ดีลเรือดำน้ำนิวเคลียร์ออสเตรเลียจะทำจีนกับสหรัฐฯ แตกหักกันไหม

15 มีนาคม 2566 - 08:20

AUKUS-submarines-deal-china-conflict-getting-closer-SPACEBAR-Thumbnail
  • กลุ่ม AUKUS ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เผยรายละเอียดดีลเรือดำน้ำนิวเคลียร์

  • จีนโต้กลับว่าดีลนี้เสี่ยงทำให้เกิดการแข่งกันสะสมอาวุธและขยายอาวุธนิวเคลียร์

วานนี้กลุ่มพันธมิตร AUKUS ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ที่รวมกลุ่มกันเพื่อรับมือความท้าทายการสยายปีกของกองทัพจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย 

โดยออสเตรเลียทุ่มงบประมาณราว 386,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์อย่างน้อย 5 ลำจากสหรัฐฯ และจะร่วมมือกับสหราชาณาจักรและสหรัฐฯ ในการต่อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่อีก 1 ลำ 

แน่นอนว่าการเปิดเผยรายละเอียดนี้สร้างความไม่พอใจให้กับจีนอย่างมาก “กำลังม่งสู่เส้นทางที่อันตราย” “เมินเฉยต่อความกังวลของประชาคมนานาชาติ” หรือแม้แต่ “เสี่ยงทำให้เกิดการแข่งกันสะสมอาวุธและขยายอาวุธนิวเคลียร์” เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการตอบโต้ที่ออกมาจากจีน 

หลังจาก แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว จีนยังไม่เคยใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อว่าการกระทำของตะวันตกเลย จนกระทั่งดีลเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของกลุ่ม AUKUS ถูกเปิดเผย 

จีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกองทัพและกองทัพเรือใหญ่ที่สุดในโลกโอดว่า เริ่มรู้สึกว่าตัวองถูกสหรัฐฯ และพันธมิตรในแปซิฟิกตะวันตก “จับขัง” ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จึงประกาศว่า จีนจะเร่งขยายการใช้จ่ายด้านกลาโหมและกำหนดให้ความมั่นคงของชาติเป็นความกังวลหลักในปีต่อๆ ไป 

สถานการณ์นี้ไม่แปลกเลยที่ นายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัค ของสหราชอาณาจักรจะเอ่ยถึงทศวรรษข้างหน้าที่อันตราย และความจำเป็นในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

แล้วเรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร โลกกำลังขยับเข้าใกล้ความขัดแย้งในแปซิฟิกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และพันธมิตรแล้วใช่ไหม 

บทความของ BBC ระบุว่า “ตะวันตกมองจีนผิด เป็นเวลาหลายปีที่กระทรวงต่างประเทศของประเทศต่างๆ มีข้อสันนิษฐานที่ไร้เดียงสาว่า การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของจีนจะนำไปสู่การเปิดสังคมและเสรีภาพทางการเมืองที่มากขึ้น ขณะที่บริษัทข้ามชาติตะวันตกตั้งบริษัทร่วมทุน และชาวจีนหลายร้อยล้านคนเริ่มมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะผ่อนคลายการควบคุมประชาชน เปิดช่องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย แล้วอยู่ในกฎกติกาของระเบียบโลก” 

แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น 

BBC ระบุว่า “จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก และเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทว่าแทนที่จะมุ่งหน้าสู่ประชาธิปไตยและเปิดสรี ปักกิ่งกลับดำเนินแนวทางที่สร้างความตกใจให้ทั้งรัฐบาลตะวันตกและประเทศพื่อนบ้านของตัวเองอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปินส์” 

ส่วนในด้านการทหารนั้น ใชช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมีความก้าวหน้าอย่างมากทั้งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งเรื่องจำนวน เช่น ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกตงเฟิง ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกิน 5 มัค (เร็วกว่าความเร็วของเสียง 5 เท่า) ทั้งยังติดหัวรบนิวเคลียร์ด้วย  

เช่นเดียวกับขีปนาวุธข้ามทวีปที่จีนขยายอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์เป็น 3 เท่า ในขณะที่สร้างไซโลใหม่อีกหลายแห่งทางตะวันตก 

ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจีนต้องการทำสงคราม  

ดังนั้น แม้ว่าความตึงเครียดจะทวีขึ้นในขณะนี้ และอาจมีสถานการณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นได้อีก ทั้งสองฝ่ายคือ จีนและตะวันตก ต่างก็ทราบดีว่าสงครามในแปซิฟิกจะเป็นหายนะสำหรับทุกคน และแม้ว่าจะมีการพูดตอบโต้กันด้วยความไม่พอใจ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีใครต้องการทำสงคราม 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์