การศึกษาพบ คนที่เป็น ‘สายมังสวิรัติ’ อาจเป็นเพราะยีนในร่างกาย

13 ต.ค. 2566 - 01:00

  • การศึกษาจากสหรัฐฯ พบว่า คนที่กินมังสวิรัติได้ตลอด อาจเป็นเพราะยีนในร่างกายที่ต่างจากคนกินเนื้อสัตว์

Being-a-vegetarian-may-be-in-your-genes-SPACEBAR-Hero.jpg

เทศกาลกินเจ กำลังจะมาถึง หลายคนเตรียมพร้อมจะกินให้ได้ครบ 9 วัน หลังจากก่อนหน้านี้มีทั้งทำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนกินครบ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กินเจหรือมังสวิรัติมาตลอดชีวิต  

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมบางคนสามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก มีการศึกษาล่าสุดพบว่า อาจเป็นเพราะยีนในร่างกายนั่นเอง 

การศึกษานี้ เผยแพร่ในวารสาร PLOS One โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา 

ดร.นาบีล ยาซีน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อายุรเวชศาสตร์ แห่ง Feinberg School of Medicine มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ผู้นำการวิจัยบอกว่า “ณ เวลานี้เราสามารถพูดได้ว่ายีนมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คนเป็น ‘คนกินมังสวิรัติ’ และบางคนอาจมียีนที่เหมาะกับการกินมังสวิรัติ มากกว่าคนอื่น 

นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม หรือเพื่อสุขภาพ ศีลธรรม และเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้คนลด หรือไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จเสมอไป 

เพราะจากข้อมูลพบว่าคนที่เรียกตัวเองว่า ‘คนกินมังสวิรัติ’ จำนวนมาก ยอมรับว่า กินปลา เป็ดไก่ หรือแม้กระทั่งเนื้อแดง นั่นหมายความว่ามีคนจำนวนไม่น้อย ที่ ‘อยาก’ เป็นคนกินมังสวิรัติ แต่ทำไม่ได้ และข้อมูลการศึกษานี้ก็อธิบายได้ว่ายีนอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง” 

ในการศึกษานี้นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลยีนจาก UK Biobank ของคนที่กินมังสวิรัติแบบเคร่งครัด 5,324 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 329,455 คน ที่กินเนื้อสัตว์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดเป็นคนผิวขาว 

นักวิจัยพบยีนที่เกี่ยวข้องกับมังสวิรัติที่ระบุได้ชัดเจน 3 ยีน และอาจเป็นไปได้อีก 31 ยีน ซึ่งในการวิเคราะห์ยีน นักวิจัยพบว่า ‘คนกินมังสวิรัติ’ มียีนที่แตกต่างหลากหลายมากกว่าคนที่ไม่กินมังสวิรัติ  

“นั่นเป็นเพราะแต่ละคนมีกระบวนการจัดการไขมันต่างกัน โดยพบว่าคนกินมังสวิรัติมีหลายยีนที่สามารถเผาผลาญไขมัน ซึ่งพืชและเนื้อสัตว์มีไขมันที่ซับซ้อนแตกต่างกัน นั่นอาจทำให้บางคนตามยีนจำเป็นที่จะต้องได้รับไขมันจากสัตว์ แต่นี่เป็นการสันนิษฐานเบื้องต้น ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป” ดร.ยาซีน กล่าว 

ในอนาคตนักวิจัยก็หวังว่าจะเข้าใจความแตกต่างด้านร่างกายของคนที่กินและไม่กินมังสวิรัติมากขึ้น ซึ่งก็จะสามารถให้คำแนะนำกับแต่ละคนได้ว่าเหมาะที่จะกินแบบไหน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์