7 วิธีทำใจ เวลาทีมกีฬาในดวงใจปราชัยแบบหมดสภาพ

7 มีนาคม 2566 - 09:09

when-Your-Favorite-Sports-Team-Loses-SPACEBAR-Thumbnail
  • หากคุณเป็นคอกีฬาเข้าเส้น ย่อมเข้าใจดีว่าเวลาทีมรักพ่ายแพ้ มันสร้างความรู้สึกเศร้าหมองชนิดที่ว่าอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้

  • และยิ่งถ้าการพ่ายแพ้ครั้งนั้นเป็นการพ่ายแพ้แบบหมดสภาพ แถมเสริมด้วยการพ่ายแพ้ให้กับทีมคู่อริตลอดกาลโดยตรง ความรู้สึกเหล่านี้มักจะทวีขึ้นนับร้อยนับพันเท่าเลยทีเดียว

1.ตัดขาดจากโลกภายนอก 

วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะลืมใครซักคน คือไม่พบ ไม่เจอ ไม่นึกถึง เหตุการณ์แย่ๆ ที่เกิดกับทีมรักของคุณก็เช่นกัน เลิกติดตามข่าวสารกีฬาซักพัก งดเข้าโซเชียล เอาเวลาไปจดจ่อกับเรื่องอื่นๆ รอบตัว ให้เวลาค่อยๆ เยียวยาความเศร้าหมอง ก็เป็นอีกทางเลือกที่อาจจะดูง่ายแต่รับรองว่าได้ผลจริง แต่ถ้าหากคุณเป็นคนเพื่อนเยอะ มีเหตุการณ์ให้ต้องเข้าสังคม หรือเป็นคนที่ฝีปากกล้าเวลาทีมตัวเองชนะ วิธีนี้ก็คงจะยากหน่อย เพราะแม้คุณจะพยายามตัดขาดเท่าไร ก็ต้องมีเพื่อนๆ แฟนบอลคู่อริที่หวังดี (ประสงค์ร้าย) คอยอัพเดทข่าวสารให้คุณตลอดเวลาเป็นแน่ ดังนั้นคุณอาจจะต้องข้ามไปวิธีต่อไป  


2.สร้างกลไกป้องกันตัวเอง 

การล้อเลียน เยาะเย้ยถากถาง เป็นประสบการณ์อันเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้เฉพาะเกมกีฬาเท่านั้น และมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นวิธีรับมือก็คือคุณต้องพยายามเพิกเฉยสิ่งเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด หากคนที่เข้ามาล้อเป็นเพื่อนฝูง อาจจะอ้างว่าไม่ได้ดู แกล้งไม่ได้ยิน หรือตีซีเรียสนั่งเครียดวิเคราะห์เกมการแข่งขันที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ก็จะทำให้คนที่เข้ามาล้อต้องปรับอารมณ์ มาวิเคราะห์เกมจริงจังไปกับคุณเลยทีเดียว  


3.ระบายอารมณ์ 

วิธีนี้แนะนำให้คุณกล้าหาญที่จะทำมันออกมา หากเข้าไปเชียร์ในสนาม การแสดงอารมณ์ออกมาผ่านการตะโกนเชียร์ หรือพ่นสิ่งที่คับข้องใจออกมาดังๆ เป็นที่สิ่งที่ทำได้เป็นปกติอยู่แล้วและถือเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งในสนามเลยก็ว่าได้ (แต่ก็อาจจะต้องยกเว้นบางชนิดกีฬา) ซึ่งถ้าหากคุณเชียร์อยู่บ้านก็ระบายลงสื่อโซเชียลตัวเอง หรืออาจจะปลดปล่อยด้วยการเล่นเกมฟุตบอลแล้วบังคับผลการแข่งขันให้เป็นดั่งใจคุณ เป็นอีกทางเลือกที่ลดความเซ็งได้ไม่เลว


4.หาเพื่อนร่วมขบวนการ 

วิธีก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวดอีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในภาพยนตร์ฮอลลีวูดส่วนใหญ่ คือฉากการเข้ากลุ่มบำบัดที่ล้อมวงตั้งเก้าอี้และให้ผู้ที่มีความทุกข์จากปัญหาคล้ายๆ กันผลัดมาระบายเรื่องของตัวเอง ดังนั้นการหาเพื่อนร่วมชะตากรรมที่เชียร์ทีมเดียวกัน มานั่งพูดคุยระบายความรู้สึกขัดข้องหมองใจ ผ่านความเศร้าไปด้วยกัน ก็ดีกว่าที่คุณจะต้องเผชิญความยากลำบากครั้งนี้ไปเพียงลำพัง


5.เชิดหน้าท้าชน 

วิธีนี้คือวิธีที่คุณอาจจะต้องใช้ความบ้าบิ่นและมั่นใจตัวเองสูงซักหน่อย คือการรวบรวมข้อมูลที่คุณจะขุดออกมาโจมตีทีมฝั่งตรงข้ามได้ หากใครมาล้อเลียนคุณ ก็สวนด้วยข้อมูลที่เตรียมมาไปเลยทันที อย่าไปยอม และนอกจากค้นคว้าข้อมูลของทีมตรงข้ามแล้วนั้น ระหว่างนั้นคุณก็ดื่มด่ำกับคลิป ภาพ เสียง หรือ ตัวอักษร ที่บันทึกถึงความสำเร็จในอดีตของทีมที่คุณเชียร์ให้จุใจไปพร้อมๆ กันเลย นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูหัวใจแล้ว ยังเอาข้อมูลเหล่านั้นมาโต้ตอบบรรดาแฟนบอลคู่แข่งได้ด้วย ถือว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว


6.ทำความเข้าใจและให้อภัย ‘ทีมรัก’

เขาว่าความสัมพันธ์ระหว่างแฟนกีฬากับทีมที่ตัวเองรัก ในบางมุมนั้นลึกซึ้งกว่าความสัมพันธ์กับคู่รักเสียอีก เรียกได้ว่าเลิกกับแฟนยังง่ายกว่าให้เปลี่ยนทีมเชียร์ ดังนั้นวิธีที่สำคัญหากคุณจะก้าวผ่านความรู้สึกแย่ๆ ไปได้ คือการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเผชิญหน้ากับผลการแข่งขัน ทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นทีมรัก และสนับสนุนทีมต่อไปให้ผ่านช่วงเวลาแย่ๆ นี้ไปให้ได้ คิดซะว่าหากคุณทำได้ ตอนที่ทีมคุณประสบความสำเร็จ ประสบการณ์ที่คุณได้รับจากความเจ็บปวดครั้งนี้ จะส่งผลให้รสชาติของชัยชนะนั้นหอมหวานขึ้นอีกหลายเท่าเลยทีเดียว


7.ปรึกษาจิตแพทย์ 

ถ้าหากลองหลายวิธีแล้วยังสลัดความรู้สึกมัวหมองออกไปไม่ได้ และเริ่มส่งผลระยะยาวต่อเนื่องนานเกินปกติ จนกระทบชีวิตประจำวัน คุณอาจจะต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญ เพราะอารมณ์เศร้าท้อแท้ ที่แม้จะมาจากการเชียร์กีฬา ก็เป็นเรื่องที่คุณไม่ควรปล่อยปะละเลย และต้องหาทางรับมือกับมันอย่างจริงจัง  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์