ร้อนยังกับอยู่ในนรก! เปิด 7 สถานที่ที่ ‘ร้อนที่สุด’ ในโลก

12 เมษายน 2567 - 00:00

7-hottest-place-on-earth-SPACEBAR-Hero.jpg
  • 7 สถานที่ที่ใครๆ ก็บอกว่า ‘ร้อนๆ’ ไปเลยร้อนที่สุดในโลก มีที่ไหนบ้าง?

  • ประเทศเมืองร้อนส่วนใหญ่อยู่แถบทวีปแอฟริกา เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและมีสภาพอากาศแห้งแล้ง

“ร้อนจนจะตาย!” มีอยู่จริง และ “ร้อนยังกับอยู่ในนรก!” ก็มีอยู่จริงเช่นกัน 

แต่รู้ไหมว่ามันจะไม่หยุดแค่นี้หรอก มันจะร้อนขึ้นกว่าเดิมมาก ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อันเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างน่ากังวล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño / ฝั่งเอเชียและออสเตรเลียแล้งจัด แต่อเมริกาใต้ฝนตกหนัก) อย่างเต็มรูปแบบ และนั่นแหละที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นจนต้องร้องขอชีวิต 

ทว่าดินแดนที่ถูกกล่าวขานร่ำลือว่าเป็น ‘7 สถานที่ที่ร้อนที่สุดในโลก’ ชนิดที่แบบเลี่ยงได้เลี่ยง แต่ถ้าใครที่คิดว่าทนร้อนได้อยากจะลองไปสัมผัสสักครั้งในชีวิตก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ ‘ร้อนๆ’ ไปอีกแบบ  

1. หุบเขามรณะ, รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ

7-hottest-place-on-earth-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘หุบเขามรณะ’ (Death Valley) แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ดินแดนทะเลทรายทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น ‘สถานที่ที่โดดเดี่ยวที่สุด ร้อนที่สุด รุนแรงถึงชีวิตที่สุด อันตรายที่สุดในสหรัฐฯ และเป็นหุบเขาแห่งความน่าสะพรึงกลัว’ ได้รับการตั้งชื่อโดยผู้บุกเบิกที่โชคดีหลังรอดชีวิตจากภูมิประเทศที่ไม่เป็นมิตรในศตวรรษที่ 19 และคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากจากโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมร้อน (heatstroke) และภาวะขาดน้ำ 

ดินแดนแห่งนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของ ‘ความสุดขั้ว’ ในฤดูหนาว ยอดเขาที่สูงตระหง่านจะปกคลุมไปด้วยหิมะ ขณะที่ในฤดูร้อน ที่นี่ก็จะกลายเป็น ‘สถานที่ที่ร้อนที่สุดในโลก’ ไปเลยที่เดียวล่ะ 

บริเวณที่บันทึกสถิติอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดเรียกว่า ‘เฟอร์เนซ ครีก’ (Furnace Creek) จุดต่ำที่สุดของสหรัฐฯ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดจะสูงถึง 47 องศาฯ ในฤดูร้อน ในปี 1913 วัดได้ 56.7 องศาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา นอกจากนี้ในปี 2020 ยังวัดได้ถึง 54.4 องศาฯ และล่าสุดกรกฎาคม 2023 วัดในเวลาเที่ยงคืนที่ทะเลสาบเกลือ (Badwater Basin) ได้ 48.9 องศาฯ 

แม้ว่าดินแดนแห่งนี้จะเป็นสถานที่ที่แห้งแล้งที่สุดในสหรัฐฯ แต่การสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี 2010 กลับพบว่ายังมีผู้คน 24 คนอาศัยอยู่ที่นั่น 

2. เมืองเคบิลี, ตูนิเซีย

7-hottest-place-on-earth-SPACEBAR-Photo02.jpg

‘เคบิลี’ (Kebili) เป็นเมืองทางตอนใต้ของตูนิเซีย และเป็นหนึ่งในโอเอซิส (แหล่งน้ำกลางทะเลทราย) ที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกาเหนือ ในฤดูร้อนช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม อากาศจะร้อนอบอ้าว และแห้งแล้ง โดยอุณหภูมิช่วงกลางเดือนกรกฎาคมจะสูงถึงประมาณ 40.9 องศาฯ เป็นประจำ อีกทั้งอุณหภูมิแทบจะไม่ลดลงต่ำกว่า 25.5 องศาฯ เลยในตอนกลางคืน ขณะที่กรกฎาคม 2005 วัดได้ 48.5 องศาฯ ส่วนในฤดูหนาวจะหนาวแห้ง 

แต่โชคดีที่ประชากร 156,000 คนในเมืองนี้ ยังคงมีต้นปาล์มมากมายที่พอจะให้ร่มเงาอยู่บ้าง 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ที่นี่เคยมีอุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในแอฟริกาซึ่งบันทึกไว้ในปี 1931 ที่อุณหภูมิ 55 องศาฯ  

