การศึกษาญี่ปุ่น พบ ผู้ชายกินคาร์โบไฮเดรตน้อย - ผู้หญิงกินไขมันน้อย เสี่ยงอายุสั้น

9 ต.ค. 2566 - 07:26

  • การศึกษาจากญี่ปุ่น ระบุ การกินคาร์โบไฮเดรต และไขมัน มีผลต่อการมีชีวิตยืนยาว แต่ปริมาณต่างกันในผู้หญิงและผู้ชาย

  • ผู้ชายกินคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป และ ผู้หญิงกินไขมันน้อยเกินไป เสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยทุกโรคก่อนวัยอันควร

Carb-and-fat-consumption-little-amount-increased-risk-of-motality-differed-for-men-and-women-SPACEBAR-Hero.jpg

การศึกษาล่าสุด จากคณะแพทยศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่นพบว่า การกินคาร์โบไฮเดรต และไขมันมากขั้นสุดทำให้คนอายุสั้นได้ แต่ความอันตรายนี้มีความแตกต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย 

การศึกษานี้ เผยแพร่ในวารสาร The Journal of Nutrition พบว่าผู้ชายที่กินคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป เพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากทุกโรค ขณะที่ผู้หญิงที่กินไขมันน้อยเกินไป ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเสียชีวิตจากทุกโรค และจากมะเร็งด้วย 

ผลของการกินคาร์โบไฮเดรตและไขมันต่อชีวิตที่ยืนยาว

สำหรับการกินคาร์โบไฮเดรต นักวิจัยพบว่า ผู้ชายที่กินคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่า 40% ของแคลอรี่ในแต่ละวัน มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเสียชีวิตจากทุกโรค

ตรงกันข้าม สำหรับผู้หญิงที่กินคาร์โบไฮเดรตมากกว่า 65% ของแคลอรี่ เสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากทุกโรคมากขึ้น

ซึ่งยังไม่พบความแตกต่างระหว่างผลกระทบของการกินคาร์โบไฮเดรตแปรรูปต่ำ กับคาร์โบไฮเดรตไม่ผ่านการแปรรูป

ส่วนไขมัน ผู้ชายที่กินไขมันไม่ว่าชนิดไหนก็ตามมากกว่า 35% ของแคลอรี่ มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง และโรคหัวใจและหลอดเลือด

สำหรับผู้ชาย เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพของไขมันที่กินเข้าไป ยังไม่พบความชัดเจนในไขมันอิ่มตัว แต่การกินไขมันไม่อิ่มตัวน้อย มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกโรค และมะเร็ง (ไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์เนื้อแดง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ เนย นม ส่วนไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก อโวคาโด เมล็ดธัญพืชและจากปลาทะเล) 

สำหรับผู้หญิง การกินไขมันมากกว่า โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกโรคและมะเร็ง

การศึกษานี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้ชาย 34,893 คน และผู้หญิง 46,440 คน อายุระหว่าง 35 ถึง 69 ปี ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ผู้ชายเฉลี่ย 23.7 และผู้หญิง 22.2 

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อการศึกษานี้

ในการศึกษานี้ไม่ได้อธิบายว่าเพราะอะไรผลถึงเป็นแบบนี้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ร่วมในงานวิจัย อย่างศาสตราจารย์ Linda Van Horn นักระบาดวิทยา โภชนาการคลินิก บอกว่าในการศึกษานี้อาจเป็นเพราะผู้ชายที่เข้าร่วมวิจัย กินอาหารที่ไม่มีคุณภาพ หรือขาดการดูแลสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

ส่วนผู้หญิง ดูจากค่าดัชนีมวลกาย อาจเป็นเพราะกินน้ำตาลน้อย ดื่มแอลกอฮอล์น้อย เลยทำให้กินไขมันเปอร์เซ็นต์สูงกว่าผู้ชายได้ แต่ต้องระวัง ว่านี้เป็นแค่การคาดเดาเท่านั้น เพราะคำถามเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในงานวิจัย

ด้าน Michelle Routhenstein นักโภชนาการด้านป้องกันโรคหัวใจ บอกว่าการกินคาร์โบไฮเดรตน้อย ขาดใยอาหาร และสารอาหาร เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม วิตามินซีและบี ซึ่งสำคัญสำหรับร่างกาย ถ้าเราขาดสารอาหารที่ปกป้องเราเหล่านี้ ก็สามารถที่จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งบางชนิดได้

เธอยังบอกด้วยว่า สำหรับผู้หญิง จำเป็นที่จะต้องกินไขมันในปริมาณที่แน่นอน เพื่อผลิตฮอร์โมนให้เพียงพอ เช่น เอสโตรเจน ซึ่งป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ผู้เขียนงานวิจัยก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ 

นี่เป็นงานวิจัยจากญี่ปุ่น ดังนั้นอาจไม่สามารถใช้กับคนอเมริกัน หรือฝั่งตะวันตกได้ โดยเฉพาะคนที่น้ำหนักเกิน นักวิชาการมองว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์