ไข้หวัดนก ‘H5N1’ มีโอกาสติดจากคนสู่คนได้มากน้อยแค่ไหน หลังพบเด็กกัมพูชาเสียชีวิต

27 กุมภาพันธ์ 2566 - 10:18

Avian-influenza-bird-flu-virus-infection-in-human-SPACEBAR-Thumbnail
  • โรคไข้หวัดนกที่ดูเหมือนจะไกลแต่ไม่ไกลอีกต่อไป เมื่อมันระบาดใหญ่จนติดต่อข้ามสายพันธุ์และคร่าชีวิตสัตว์ไปหลายล้านตัว

  • ล่าสุดกับสายพันธุ์ ‘H5N1’ ที่ติดต่อสู่คนและทำให้ตายได้ กับข้อกังวลในอนาคตที่ว่ามันอาจจะระบาดจากคนสู่คนได้หรือไม่?

จากรายงานข่าวที่มีเด็กหญิงวัย 11 ขวบเสียชีวิตจากไข้หวัดนกในกัมพูชา ซึ่งนับว่าเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกในรอบหลายปี และผลตรวจยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัส ‘ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1)’ 

ขณะนี้กำลังเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา และได้ทำลายประชากรสัตว์ปีกและนกป่าทั่วโลก ทั้งยังมีความกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน 

เมื่อเร็วๆ นี้ หัวหน้าองค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ได้ออกมาเตือนว่าโลกต้องเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่อาจเกิดขึ้นด้วย  

เนื่องจากการแพร่กระจายล่าสุดของสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งเป็นชนิดย่อยของไวรัสไข้หวัดใหญ่จากนกสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีสิงโตทะเลเสียชีวิต 585 ตัวในเปรูจาก H5N1 และเมื่อเดือนตุลาคม 2022 พบการระบาดในฟาร์มมิงค์ที่สเปน ตลอดจนพบไวรัสในสุนัขจิ้งจอกและนากที่อังกฤษอีกด้วย 

การตรวจพบไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งสุนัขป่า นาก มิ้งค์ สิงโตทะเล และหมีกริซลี ทำให้เกิดความกังวลว่ามนุษย์อาจตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น  

นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ยุโรปต้องเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดนกครั้งรุนแรงที่สุด เช่นเดียวกับอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ จนต้องฆ่าสัตว์ปีกหลายสิบล้านตัวทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสาย H5N1 นอกจากนี้ยังมีนกป่าตายอีกนับล้านตัว  
 
และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตเพราะไข้หวัดนกแล้วมากกว่า 450 คน 

สายพันธ์ H5N1 รุนแรงแค่ไหน? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4u9IY6t4TUd4XqNpNHv5HS/25635a1720b8f2286c8bd770b7679016/Avian-influenza-bird-flu-virus-infection-in-human-SPACEBAR-Photo01
Photo: Ernesto BENAVIDES / AFP
ครามรุนแรงของ H5N1 ก็คือ การระบาดข้ามสายพันธุ์ที่ควรจะระบาดแค่ในสัตว์ปีก แต่ตอนนี้กลับพบว่าสายพันธุ์นี้กลับระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและคร่าชีวิตสัตว์เหล่านี้หลายตัวแล้ว จนกระทั่งในเคสล่าสุดที่พบว่ามันระบาดในคนที่เกิดขึ้นในกัมพูชา จึงสร้างความวิตกกังวลให้ WHO และกลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง 

“เชื้อ H5N1 แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในนกป่าและสัตว์ปีกเป็นเวลา 25 ปีแล้ว แต่การแพร่ระบาดไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำเป็นต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด และเราต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสถานะที่เป็นอยู่…ประชาชนไม่ควรสัมผัสหรือเก็บสัตว์ป่าที่ตายหรือป่วย แต่ให้รายงานต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น” เกเบรเยซุส กล่าว 

ในปีที่ผ่านมา (2022) มีเอกสารหนึ่งได้ระบุถึงเคสของไวรัสที่แพร่เชื้อสู่คนในสหรัฐฯ และอีกหนึ่งเคสในจีน โดยรวมแล้ว สายพันธุ์ H5N1 ที่แพร่ระบาดในปัจจุบันนั้นพบผู้ป่วยแล้วเกือบ 10 รายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021  

ตามข้อมูลของ WHO และ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (CDC) ระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในการระบาดชุดปัจจุบันนี้ แม้ว่าการแพร่เชื้อจากคนสู่คนจะเป็นไปได้ แต่ปรากฏการณ์นี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลยนับตั้งแต่โรคนี้เกิดขึ้นในคนในปี 2003 และสายพันธุ์ H5N1 ไม่เคยมีการบันทึกว่ามีการแพร่เชื้อในคนด้วยวิธีที่ยั่งยืนมาก่อน 

หลังจากมีรายงานการเสียชีวิตของเด็กหญิงกัมพูชา WHO ก็ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อตรวจสอบว่าทั้งพ่อและลูกสาวติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัสโดยตรงกับนกที่ติดเชื้อซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด หรือทั้งคู่จะติดเชื้อกันเองหรือไม่? 

ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่ามีการติดเชื้อ H5N1 ในคนเป็นระยะๆ หลายร้อยราย นับตั้งแต่พบไวรัสครั้งแรก และไม่มีหลักฐานว่าไวรัสชนิดนี้ปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้ 

ความรุนแรงของ H5N1 ก็คือ มันเชี่ยวชาญอย่างมากในการแพร่เชื้อในหมู่สัตว์ปีกอย่างนก หรือเป็ด ทันทีที่นกเคลื่อนไหว พวกมันจะนำไวรัสมาด้วยและแพร่เชื้อไปยังนกชนิดอื่นๆ ทั้งยังกระจายเชื้อเป็นห่วงโซ่อาหาร เช่นนกอินทรีอาจได้รับเชื้อจากการกินเป็ดที่ป่วย หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างสุนัขจิ้งจอกก็อาจได้รับเชื้อจากการกินซากนกที่ติดเชื้อก็เป็นได้ 

‘H5N1’ สามารถติดจากคนสู่คนคนได้ไหม? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/59Hv36FNhmLvudOVnYj9lu/cb3a473520a00437bfb908aea62f8ace/Avian-influenza-bird-flu-virus-infection-in-human-SPACEBAR-Photo02
Photo: JALAA MAREY / AFP
เชื้อไวรัสชนิดนี้มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนจากไวรัสในนกเป็นไวรัสของมนุษย์ได้ และดูเหมือนว่าตอนนี้จะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวอีกต่อไปแล้วที่ไวรัส H5N1 จะข้ามไปสู่มนุษย์ หลังจากพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้  

“จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 25 ปีแล้วที่เราพบเชื้อ H5N1 และตลอดเวลาที่ผ่านมา เราเห็นผู้ติดเชื้อหลายร้อยคน แต่เรายังไม่เคยเห็นมันย้ายสายพันธุ์ติดจากมนุษย์สู่มนุษย์” เกเบรเยซุส กล่าว 

อัตราการเสียชีวิตของมนุษย์อยู่ที่ประมาณ 50% แต่เราต้องพิจารณาและตรวจอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะ ที่ผ่านมา เราตรวจหาเฉพาะคนที่ป่วยหนักและไปพบแพทย์เท่านั้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าไวรัสอาจจะแพร่เชื้อในคนจำนวนมากขึ้นที่ไม่ป่วย หรือติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ  

สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้ก็คือ ความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงมากกว่าไข้หวัดตามฤดูกาล เนื่องจากเชื้อสามารถเข้าไปในปอดได้ และแน่นอนว่ามนุษย์มีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้หวัดนกมากขึ้นด้วย ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อในมนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศต่างๆ เช่น จีนและอียิปต์ ซึ่งผู้คนจำนวนมากมักจะเลี้ยงนกและมีตลาดค้าสัตว์ปีกขนาดใหญ่ ซึ่งพบว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก็คือ คนที่เข้าไปสัมผัสกับนกที่มีชีวิตหรือป่วยนั่นเอง 

ทั้งนี้ พบว่า ไวรัสก่อให้เกิดความเสี่ยงมากที่สุดต่อผู้ที่สัมผัสโดยตรงกับนก เช่น ผู้เลี้ยงไก่ แต่เราสามารถควบคุมการระบาดในท้องถิ่นได้ด้วยการคัดสัตว์ที่ติดเชื้อออกจากฟาร์ม แต่ขณะนี้ไวรัสได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากในนก จนผู้เชี่ยวชาญต่างเริ่มพิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องมีมาตรการที่กว้างขึ้น เช่น การฉีดวัคซีนสัตว์ปีก 

อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนไม่เคยถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในสหรัฐฯ หรือยุโรป แต่เจ้าหน้าที่กำลังทบทวนใหม่อีกครั้ง และกำลังทดลองวัคซีนไข้หวัดนก 

“ผมไม่คิดว่าเราควรตื่นตระหนกในตอนนี้ แต่เมื่อเราเห็นชิ้นส่วนต่างๆ ของปริศนามารวมกัน ผมเชื่อว่าเราต้องเตรียมพร้อมอย่างจริงจังสำหรับเหตุฉุกเฉิน” ดร.ชายัน ชารีฟ นักภูมิคุ้มกันวิทยาในสัตว์ปีกแห่ง Ontario Veterinary College โรงเรียนสัตวแพทย์ในแคนาดา กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์