3. สถานีตรวจอากาศมิทริบาห์, คูเวต

7-hottest-place-on-earth-SPACEBAR-Photo03.jpg

‘มิทริบาห์’ (Mitribah) สถานีตรวจอากาศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของคูเวต และเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดที่เคยบันทึกไว้ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่งวัดได้สูงถึง 53.9 องศาฯ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2016 อีกทั้งยังเป็นอุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ในเอเชียด้วย 

สำหรับอุณหภูมิในคูเวตช่วงหน้าร้อนในเดือนกรกฎาคมมักจะอยู่ที่ 40 องศาฯ เป็นประจำ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน สื่อท้องถิ่นของประเทศรายงานว่ามีการบันทึกอุณหภูมิที่ 53 องศาฯ ในเมืองอัล ญาห์รา ซึ่งนั่นทำให้ที่นี่กลายเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ที่ร้อนที่สุดในโลก 

4. เมืองทาร์เบ็ท, ปากีสถาน

7-hottest-place-on-earth-SPACEBAR-Photo04.jpg

‘ทาร์เบ็ท’ (Turbat) เมืองทางตอนใต้ของแคว้นบาโลชิสถาน (Balochistan) ประเทศปากีสถาน ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ร้อนที่สุดในโลกหลังทำอุณหภูมิสูงถึง 53.7 องศาฯ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2017 ทั้งนี้พบว่า ฤดูร้อนมีอากาศอบอ้าวและแห้งแล้งตลอดทั้งปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยโดยทั่วไปในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 42 องศาฯ  

5. ดาลลอล, เอธิโอเปีย

7-hottest-place-on-earth-SPACEBAR-Photo05.jpg

‘ดาลลอล’ (Dallol) เป็นภูมิประเทศเขตน้ำพุร้อนกำมะถันสีเหลืองเขียวที่ประกอบด้วยเกลือ แก๊สไกเซอร์ และน้ำพุที่เป็นกรด อยู่ทางตอนเหนือของเอธิโอเปียและอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความร้อนแรงมากที่สุดในโลกและได้รับฉายาว่า ‘ดินแดนที่ฝนไม่เคยตก’ 

อุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละวันจะอยู่ที่ 34.4 องศาฯ เป็นประจำ ในขณะที่อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 41.2 องศาฯ ส่วนเดือนที่ร้อนที่สุดในช่วงมิถุนายนจะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยวัดได้ 46.7 องศาฯ และอุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ได้อยู่ที่ 49 องศาฯ 

ที่นี่ยังถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ห่างไกลที่สุดในโลก แม้มีถนนที่มุ่งไปยังหมู่บ้านฮาเหม็ด เอลา (Hamed Ela) ที่อยู่ใกล้เคียง แต่รูปแบบการเดินทางหลักยังคง ‘ใช้อูฐ’ 

6. เมืองอาซิซิยาห์, ลิเบีย

7-hottest-place-on-earth-SPACEBAR-Photo06.jpg

‘อาซิซิยาห์’(Aziziya) บางครั้งสะกดว่า ‘เอล อาซิซิยาห์’ (El Azizia) เป็นเมืองเล็กๆ ในลิเบีย ห่างจากตริโปลี เมืองหลวงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 40 กิโลเมตร ที่นี่มีภูมิอากาศแบบร้อนกึ่งแห้งแล้ง และเป็นหนึ่งในเมืองที่ถูกกล่าวขานมานานแล้วว่ามีอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนโลกซึ่งเคยบันทึกไว้ได้ 58 องศาฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 1922 แต่ WMO โต้แย้งบันทึกนี้เนื่องจากผู้บันทึกข้อมูลขาดประสบการณ์ 

อุณหภูมิในช่วงกลางฤดูร้อนมักจะเกิน 48 องศาฯ เป็นประจำ ซึ่งหมายความว่าประชากรประมาณ 24,000 คนจะไม่ค่อยออกมาข้างนอกช่วงกลางวัน แต่จะอยู่ในบ้านมากกว่า 

7. เมืองวาดี ฮาลฟา, ซูดาน

7-hottest-place-on-earth-SPACEBAR-Photo07.jpg

‘วาดี ฮาลฟา’ (Wadi Halfa) เมืองที่แผดเผาบนชายฝั่งทะเลสาบนูเบียในซูดาน แทบไม่มีฝนตกตลอดทั้งปี ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 0.5 มม. เนื่องจากภูมิอากาศแบบทะเลทรายที่ร้อน ในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดจะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 41 องศาฯ ในขณะที่อุณหภูมิที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ได้อยู่ที่ 53 องศาฯ เมื่อเดือนเมษายน 1967

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์