เปิดปมประเด็นอื้อฉาวจุดเริ่มต้นดราม่าการเมือง-ฟุตบอลโลก 2022 ที่ ‘กาตาร์’

25 พ.ย. 2565 - 07:37

  • ประเด็นการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่นับว่ามีการโต้เถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ฟีฟ่ามอบหมายให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพในปี 2010

  • ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสภาวะแวดล้อมที่ร้อนระอุเนื่องจากภูมิประเทศบางส่วนเป็นทะเลทราย

Everything-Wrong-with-the-Qatar-World-Cup-hidden-reason-SPACEBAR-Thumbnail
ว่ากันว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ในเกมฟุตบอล ใครจะไปรู้ว่าลูกฟุตบอลในสนามแค่เพียงลูกเดียวจะสร้างจุดเปลี่ยนมากมาย บ้างก็กลายเป็นตำนานที่โลกไม่ลืม บ้างก็กลายเป็นสถิติใหม่ที่รอการทำลาย แต่ทว่าเบื้องลึกเบื้องหลังทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลโลกกลับกลายเป็นประเด็นที่โยงเข้าหาการเมืองไปเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งกาตาร์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ เรื่องราวดราม่าต่างถาโถมเข้ามาขนาดที่มีข่าวลือหนาหูว่าอาจจะยกเลิกการแข่งขันไปแล้ว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? 

‘กาตาร์’ ดินแดนมุสลิมตะวันออกกลางที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและมีอัตราการพัฒนาคุณภาพประชากรในระดับสูง ทั้งยังเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงตลอดจนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย 

ทว่าเมื่อทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 2022 กลายเป็นกาตาร์ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้  แต่แทนที่จะได้รับเสียงชื่นชม ในทางตรงกันข้ามกลับเกิดกระแสดราม่าฟีฟ่าและการเมืองขึ้นมามากมาย อีกทั้งยังถูกอดีตประธานฟีฟ่าอย่าง เซปป์ แบลตเตอร์มองว่า “กาตาร์เป็นความผิดพลาดและเป็นตัวเลือกที่ไม่ดี…ประเทศนี้มีขนาดและจำนวนประชากรใกล้เคียงกับรัฐคอนเนตทิคัตของสหรัฐฯ ซึ่งเล็กเกินไปสำหรับงานนี้” 

ครั้งแรกของ ‘Winter World Cup หรือฟุตบอลโลกฤดูหนาว’ ที่จัดช่วงปลายปี และ 12 ปีที่กาตาร์ใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมสำหรับทัวร์นาเมนต์ใหญ่ สายตาชาวโลกต่างจับจ้องไปที่รัฐอาหรับแห่งนี้ที่ยังคงถูกครอบงำด้วยเรื่องราวเชิงลบ  

โดยเฉพาะประเด็นการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่นับว่ามีการโต้เถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ฟีฟ่ามอบหมายให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพในปี 2010 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสภาวะแวดล้อมที่ร้อนระอุเนื่องจากภูมิประเทศบางส่วนเป็นทะเลทราย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4Vl15RAbRDykhASUqmdx6Z/b8fb0caad2aaea4004edfc853a03e643/Everything-Wrong-with-the-Qatar-World-Cup-hidden-reason-SPACEBAR-Photo01
Photo: Photo: Patrick T. FALLON / AFP
หลายๆ ฝ่ายต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ‘อย่าทำให้ฟุตบอลเป็นเรื่องการเมือง’ เมื่อการแข่งขันได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 พ.ย.) ท่ามกลางมหากาพย์ดราม่ากาตาร์ที่หวังจะใช้จังหวะช่วงที่ทุกคนต่างสนุกสนานกับการเชียร์ฟุตบอลและลืมเรื่องพวกนี้ไป  

แต่ทว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นมันมีจุดเริ่มต้นและที่มาอย่างไร ทุกอย่างมันผิดมาตั้งแต่ต้นจริงๆ หรือ หรือนี่จะเป็นความผิดพลาดอย่างที่อดีตประธานฟีฟ่ากล่าวไว้จริงๆ 
 

ติดสินบน

ในเดือนพฤษภาคม 2015 มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นหลังจากทางการสวิสเข้าบุกโรงแรมในเมืองซูริกและจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟีฟ่า 7 คน ฐานสมรู้ร่วมคิดทางอาญาที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ โดยปมของเรื่องก็คือ เจ้าหน้าที่ของฟีฟ่าได้ลงคะแนนให้กับเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอนาคต (รัสเซียและกาตาร์เป็นหลัก) เพื่อแลกกับสินบน 

