก 

สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่ รักษาผลงานที่ยอดเยี่ยมมาเรื่อยๆ แม้พวกเขาจะพลาดในอีก 2 ปีถัดมาอย่างฤดูกาล 2005 และ 2006 ที่ตัวรถมีปัญหาบ่อย บวกกับประสิทธิภาพที่ย่ำแย่ของยางบริดจ์สโตน แต่ในปี 2007 หลังจากที่มิชาเอล ชูมัคเกอร์ อำลาทีมหลังจบฤดูกาล 2006 พวกเขาก็ได้ คิมี่ ไรโคเน่น นักแข่งฉายา ‘ไอซ์แมน’ ชาวฟินแลนด์ ย้ายเข้ามาแทน และตอบแทนด้วยผลงานสุดยอดเยี่ยมด้วยการเป็นแชมป์โลกนักแข่งด้วยคะแนน 110 คะแนน เฉือนอันดับ 2 อย่าง ลูอิส แฮมิลตัน ไปแค่แต้มเดียวเท่านั้น ในขณะที่ประเภททีมผู้ผลิตก็คว้าแชมป์ได้ในปีเดียวกันต่อด้วยปี 2008 อีกสมัย  

ช่วงเวลาของการหลงทาง ยุคโรยราที่ไม่รู้จะกลับมาได้เมื่อไหร่

Scuderia-Ferrari-F1-team-story-SPACEBAR-Photo04.jpg

ใครที่ติดตามฟอร์มูล่าวันอยู่แล้ว หรือรู้จักแบบผิวเผินก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่ คือทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการกีฬานี้ แชมป์โลกประเภทนักแข่ง 15 สมัย กับ แชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิต 16 สมัย คือตัวเลขที่การันตีความยิ่งใหญ่นี้ได้เป็นอย่างดี แต่นับตั้งแต่ที่ คิมี่ ไรโคเน่น คว้าแชมป์ได้เมื่อปี 2007 และทีมคว้าแชมป์ผู้ผลิตได้ในปี 2008 ทีมม้าลำพองก็ไม่เคยหาความสำเร็จแบบนั้นเจออีกเลย ทำได้อย่างดีที่สุดก็ใกล้เคียงจาก เฟอร์นันโด อลอนโซ่ ในปี 2010 และ 2013 ที่ได้รองแชมป์ และ เซบาสเตียน เวทเทล ที่ได้รองแชมป์เหมือนกันในปี 2017 และ 2018 

หลังจากนั้นสองปีผลงานพวกเขาก็ดิ่งลงเหวในปี 2020 เมื่อหล่นไปจบอันดับที่ 6 ในประเภททีมผู้ผลิต ก่อนที่ในปีต่อมาเฟอร์รารี่จะเริ่มใหม่หลายๆ อย่าง ตั้งแต่การที่ ชาร์ลส เลอแคลร์ และ คาร์ลอส ไซน์ซ กลายเป็นคู่นักแข่งที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งการอยู่ด้วยกันของทั้งคู่ก็ดูเหมือนจะเป็นการจับคู่ที่ดี เพราะในปีแรกของคาร์ลอสเขาจบอันดับ 5 ในตารางนักขับ ขึ้นโพเดียมไปทั้งหมด 3 ครั้ง ในขณะที่ชาร์ลสขึ้นโพเดียมไป 1 ครั้ง จบอันดับที่ 7 ส่วนประเภททีมผู้ผลิตก็ขยับขึ้นมาจบอันดับ 3

Scuderia-Ferrari-F1-team-story-SPACEBAR-Photo05.jpg
Scuderia-Ferrari-F1-team-story-SPACEBAR-Photo06.jpg

ส่วนในฤดูกาลที่แล้วถือว่าเป็นการกลับมาใกล้ความสำเร็จที่สุดครั้งหนึ่งของทีม เมื่อ ชาร์ลส เลอแคลร์ อัพเกรดฝีมือตัวเองขึ้นมาได้ดีมากๆ แม้จะสู้แชมป์โลกอย่าง มักซ์ เวอร์สแตพเพน ไม่ไหว แต่เขาก็จบด้วยตำแหน่งรองแชมป์ เก็บไปได้ 308 คะแนน คว้าแชมป์ได้ 3 สนาม ขึ้นไปยืนบนโพเดียมได้ทั้งหมด 11 สนาม ส่วนเพื่อนร่วมทีมอย่างคาร์ลอสก็จบอันดับที่ 5 ทำให้ประเภททีมผู้ผลิตสามารถจบรองแชมป์ได้สำเร็จ  

ในขณะที่ซีซันปัจจุบัน พวกเขาผลงานดร็อปลงมาพอสมควร จากเหตุผลเดิมๆ ในช่วง 2-3 ปีหลัง ซึ่งแฟนๆ ม้าลำพองต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าทำไมทีมถึง ‘มึน’ เหลือเกิน จากการวางแผนของทีมทั้งก่อนแข่งและระหว่างแข่ง ที่มักจะสั่งอะไรแปลกๆ อย่างเช่น การเรียกนักแข่งเข้าพิทพร้อมกัน 2 คน จนทำให้เสียเวลาต้องมาจอดรออีกคัน โดนคนอื่นแซงไปดื้อๆ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่แค่แฟนๆ ที่บ่น เพราะนักแข่งเองก็บ่นเหมือนกันว่าบางทีพวกเขาก็ไม่เข้าใจแผนของทีมในบางครั้งเหมือนกัน สุดท้ายก็คงต้องมารอดูกันว่า สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่ จะแก้ไขปัญานี้ได้เมื่อไหร่ เพราะในเรื่องศักยภาพของนักแข่งและรถ พวกเขามีแล้วก็พร้อมพัฒนาอยู่แล้ว หากว่าทำได้เมื่อไหร่ เราคงได้เห็น ‘ม้าลำพอง’ ตัวนี้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งอย่างแน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์