โฮจิมินห์ซิตี้ เมืองศูนย์กลางทางการค้าของเวียดนาม กำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง

2 ธ.ค. 2565 - 08:40

  • โฮจิมินห์ไม่มีระบบรีไซเคิลขยะและประชากรมากกว่า 10 ล้านคน สร้างขยะวันละกว่า 9,500 ตัน

  • การขยายตัวของเมืองกำลังสร้างปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และที่ฝังกลบขยะของโฮจิมินห์ก็กำลังจะเต็ม

  • เวียดนาม เป็น 1 ใน 5 ประเทศอับดับต้น ๆ ที่สร้างขยะพลาสติกในมหาสมุทร

ho-chi-minh-citys-plastic-habit-leaves-piles-of-waste-SPACEBAR-Thumbnail
โฮจิมินห์ซิตี้ เมืองศูนย์กลางทางการค้าของเวียดนาม กำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมืองนี้ไม่มีระบบรีไซเคิลขยะอย่างเป็นทางการ ทั้งยังมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนที่สร้างขยะในปริมาณวันละกว่า 9,500 ตัน 

การขยายตัวของเมืองกำลังสร้างปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และที่ฝังกลบขยะของโฮจิมินห์ก็กำลังเต็ม ขยะพลาสติกทั่วประเทศเวียดนามถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 27% ต่อปี แม้การแก้ไขกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจะมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน ม.ค. ทำให้ทุกๆ เทศบาลต้องรับผิดชอบในการแยกขยะและรีไซเคิลขยะ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง 

ขณะที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลและสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อทำข้อตกลงในเอกสารกฎหมายว่าด้วยมลพิษขยะ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ก็พบว่าเวียดนาม เป็น 1 ใน 5 ประเทศอับดับต้นๆ ที่สร้างขยะพลาสติกในมหาสมุทร  

การบริหารจัดการขยะพลาสติกของเวียดนามยังไม่เพียงพอ ตอนนี้ชาวบ้านที่อาศัยห่างจากจุดฝังกลบขยะที่ใหญ่ที่สุดของนครโฮจิมินห์ในระยะ 10 กิโลเมตร ยังคงได้กลิ่นขยะส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว 

เจ้าหน้าที่รัฐบาลเสนอให้มีการเผาขยะและแปลงขยะทั้งหมดเป็นพลังงาน ซึ่งดูเหมือนเป็นการแก้ไขปัญหาขยะที่ดีที่สุด และแผนการจัดการนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 2025 ที่ฝังกลบขยะจะถูกปิดและ 80% ของขยะในเมืองจะถูกเผาเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานซึ่งในปี 2019 เขตกู๋จี เป็นเขตที่เหมาะสมในการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะมูลค่า 400 ล้านดอลล์สหรัฐ ถือเป็นหนึ่งในสามของโครงการโรงไฟฟ้าขยะในประเทศ 

ส่วนโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะของเวียดสตาร์สต็อก ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2020 โดยตั้งเป้ามีกำลังเผาขยะอยู่ที่ 4,000 ตันต่อวันให้ได้ภายในปี 2021 และอีกสองบริษัท ได้แก่Tam Sinh Nghia และTasco มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าขยะในปี 2020 เช่นกัน ซึ่งจะมีกำลังเผาขยะอยู่ที่ 6,000 ตันต่อวัน แต่จนถึงตอนนี้ ไม่มีโครงการใดสร้างสำเร็จ 

ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ PDP8 ยังคงรอการสรุป ซึ่งแผนนี้จะระบุสัดส่วนการใช้พลังงานในประเทศ ตั้งแต่ปี 2021-2030 และวางวิสัยทัศน์กว้างไกลไปจนถึงปี 2045 ขณะที่เวียดนามให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 แต่การประชุม COP27 ที่เพิ่งจบลงไปในปีนี้ เวียดนามก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงด้านเงินทุนกับประเทศมหาอำนาจ G7 เพื่อสนับสนุนใช้พลังงานสะอาดในประเทศได้ 

