เพราะโลกร้อน? ยุโรปอุ่นขึ้นในฤดูหนาว-สหรัฐฯ หนาวจัด แล้วไทยเจอลมหนาวนี่ปกติไหม

4 ม.ค. 2566 - 10:02

  • คลื่นความร้อนในยุโรปลากยาวในปี 2022 ส่งผลให้อากาศช่วงต้นปี 2023 อบอุ่นขึ้นในฤดูหนาว

  • ขณะที่ทวีอเมริกาเหนือกลับหนาวจัดและเจอกับ ‘ปรากฎการณ์บอมบ์ ไซโคลน’

European-weather-Winter-january-heat-records-smashed-all-over-continent-SPACEBAR-Thumbnail
ในช่วงปีที่ผ่านมา (2022) ถือว่าเป็นปีที่ประเทศในยุโรปหลายประเทศต้องเจอศึกหนักอย่างมาก เพราะต้องรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงอย่าง ‘คลื่นความร้อน’ ที่เข้าแผ่ปกคลุมเป็นเวลานานหลายเดือนและสร้างความเสียหายร้ายแรงมากมายในรอบ 200 ปีโดยเฉพาะไฟป่า ซึ่งทำลายพื้นที่ไปหลายร้อยพันเอเคอร์ ตลอดจนอุณหภูมิที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศต่างๆ ก็ทำลายสถิติเดิมทะลุ 40-50 องศาเซลเซียส เป็นประวัติการณ์ 
 
และแน่นอนว่าคลื่นความร้อนอันยาวนานนี้ ก็ยังคงทิ้งความอบอุ่นไว้ในฤดูหนาวอีกด้วย เป็นเหตุให้ยุโรปหลายประเทศในหน้าหนาวปีนี้ไม่หนาวมากเท่าที่ควร ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะทางตอนเหนือเจอกับสภาพอากาศหนาวจัดรุนแรงที่อาจติด -51 องศาเซลเซียส หรือที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์บอมบ์ ไซโคลน’ ซึ่งเป็นการปะทะกันของอากาศเย็นแห้งจากทางเหนือและอากาศอุ่นชื้นจากทางใต้ ทำให้เกิดพายุหิมะ อุณหภูมิลดต่ำลงสู่ระดับเยือกแข็งและคร่าชีวิตคนไปแล้วมากกว่า 60 ราย
 

หรือนี่จะเป็นผลข้างเคียงของภาวะโลกร้อน? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/qhaBgMno5uAYR1rZ61lJi/4c8d330f6c310806df714da0c5b2abcb/European-weather-Winter-january-heat-records-smashed-all-over-continent-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP
สภาพอากาศยุโรปในฤดูหนาวนี้ไม่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และโซนเหนือของทวีปอเมริกา ที่ขณะนี้มีการพยากรณ์ว่าหิมะจะตกหนักและฝนเยือกแข็งในพื้นที่บางส่วนของมิดเวสต์ตอนเหนือ ขณะเดียวกันก็เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงและมีพายุทอร์นาโดในรัฐเท็กซัส โอคลาโฮมา อาร์คันซอ และลุยเซียนา 
 
และสืบเนื่องจากในช่วงกลางปีที่ผ่านมายุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ส่งผลให้ฤดูหนาวในปีนี้เปลี่ยนแปลงไปและดูเหมือนว่าจะอบอุ่นขึ้น ซึ่งพบว่า อากาศทางฝั่งยุโรปของมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นค่อนข้างปลอดโปร่งในช่วงต้นปี 
 
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะเพิ่งเริ่มต้นปีได้ไม่กี่วัน แต่ยุโรปได้ทำลายสถิติสภาพอากาศที่น่าตกใจเนื่องจากความร้อนจัดแผ่กระจายไปทั่วทวีป โดยประเทศในยุโรปอย่างน้อย 8 ประเทศ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลารุส ลิทัวเนีย เดนมาร์ก และลัตเวีย ได้บันทึกว่า ‘วันปีใหม่เป็นวันที่ร้อนที่สุดในเดือนมกราคม’  
 
สำหรับอุณหภูมิที่บันทึกในกรุงวอร์ซอเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ 18.9 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติในเดือนก่อนหน้าถึง 4 องศาเซลเซียส และสถิติสูงสุดของเบลารุสอยู่ที่ 16.4 องศาเซลเซียส สูงกว่าสถิติก่อนหน้าประมาณ 4.5 องศาเซลเซียส ขณะที่เมืองบิลเบาในสเปน มีอุณหภูมิในวันปีใหม่อยู่ที่ 25.1 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 10 องศาเซลเซียส ส่วนในสาธารณรัฐเช็กมีอุณหภูมิสูงถึง 19.6 องศาเซลเซียส 
 
นอกจากนี้ ยังพบว่า อุณหภูมิในสวิตเซอร์แลนด์แตะ 20 องศาเซลเซียส และสภาพอากาศที่อบอุ่นได้ส่งผลกระทบต่อสกีรีสอร์ตไปทั่วเทือกเขาแอลป์ที่กำลังประสบกับปัญหาหิมะขาดแคลน 
 
