วิจัยใหม่เผยฝุ่นจิ๋ว ‘PM 2.5’ เพิ่มความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม!

11 เมษายน 2566 - 07:26

Analysis-says-Air-pollution-may-raise-risk-of-dementia-SPACEBAR-Thumbnail
  • ผู้คนมากกว่า 57 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะสมองเสื่อม ซึ่งคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 153 ล้านคนภายในปี 2050

  • การศึกษาล่าสุดพบว่าอันตรายของมลพิษทางอากาศได้เพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ ปัญหาระบบไหลเวียนโลหิต การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เป็นต้น

  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “การปนเปื้อนนี้ทำให้อากาศสกปรกและทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

‘PM 2.5’ ก็ทำให้สมองเสื่อมได้

งานวิจัยล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ด้านสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า การหายใจเอาสารมลพิษทางอากาศขนาดเล็กมากเข้าไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ 

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าการสูดดมเอาอนุภาคขนาดจิ๋วเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า ‘PM 2.5’ ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีความกว้างน้อยกว่า 2.5 ไมครอน อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ (เมื่อเทียบกันแล้ว ความกว้างของเส้นผมมนุษย์เส้นเดียวคือ 50-100 ไมครอน) 

มาร์ค ไวส์สคอปฟ์ และ เซซิล เค รวมถึง ฟิลิป ดรินเคอร์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและสรีรวิทยาสิ่งแวดล้อมแห่ง Harvard T.H. สถาบันเอกชนด้านสาธารณสุข กล่าวว่า “ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ถ้าเราลดการสัมผัสกับอนุภาคเหล่านี้ได้ เราก็สามารถลดภาระของภาวะสมองเสื่อมได้” 

ผู้คนมากกว่า 57 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะสมองเสื่อม ซึ่งคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 153 ล้านคนภายในปี 2050 

การวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) ซึ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์อังกฤษ (BMJ) เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นได้ตรวจสอบการศึกษาเชิงสังเกต 16 เคส และพบหลักฐานที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง PM 2.5 กับภาวะสมองเสื่อม  

การศึกษาวัดการสัมผัสสารมลพิษโดยรวมของผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมตั้งแต่ 1-20 ปี แม้ว่า “ไม่น่าเป็นไปได้ที่การได้รับสารที่ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมจริงๆ แล้วนั้นต่ำเพียง 1 ปี แต่นักวิจัยใช้ตัวเลขนั้นแทนเพื่อประเมินให้นานขึ้น” ไวส์สคอปฟ์ กล่าว 

ขณะที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) กำลังพิจารณาที่จะเสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพอากาศเพื่อลดการสัมผัส PM 2.5 ให้อยู่ในระดับระหว่าง 9-10 ไมโครกรัมต่อปี หรือระหว่าง 8-11 ไมโครกรัมต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางหน่วยงานเองก็ได้ขอความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับทั้ง 2 มาตรการนี้ด้วย 

องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้อ้างอิงจากการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า “99% ของประชากรโลกสัมผัสกับระดับ PM 2.5 ซึ่งถือว่าไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งความเข้มข้นต่อปีสูงกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร” 

ยิ่งสัมผัส PM 2.5 เพิ่มขึ้นโอกาสสมองเสื่อมก็เพิ่มขึ้นด้วย 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7LdtCat3GlWytnNmSWqqeV/6b85fc76092b1b6818effd66cd487dd7/Analysis-says-Air-pollution-may-raise-risk-of-dementia-SPACEBAR-Photo01
การศึกษาโดยนักวิจัยจาก Harvard พบว่า ความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 17% สำหรับทุกๆ 2 ไมโครกรัมที่เพิ่มขึ้นต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตรของการสัมผัส PM 2.5 ต่อปี เช่นเดียวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการหายใจเอาไนโตรเจนออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารมลพิษที่มักเกิดจากไอเสียจากการจราจร 

รีเบคกา เอเดลเมเยอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการมีส่วนร่วมทางวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) กล่าวว่า “ยังไม่ชัดเจนว่ามลพิษทางอากาศมีอิทธิพลต่อการพัฒนาของภาวะสมองเสื่อมอย่างไร แต่มีการตั้งสมมติฐานว่าอนุภาคขนาดเล็กมากของสารมลพิษเข้าสู่ร่างกายของเราและสามารถเจาะระบบไหลเวียนโลหิตของเรา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นสมอง” 

ด้านนักวิทยาศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย หรือการสะสมของระดับเบตาอะมีลอยด์ในเลือด สมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักมีระดับเบตาอะมีลอยด์ที่ผิดปกติโดยจับตัวกันเป็นก้อนซึ่งทำลายเซลล์ประสาทและการทำงานของเซลล์ 

“ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างตลอดช่วงชีวิตที่สามารถนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมด้วย” เอเดลเมเยอร์กล่าว 

อย่างไรก็ดี สารปนเปื้อน PM 2.5 มักมาจากสถานที่ก่อสร้าง ถนนที่ไม่ได้ลาดยาง ปล่องควัน และไฟ หรือปฏิกิริยาทางเคมีซับซ้อนจากสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ และรถบรรทุก 

“สำหรับคนส่วนใหญ่ การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมเป็นสิ่งที่พวกเขากลัว เพราะนอกจากการใช้ชีวิตให้ดีที่สุดแล้ว เราไม่สามารถทำอะไรมากเพื่อแก้ไขมันได้ ดังนั้นงานใดก็ตามที่ช่วยให้เราสามารถระบุปัจจัยเสี่ยงและป้องกันไม่ให้ผู้คนเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจ” คริสตินา พราเธอร์ ผู้อำนวยการคลินิกของสถาบันสมองแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าว  

ในรายงาน ‘State of the Air’ ประจำปี 2022 ขององค์กรด้านสุขภาพ American Lung Association พบว่า ชาวอเมริกันมากกว่า 4 ใน 10 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศไม่ดี

ปัญหาสุขภาพมากมายอาจเชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศ

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4dhAD2bnCJU54AOb1LXZ1O/eee2d3a3056a5d19936faec7b1541b9c/Analysis-says-Air-pollution-may-raise-risk-of-dementia-SPACEBAR-Photo02
การศึกษาล่าสุดพบว่าอันตรายของมลพิษทางอากาศได้เพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น โดยการศึกษาหลายชิ้น รวมทั้งรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 จากสถาบัน Health Effects ได้เชื่อมโยงมลพิษทางอากาศกับปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ ปัญหาระบบไหลเวียนโลหิต การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด โรคหอบหืดโดยเฉพาะในเด็ก โรคเบาหวาน ความบกพร่องในการเกิดและการตายก่อนกำหนด 

นอกจากนี้ การวิจัยยังเชื่อมโยงการสัมผัสมลพิษทางอากาศกับผลกระทบทางสังคมด้วย เช่น การใช้สารเสพติด การทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย และอาชญากรรม 

ในด้านของผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวว่า “การปนเปื้อนนี้ทำให้อากาศสกปรกและทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์