ขณะที่ผลศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุว่าทั่วโลกมีการสร้างขยะพลาสติกรวมกันถึง 350 ล้านตันในปี 2019 แต่มีจำนวนขยะพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ 

ขณะที่ขยะพลาสติกที่เหลือราว 17% หรือราว 61 ล้านตันถูกนำไปทิ้งตามจุดต่างๆ โดยไม่มีการควบคุม หรือไม่ก็ถูกนำไปเผาในที่โล่งแจ้ง หรือปล่อยทิ้งให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยขยะพลาสติกลงในแหล่งน้ำ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ขยะเหล่านี้จะไหลออกสู่ทะเล และใช้เวลาย่อยสลายที่ยาวนานก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ขยะพลาสติกชนิดดังกล่าวเรียกว่า ขยะพลาสติกที่ไม่มีการจัดการที่เหมาะสม หรือ MPW (Mismanaged Plastic Waste) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/EulhphfL53NNXXzU4jB91/a4d1faf5fda1e76ac73b16240b1ca073/info_ho-chi-minh-citys-plastic-habit-leaves-piles-of-waste-02__1_
ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเร่งผลักดันวิธีการจัดการขยะพลาสติกในประเทศของตัวเอง รวมไปถึงสนับสนุนแผนในการจัดการขยะพลาสติกทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างเเข็งขัน ในขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2030 ประเทศไทยจะลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดให้ได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี 

แต่ถึงแม้ว่าโฮจิมินห์ของเวียดนามจะดูน่าท้อแท้ ไร้ทางออกในการบริหารจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังล้นเมือง แต่รายงานสำรวจล่าสุดของ Statista's Global Consumer Survey ก็ช่วยให้พอมองเห็นความหวังเมื่อพบว่า ชาวเยอรมนีวางแผนที่จะใช้ต้นคริสต์มาสจริงๆ มาประดับตกแต่งบ้านในเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงมากถึง 43% เทียบกับการใช้ต้นคริสต์มาสปลอม ที่ทำจากพลาสติกที่มีเพียง 24%   

ต่างจากในสหรัฐฯ ที่มีคนใช้ต้นคริสต์มาสจริงแค่ 24% ส่วนผู้ใช้ต้นไม้พลาสติกมีมากถึง 47% ส่วนในสหราชอาณาจักรก็เหมือนในสหรัฐฯ ที่ผู้คนนิยมใช้ต้นคริสต์มาสจริงแค่ 17% แต่ใช้ต้นคริสต์มาสพลาสติกมากถึง 64%  

รายงานสำรวจชิ้นนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนจำนวน 1,000 คนที่มีอายุระหว่าง 18-89 ปี ในทั้งสามประเทศช่วงเดือน ต.ค.และ พ.ย.ที่ผ่านมา  

ขณะที่ The Climate Change Performance Index ซึ่งจัดทำโดยสามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมคือ Germanwatch,  New Climate Institute และ Climate Action Network เผยแพร่รายงานสำรวจ 59 ประเทศเพื่อดูว่าประเทศใดมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรับมือกับปัญหาโลกร้อนมากที่สุดพบว่า เดนมาร์ก เป็นประเทศที่ดำเนินการเรื่องนี้ดีที่สุด รองลงมาคือ สวีเดน ตามมาด้วย ชิลี  โมร็อกโก และอินเดีย 

รายงานชิ้นนี้ประเมินจาก 59 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจากสถานะของประเทศ แนวโน้มและเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรของประเทศนั้นๆ  พลังงานหมุนเวียน การบริโภคพลังงาน และนโยบายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7kT50bSbyi4gP5cM8eavrs/ffda5f060d877c68f7f377da9e9b5069/info_ho-chi-minh-citys-plastic-habit-leaves-piles-of-waste-01
ภาพรวมรายงานชิ้นนี้อาจจะไม่ใช่ข่าวดีนักสำหรับความพยายามบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจที่ช่วยให้นำมาคิดต่อได้ว่าต้องทำอย่างไรและต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้ปัญหาขยะพลาสติกรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตจนเกินแก้ไข

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์