พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ฟรานซิส พรีโวสต์ ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่องค์ที่ 267 นับเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกจากสหรัฐฯ และทรงได้รับการขนานนามว่า ‘พระสันตะปาปาลีโอที่ 14’
พระสันตะปาปาองค์ใหม่ในวัย 69 ปีจากชิคาโกเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำที่มีประสบการณ์ระดับโลก พระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในฐานะมิชชันนารีในอเมริกาใต้ และดำรงตำแหน่งบิชอปซึ่งเป็นตำแหน่งล่าสุด
SPACEBAR พาไปทำความรู้จักกับพระสันตะปาปาองค์ใหม่แห่งวาติกัน
1.ถูกมองว่าเป็นพระคาร์ดินัลที่ ‘มีความเป็นอเมริกันน้อยที่สุด’ ในบรรดาพระคาร์ดินัลจากสหรัฐฯ
แม้พระสันตะปาปาลีโอที่ 14 จะเกิดที่ชิคาโก แต่พระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในวาติกันและทำงานในเมืองตรูฮิโล ประเทศเปรูเป็นเวลานานถึง 10 ปี และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น ‘บิชอปแห่งชิกลาโย’ เมืองหนึ่งในเปรูตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปี 2023
นอกจากนี้ พระองค์ยังพูดภาษาสเปนและอิตาลีได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเห็นได้จากการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณชนครั้งแรกที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์
2.พระองค์ได้รับการยอมรับจากพระสันตะปาปาฟรานซิส
คริสโตเฟอร์ แลมบ์ ผู้สื่อข่าว CNN ประจำวาติกันเผยว่า “พระสันตะปาปาฟรานซิสผู้ล่วงลับ ‘เคารพ และชื่นชม’ พระองค์ (พระสันตะปาปาลีโอที่ 14) มาก เห็นได้ชัดว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสมองเห็นบางสิ่งบางอย่างในตัวพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมองว่าพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 เป็นผู้นำที่มีความสามารถ”
แลมบ์เคยได้พบกับสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งพระคาร์ดินัล “พระองค์ดูเป็นคนที่มีความรอบคอบ และมีสติสัมปชัญญะมาก โดยรวมแล้วดูเป็นคนเรียบง่าย แล้วก็ถ่อมตัว” แลมป์ เผย
3.ทรงเป็นสมาชิกของคณะเซนต์ออกัสติน
พระสันตะปาปาลีโอที่ 14 เป็นสมาชิกของคณะนักบวชออร์เดอร์ออฟเซนต์ออกัสติน (OSA) ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก และพระองค์เคยเป็นหัวหน้าคณะนี้เป็นเวลามากกว่าทศวรรษ
ในคำกล่าวแรก พระสันตะปาปาลีโอที่ 14 กล่าวว่า พระองค์เป็นบุตรของนักบุญออกัสติน พร้อมทั้งยกคำพูดที่มีชื่อเสียงของนักบุญมาพูดว่า “สำหรับท่าน ข้าพเจ้าเป็นบิชอป แต่กับท่าน ข้าพเจ้าเป็นคริสเตียน” ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ว่าทุกคนในลำดับชั้นของคริสตจักร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ หรือสมาชิกทั่วไป ต่างก็เดินไปพร้อมกัน
4.พระองค์ทรงมีประสบการณ์การเป็น ‘ผู้นำที่แข็งแกร่ง’
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแต่งตั้งให้พรีโวสต์ (พระสันตะปาปาลีโอที่ 14) เป็นหัวหน้าสำนักแต่งตั้งบิชอป ซึ่งมีหน้าที่ประเมินผู้สมัครบิชอปและเสนอการแต่งตั้งใหม่ นอกจากนี้ พระองค์ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพระสันตะปาปาละตินอเมริกาอีกด้วย
“พระองค์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำหลายครั้งตั้งแต่อายุยังน้อย พระองค์เป็นคนที่มีจิตใจสงบ สมดุล เป็นกลาง และชัดเจนในสิ่งที่ควรทำ แต่ก็ไม่ได้ใช้อำนาจมากเกินไปในการพยายามทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น” เอลีส อัลเลน นักวิเคราะห์วาติกันของ CNN กล่าว