จากสมาชิกคณะกรรมการบริหารฟีฟ่า 22 คนที่โหวตให้กาตาร์ชนะการประมูลฟุตบอลโลกปี 2010 มี 15 คนถูกตั้งข้อหาทางอาญาเพื่อแลกกับคะแนนเสียง โดยมี โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัน เจ้าสัวชาวกาตาร์ที่จ่ายเงินผิดกฎหมายมูลค่า 880 ล้านปอนด์ (ราว 37,000 ล้านบาท) ให้กับเจ้าหน้าที่สมาคมฟุตบอลแห่งชาติต่างๆ  

มันอาจดูเป็นเรื่องที่น่าทึ่งที่แม้จะมีการทุจริตที่จัดทำเป็นเอกสารอย่างดี แต่การแข่งขันฟุตบอลโลกก็ยังคงดำเนินต่อไป แล้วทำไมล่ะ? ทางการยืนยันว่าเนื่องจากการเตรียมงานด้านโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่เสร็จไปแล้ว ดังนั้น การถอดสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์จึงเป็นไปไม่ได้แม้จะเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตของฟีฟ่าก็ตาม
 

แรงงานข้ามชาติเสียชีวิต

เบื้องลึกเบื้องหลังของการเปิดตัวสนามกีฬาแห่งใหม่ของกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานจากสำนักข่าว The Guardian ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 แรงงานข้ามชาติ 6,500 คนเสียชีวิตในกาตาร์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจากเอเชียใต้  

จากแต่ก่อนจะจ้างงานภายใต้ระบบ Kafala หรือคาฟาลาที่ใช้ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติ แต่แล้วก็เปลี่ยนจากระบบลูกจ้างให้กลายเป็นแรงงานที่มีสัญญาผูกมัดแบบที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้หากไม่มีวีซ่าออกนอกประเทศที่รับประกันโดยนายจ้าง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าคนงานเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับแรงงานทาสยุคใหม่เลย 

ในขณะที่การปฏิรูปแรงงานเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ระบบ Kafala สิ้นสุดลง แต่โครงการก่อสร้างในโปรเจกต์ฟุตบอลโลกดำเนินการต่อด้วยค่าจ้างที่ต่ำ เงื่อนไขที่ย่ำแย่ และสร้าง ‘วัฒนธรรมแห่งความกลัว’ ซึ่งมีคนงานที่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ถูกคุมขังเพราะ เผยแพร่ข่าวเท็จ  

และมันนำไปสู่สิ่งที่ ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) เรียกว่า ‘สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและไม่ถูกสุขลักษณะ’ ในขณะเดียวกัน คนงานก็ทำงาน 14-18 ชั่วโมง/วัน และผลลัพธ์ คือ การเสียชีวิตที่น่าสลดใจและภาวะทุพพลภาพที่ป้องกันได้  

โมฮัมหมัด ชาฮิด มีอาห์ ชาวบังกลาเทศ ถูกไฟฟ้าชอร์ตในที่พักของเขา หรือแม้แต่ชายทำความสะอาดฆ่าตัวตายหลังจากเดินทางกลับมาจากเนปาลได้เพียง 1 สัปดาห์ การเสียชีวิตอย่างกะทันหันและไม่สามารถอธิบายได้เกิดขึ้นมากมาย ความทุกข์ทรมานของชายเหล่านี้และครอบครัวคือเรื่องราวที่น่าอับอายที่สุดของฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่กาตาร์
 

ทัศนคติต่อ LGBTQ+

ข้อกังวลด้านจริยธรรมอีกประการหนึ่ง คือ ‘การประหัตประหาร LGBTQ+’ ในกาตาร์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีจุดยืนชัดเจนว่า การรักร่วมเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมายและมีโทษถึงจำคุก  

จอช คาวัลโล แบ็คซ้ายชาวออสเตรเลียของสโมสรฟุตบอลแอดิเลด ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นนักฟุตบอลชายที่เป็นเกย์เพียงคนเดียวของโลกได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการไปเยือนกาตาร์ ในขณะที่แฟน LGBTQ+ หลายคนกลัวการต้อนรับที่ไม่เป็นมิตร  

ด้าน เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ แนะนำว่าแฟนบอล LGBTQ+ ควรให้เกียรติ รวมถึงแสดงท่าทียืดหยุ่นและประนีประนอมหากว่าพวกเขาวางแผนที่จะเข้าร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลโลก  

