ไนจีเรียหวั่นข้าวเก่า 10 ปีของไทยเล็ดลอดเข้าตลาด

14 พ.ค. 2567 - 07:45

  • คนไนจีเรียหวั่นข้าวเก่า 10 ปีของไทยเล็ดลอดเข้าตลาด

10-year-old-stored-thailand-rice-may-find-its-way-to-nigeria-africa-SPACEBAR-Hero.jpg

สำนักข่าว Business Day ของไนจีเรียรายงานว่า ขณะนี้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในประเทศไนจีเรียในกรณีที่อาจมีความเป็นไปได้ว่าข้าวเก่าที่เก็บไว้ 10 ปีของไทยจะมาลงเอยอยู่ที่ตลาดไนจีเรียและแอฟริกา หลังรัฐบาลไทยประกาศจะขายข้าวดังกล่าว 

ทางการไทยมีแผนเปิดประมูลข้าว 150,000 กระสอบที่ถูกเก็บไว้ในโกดังมานาน 10 ปี โดยคาดว่าจะขายได้ราว 200-400 ล้านบาท ซึ่ง Business Day ระบุว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งคนไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหาร 

หลังรัฐบาลไทยประกาศแผนขายข้าว ชาวไนจีเรียพากันแสดงความกังวลในโซเชียลมีเดียถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนไนจีเรียหากข้าวของไทยเข้าสู่ตลาดไนจีเรียและแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารและกฎระเบียบอย่างจริงจัง 

เจ้าของบัญชี @NwaOnyekuzi ทวีตตั้งคำถามใน X ว่า “ข้าว 10 ปี สารอาหารยังอยู่มั้ยเนี่ย” อีกรายหนึ่ง @Kdenkss บอกว่า “เป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก ฉันมั่นใจว่าข้าวพวกนี้สุดท้ายจะมาลงเอยที่ไนจีเรีย” เจ้าของบัญชี @labeakai บอกว่า “แอฟริกาคือถังขยะอีกตามเคย”

ประเทศแถบแอฟริกาเป็นเป้าหมายปลายทางหลักของข้าวไทย และมีปริมาณการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศที่นำเข้าข้าวไทยมากที่สุดในแอฟริกาในปี 2023 ได้แก่ แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน โมแซมบิก โกตดิวัวร์ ซึ่งนำเข้ารวมกันทั้งหมด 2.48 ล้านตัน 

ขณะที่ฤดูกาล 2023-2024 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวไปทั่วโลกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งอยู่ที่ราว 8.2 ล้านตัน 

ขณะที่ไนจีเรีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่นำเข้าข้าวไทยมากที่สุด เนื่องจากติดนโยบายจำกัดการใช้เงินตราต่างประเทศในการนำเข้าข้าวเพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ แต่ข้าวไทยที่นำเข้าโดยเบนินและโตโกสุดท้ายจะเข้ามาในตลาดของไนจีเรียผ่านการลักลอบเข้าไปตามแนวชายแดน 

เจมส์ มาร์ช ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารเผยว่า ข้าวที่เก็บไว้ 10 ปีไม่มีสารอาหารหลงเหลืออยู่แล้ว นอกจากนี้ยังอาจมีเชื้อราและสารเคมีที่เป็นอันตรายตกค้างอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าระหว่างที่เก็บไว้ในโกดัง 10 ปีนั้นใช้สารเคมีอะไรบ้าง 

ไม่มีสารอาหารหลงเหลืออยู่ในข้าวที่ถูกเก็บมา 10 ปี เมล็ดข้าวเก็บไว้ได้นานสุดไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น โชคร้ายที่สุดท้ายมันจะมาลงเอยที่ไนจีเรียเพราะชายแดนของเรามีช่องโหว่ รัฐบาลไนจีเรียต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ข้าวเหล่านี้เข้ามาในประเทศหลังถูกประมูลแล้ว ข้าวมีหมายเลขกำกับซึ่งใช้ติดตามได้อยู่แล้ว” มาร์ชกล่าว  

สิทธุ อคินเยมิ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารของมหาวิทยาลัยเกษตรของรัฐบาลกลางเผยว่า ความปลอดภัยของอาหารมีปัจจัยกำหนด 2 ประการ ได้แก่ วิธีการจัดการ และชนิดของสารเคมีที่ใช้ในการถนอมอาหาร และว่า เมล็ดข้าวสามารถเก็บไว้ได้นาน และผู้คนก็มักจะระมัดระวังกับผลิตภัณฑ์อาหารที่เก็บไว้นานๆ “ข้าวก็เก่าได้ และเมื่อมันเก่า มันก็จะไม่ใช่ของดีอีกต่อไป”

Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์