5.ทรงมุ่งเน้นงานมิชชันนารี
“ข้าพเจ้ายังถือว่าตัวเองเป็นมิชชันนารี หน้าที่ของข้าพเจ้าเหมือนกับคริสเตียนทุกคน คือเป็นมิชชันนารีที่เผยแพร่พระกิตติคุณทุกที่ที่ไป” พระสันตะปาปาลีโอที่ 14 สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Vatican News หลังจากที่รับตำแหน่งพระสันตะปาปา
พระองค์เคยบอกว่า ช่วงเวลาของพระองค์ในเปรูเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หล่อหลอมตัวพระองค์มากที่สุด “แม้พระองค์จะมาจากตะวันตก แต่พระองค์ก็ใส่ใจต่อความต้องการของคริสตจักรทั่วโลกอย่างลึกซึ้ง และทรงใช้เวลามากกว่าครึ่งชีวิตการทำงานในคริสตจักรในต่างประเทศในฐานะมิชชันนารีที่เปรู” อัลเลน กล่าว
6.ทรงเป็นพลเมืองเปรูด้วย
นอกจากพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 จะถือสัญชาติอเมริกันแล้ว พระองค์ยังถือสัญชาติเปรูด้วย ซึ่งพระองค์ได้รับสัญชาติเปรูในเดือนสิงหาคม 2015
แม้แต่ประธานาธิบดีดิน่า โบลัวร์เต้ ของเปรูก็ยังบอกว่าการเลือกพระสันตะปาปาเป็น “ช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับเปรูและโลก”
7.พระนามของพระสันตะปาปาสะท้อนถึงความมุ่งมั่นต่อ ‘คนยากจน’
พระสันตะปาปาองค์สุดท้ายที่ใช้พระนามว่า ‘ลีโอ’ คือ ‘พระสันตะปาปาลีโอที่ 13’ ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่อยู่เคียงข้างคนยากจนและยืนหยัดเพื่อคนงาน
สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ซึ่งดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาตั้งแต่ 1878-1903 ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิทธิแรงงานและหลักคำสอนทางสังคมของนิกายโรมันคาธอลิก ดังนั้น การที่พระสันตะปาปาองค์ใหม่เลือกใช้พระนามว่า ‘ลีโอ’ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการสนับสนุนคนยากจนและแรงงาน
8.ถูกมองว่าเป็นผู้รวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เป็นกลาง
ในหมู่มวลพระคาร์ดินัล ใครๆ ก็มองว่าพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 มีแนวทางคริสตจักรสอดคล้องกับพระสันตะปาปาฟรานซิส พระองค์น่าจะมีท่าทีที่ก้าวหน้ามากขึ้นในประเด็นทางสังคม เช่น การย้ายถิ่นฐานและความยากจน แต่ในเรื่องหลักคำสอนทางศีลธรรมของคริสตจักรก็มีแนวโน้มไปทางสายกลางมากขึ้น
การได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 2 ใน 3 จากคณะพระคาร์ดินัลแสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้แต่ในกลุ่มสมาชิกสายกลาง หรืออนุรักษนิยมก็ตาม
9.พระองค์เคยเรียนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิลลาโนวา
พระสันตะปาปาลีโอที่ 14 สำเร็จปริญญาตรีคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิลลาโนวาในรัฐเพนซิลเวเนีย และได้รับประกาศนียบัตรด้านเทววิทยาจากสหภาพเทววิทยาคาทอลิกแห่งชิคาโก
ในเวลาต่อมาถูกส่งไปศึกษากฎหมายศาสนาในกรุงโรม และในช่วงหลังของชีวิตการทำงาน พระองค์ก็ทรงสอนกฎหมายศาสนาในโรงเรียนเซมินารี (สถาบันการศึกษาฝึกบุรุษเพื่อเตรียมบวชเป็นบาทหลวง) ที่เมืองตรูฮิโล ประเทศเปรู
10.เป็นแฟนเทนนิสตัวยง
“ข้าพเจ้าถือว่าตัวเองเป็นนักเทนนิสสมัครเล่น ตั้งแต่จากเปรูมา ข้าพเจ้าก็มีโอกาสฝึกซ้อมน้อยมาก จึงตั้งตารอที่จะได้กลับไปเล่นอีกครั้ง” พระสันตะปาปาลีโอที่ 14 กล่าว
พระองค์ยังบอกอีกว่า ในเวลาว่าง พระองค์ชอบอ่านหนังสือ เดินเล่น และเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ที่หลากหลาย
(Photo by Alberto PIZZOLI / AFP)