นอกจากนี้ FA หรือ สมาคมฟุตบอลในอังกฤษก็ให้คำมั่นกับแฟนๆ ชาวอังกฤษที่เป็นเกย์ว่าพวกเขาจะไม่ถูกจับกุมจากการแสดงความรักในที่สาธารณะ 

ในท้ายที่สุดแล้ว นักท่องเที่ยว หรือแฟนบอล LGBTQ+ กลับไม่ใช่เหยื่อหลัก แต่เป็นพลเมือง LGBTQ+ ชาวกาตาร์ต่างหากที่ต้องเผชิญกับความเป็นปรปักษ์ตลอดทั้งปี เมื่อการแข่งขันจบลงก็ยังคงเป็นพวกเขาที่ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/76eJDw8aTcjHaHajKjUiPe/3cc08b046b421d34c0cc11b02a59baf4/Everything-Wrong-with-the-Qatar-World-Cup-hidden-reason-SPACEBAR-Photo02
Photo: Photo: Fabrice COFFRINI / AFP

ดินแดนส่วนหนึ่งของที่นี่เป็นทะเลทราย…

การเลื่อนการแข่งขันไปช่วงปลายปีเป็นอีกหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับฟุตบอลโลก เพราะโดยปกติแล้วเราจะคุ้นชินกับฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นกลางปี แต่เนื่องจากประเทศเจ้าภาพมีดินแดนบางส่วนที่เป็นทะเลทราย หากจัดฟุตบอลโลกฤดูร้อนขึ้นตามช่วงเวลาปกติที่เคยจัดอาจจะไม่ดีนักท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุในแดนทะเลทรายที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียสนั้นคงเป็นไปไม่ได้ 

ทั้งนี้ ฟีฟ่าจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนจัดการแข่งขันไปช่วงปลายปีแทนเพื่อสวัสดิภาพของนักฟุตบอลและเป็นครั้งแรกของ ‘ฟุตบอลโลกฤดูหนาว’ แต่เพราะ แฟนบอลต่างเคยชินกับทัวร์นาเมนต์กลางปีมากกว่า จึงทำให้มีกระแสความไม่พอใจจากแฟนบอลบางส่วน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3sUKyIOeL8vke9NRwJGOxD/a1de793bb254495781e22ef6b5adbe8e/Everything-Wrong-with-the-Qatar-World-Cup-hidden-reason-SPACEBAR-Photo03
Photo: Photo: Nicolas TUCAT / AFP

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อฟุตบอลโลกจบลง?

ฟุตบอลโลกมีชื่อเสียงในด้านความรื่นเริงในระยะสั้นและการสูญเสียในระยะยาว หลังจากการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิลปี 2014 ก็พบว่า สนามกีฬาหลายแห่งที่สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชนก็ทรุดโทรมลง จึงไม่น่าแปลกใจถ้าหากสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในกาตาร์ด้วยเช่นกัน หรือบางทีแทนที่จะปล่อยให้สนามพัง การรื้อสนามใหม่หลายแห่งและแจกจ่ายอัฒจันทร์บางส่วนไปยังประเทศใกล้เคียงก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า  

แต่คำถามก็คือ เหตุใดฟีฟ่าจึงไม่มอบสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพให้กับประเทศในเอเชียตะวันตกหรือแอฟริกาเหนือที่มีโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามฟุตบอล อัฒจันทร์ เป็นต้น รวมถึงมีระบบลีกฟุตบอลในประเทศที่ยั่งยืน ซึ่งคำตอบนั้นอาจอยู่ในบัญชีธนาคารของประเทศเจ้าภาพก็เป็นได้ 

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มันอาจจะฟังดูเหลือเชื่อสำหรับเรื่องราวดราม่าที่เกิดขึ้นในประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งดูเหมือนว่าจะโดนหนักกว่าปีก่อนๆ ซะเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องของอำนาจเงินเหนือทุกสิ่งถึงขนาดที่มีข่าวลือว่ากาตาร์จ่ายเงินให้ฟีฟ่าเป็นเจ้าภาพบอลโลก  

อย่างไรก็ดี การแข่งขันฟุตบอลโลกได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันอาทิตย์ (20 พ.ย.) ที่ผ่านมา เรื่องอื้อฉาวเหล่านี้จะเงียบหายไปหรือไม่ สุดท้ายก็ไม่พ้นคำพูดที่ว่า “ฟุตบอลเป็นเรื่องของการเมือง” อยู่ดี 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์