การชุมนุมประท้วงของชาวจีนทั่วประเทศเพื่อแสดงความไม่พอใจนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลเริ่มลามไปต่างประเทศ โดยชาวจีนโพ้นทะเลและชาวต่างชาติที่เห็นดีเห็นงามด้วยพากันออกมาคัดค้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่พวกเขามองว่าเป็นนโยบายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ
ผู้ประท้วงประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนออกมาชุมนุมด้านนอกศาลาว่าการนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียเมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) พร้อมตะโกนว่า “จากซิดนีย์ถึงเซี่ยงไฮ้ ประชาธิปไตยไม่มีวันตาย” พร้อมทั้งพูดซ้ำๆ ว่า “เสรีภาพ เสรีภาพเพื่อจีน”
ในจำนวนนี้ มีหลายคนชูป้ายประท้วงเพื่อเรียกร้องให้จีนปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมในหลายเมืองในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หลังจากมีการประท้วงในหลายเมืองเพื่อคัดค้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่มีข้อบังคับเข้มงวด โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์
ที่มาของการประท้วงในหลายเมืองทั่วจีนมาจากเหตุไฟไหม้อพาร์ตเมนต์ในเมืองอูรุมชี ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ที่มีผู้เสียชีวิต 10 ราย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยมีกระแสข่าวว่า ผู้อยู่อาศัยหนีออกจากตึกไม่ได้เพราะประตูถูกล็อกภายใต้มาตรการล็อกดาวน์
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประท้วงรวมตัวที่ด้านนอกสถานทูตจีนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อคืนวันอาทิตย์เพื่อจุดเทียนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุไฟไหม้ที่ซินเจียง และผู้ประท้วงตะโกนเรียกร้องให้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ลาออก เช่นเดียวกับผู้ประท้วงที่ชุมนุมในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อคืนวันเสาร์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมในเซี่ยงไฮ้ทันที
ขณะที่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้ประท้วงประมาณ 100 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในวัยหนุ่มสาวและเป็นนักศึกษาต่างชาติ รวมตัวประท้วงใกล้ทางออกที่สถานีรถไฟชินจูกุ เมื่อวันอาทิตย์ โดยบางคนตะโกนเรียกร้องให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และพรรคคอมมิวนิสต์ ก้าวลงจากอำนาจ และร่วมร้องเพลงชาติจีน

ล่าสุด ทางการกรุงปักกิ่งประกาศยกเลิกการตั้งสิ่งกีดขวางทางเข้าอพาร์ตเมนต์ซึ่งมีผู้ติดโควิด-19 อยู่ภายใน โดยระบุว่าจะต้องไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือการออกจากอาคารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนเมืองกว่างโจวประกาศงดการปูพรมตรวจโควิด-19 ครั้งใหญ่สำหรับประชาชนในวงกว้าง โดยอ้างถึงความจำเป็นในการรักษาทรัพยากร
ขณะที่เมืองอุรุมชี เมืองหลวงของซินเจียง ประกาศเปิดตลาดสดและอนุญาตให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดทำการในสัปดาห์นี้ิ สำหรับท้องที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดในระดับต่ำ รวมทั้งให้บริการรถโดยสารสาธารณะ
มาตรการผ่อนคลายนี้มีขึ้นหลังจากที่ชาวจีนพากันรวมตัวกันบนท้องถนนในเมืองต่างๆ ซึ่งรวมถึงนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองอู่ฮั่น เฉิงตู ซีอาน และหนานจิง เพื่อประท้วงต่อการที่รัฐบาลยังคงล็อกดาวน์เมืองต่างๆ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม

ด้านโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ประเมินว่าจีนอาจจะต้องยุติมาตรการโควิดเป็นศูนย์ก่อนเดือน เม.ย. ในปี 2023 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้มาก
หุย ชาน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ประเทศจีนของธนาคารระบุในรายงานว่ามีความเป็นไปได้ประมาณ 30% ที่จีนจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งก่อนไตรมาสสองของปี 2023
“ในไม่ช้ารัฐบาลกลางอาจต้องเลือกระหว่างการล็อกดาวน์เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ก็การระบาดของโควิดมากขึ้น" หุยเขียนและระบุต่อไปว่ารัฐบาลท้องถิ่นพยายามดิ้นรนเพื่อ "ปรับสมดุลอย่างรวดเร็ว" ในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสในขณะที่ปฏิบัติตามมาตรการล่าสุดที่กําหนดให้มีแนวทางที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมีความเห็นว่า รัฐบาลจีนจะยังคงสามารถควบคุมสถานการณ์ และเหตุการณ์ประท้วงจะไม่ลุกลามเหมือนกับวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989
“การที่จะเกิดเหตุการณ์ประท้วงวุ่นวายถึงขั้นเทียนอันเหมินในปี 1989 จำเป็นต้องเกิดความแตกแยกอย่างเห็นได้ชัดในคณะผู้ปกครองของจีน” ฮุง โฮ-ฟุง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์กล่าว
ฮุง กล่าวด้วยว่า ประธานาธิบดีสีสามารถขจัดภัยคุกคามต่อการครองอำนาจของเขาในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในเดือนต.ค. ซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำพรรคและประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 พร้อมกับเปิดตัว 7 ผู้นำใคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ชุดใหม่ ซึ่งมีความภักดีต่อประธานาธิบดี
“หากไม่มีสัญญาณความแตกแยกที่ชัดเจนของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ผมคิดว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้ไม่นาน และเป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าประธานาธิบดีสีจะยอมอ่อนข้อ ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์มีประสบการณ์มาก่อนแล้วในการรับมือกับการชุมนุมประท้วง” ฮุงกล่าว