อย่างไรก็ดี สภาพอากาศในยุโรปนั้นไม่ได้อบอุ่นทั้งหมด โดยมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะเย็นลง รวมถึงหิมะจะตกในบางพื้นที่ของสแกนดิเนเวีย และคาดว่าอุณหภูมิในมอสโกจะลดลงถึง -20 องศาเซลเซียสในช่วงสุดสัปดาห์นี้ 
 

อากาศในยุโรปไม่ปกติอีกต่อไป หลังเจอคลื่นความร้อนรุนแรง 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5B01YL1OMs3SOKO7Rt0vx0/28ac83cf813100230520fc4332b8d803/European-weather-Winter-january-heat-records-smashed-all-over-continent-SPACEBAR-Photo02
Photo: AFP
สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสเปนได้ประกาศให้ปี 2022 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า อุณหภูมิในสหราชอาณาจักรร้อนกว่าค่าเฉลี่ย แม้จะมีหิมะตกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศก็ตาม 
 
แต่ถึงกระนั้น สภาวะการณ์ในฤดูหนาวเช่นนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์เหมือนกับคลื่นความร้อนในฤดูร้อน เท่าใดนัก 
 
มักซิมิเลียโน เฮอร์เรรา นักอุตุนิยมวิทยา กล่าวกับ CNN โดยพิจารณาจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับปกติ ว่า “มันคือ ‘คลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป’…เมืองที่มักถูกปกคลุมด้วยหิมะกลับมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึงระดับที่เรามักจะเห็นในฤดูร้อน”  
  
“เมื่อคุณพิจารณาว่าอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติมากเพียงใด เหตุการณ์สภาพอากาศในปัจจุบันนั้นก็ยิ่งรุนแรงกว่าคลื่นความร้อนที่แผดเผาพื้นที่ส่วนใหญ่ในยุโรปเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ความร้อนจะรุนแรงผิดปกติเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายเป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่พรมแดนของยุโรปกับเอเชียไปจนถึงตอนเหนือของสเปนอีกด้วย” 
 
“เป็นครั้งแรกที่คลื่นความร้อนในยุโรปสามารถเทียบเคียงกับความรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอเมริกาเหนือ” เฮอร์เรรา กล่าว 
 
 
ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาในอังกฤษ (UK Met Office) ระบุว่า ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความร้อนรุนแรงเหล่านี้ ก็คือ มวลอากาศอุ่นจากชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา ซึ่งเคลื่อนตัวไปทั่วยุโรป จึงทำให้เกิดสภาพอากาศที่อบอุ่นผิดฤดูกาล  
 
ขณะเดียวกัน นักอุตุนิยมวิทยายังกล่าวเสริมอีกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุอย่างมั่นใจว่าความร้อนจัดนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่าเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นนั้น จะเกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้น 
 
ทั้งนี้ นักอุตุนิยมวิทยาก็ออกเตือนว่า แม้ว่าอากาศอบอุ่นที่เกิดขึ้นในตอนนี้อาจจะช่วยบรรเทาความหนาวเย็นลงได้บ้าง แต่ในอนาคตอันใกล้นั้นก็น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน 
 

แล้วที่ไทยมีลมหนาวแบบนี้ ปกติหรือเปล่า? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4adZvr6cNw1ttnpkDzs1j8/33ebf5ae6379794a31f129bc765c3f21/European-weather-Winter-january-heat-records-smashed-all-over-continent-SPACEBAR-Photo03
Photo: AFP
สำหรับปีที่ผ่านมา (2022) หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับความผิดปกติของสภาพอากาศมากมายขณะที่ยุโรปเจอคลื่นความร้อนอย่างรุนแรง สหรัฐฯ เจอพายุหนัก ส่วนเอเชียหลายประเทศรวมถึงไทยก็เจอกับปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้เกิดฝนตกและน้ำท่วมหนัก ตรงกันข้ามกับประเทศฝั่งอเมริกาใต้ก็เจอกับภาวะแห้งแล้งจัด  
 
สำหรับประเทศไทยนั้น ทางอุตุนิยมวิทยาก็คาดการณ์ล่วงหน้ามาว่าในปีนี้ไทยจะหนาวช้า เพราะช่วงกลางปีที่ผ่านมาไทยก็เจอฝนตกหนักมาตลอด ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานีญา  
 
ความหนาวเย็นที่เข้ามาปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยนั้นเป็นผลมาจากอิทธิพลฤดูหนาวที่มีกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีน ซึ่งพัดเข้ามาปกคลุมทางภาคเหนือของประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 10-18 องศาเซลเซียส และ 2-10 องศาเซลเซียสบริเวณภูเขา ส่วนอุณหภูมิทางภาคตะวันออกและภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครจะลดลงเหลือ 15-21 องศาเซลเซียส 
 
ทั้งนี้ เพราะเรื่องของสภาพอากาศเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญและไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราต้องให้ความสนใจ ในวันข้างหน้าไม่รู้ว่าจะมีปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศแบบใดเกิดขึ้นอีก ดังนั้น การเตรียมการรับมือและมาตรการป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ผู้นำหลายๆ ประเทศต่างก็เริ่มหันมาถกเถียงและพูดกันบ่อยขึ้นแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์