ผู้เชี่ยวชาญกังวลหวัดนก ‘H5N1’ อาจกลายพันธุ์สู่คนและสามารถตายได้ถึง 50%

3 มีนาคม 2566 - 07:43

Experts-fear-Bird-flu-may-kill-more-than-50%-of-humans-who-catch-it-SPACEBAR-Hero
  • ‘ไข้หวัดนก H5N1’ ภัยคุกคามใหม่ที่โลกไม่ควรมองข้าม เมื่อมันอันตรายขนาดที่ว่าสามารถแพร่กระจายระบาดข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ปีกสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

  • และความกังวลล่าสุดว่าอาจกระจายมาสู่ ‘มนุษย์’ ได้ด้วย

ขณะนี้มีรายงานความคืบหน้าล่าสุดว่า ไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่คร่าชีวิตของเด็กหญิงวัย 11 ปีในกัมพูชานั้นได้พัฒนาจนสามารถแพร่เชื้อในเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง 
 
นักวิจัยในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ค้นพบกล่าวว่า “การค้นพบนี้จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความกังวลสูงสุด…มีสิ่งบ่งชี้บางอย่าง ไวรัสได้กระจายไปสู่มนุษย์และรับการกลายพันธุ์ครั้งใหม่ก่อนที่จะแพร่เชื้อไปยังเด็กหญิง” 
 
ดร.เอริก คาร์ลสัน หัวหน้าทีมสถาบันปาสเตอร์แห่งกัมพูชา ได้ถอดรหัสลำดับพันธุกรรมไวรัสในเด็กหญิง และเตือนว่ามันแตกต่างจากไวรัสที่มาจากนก เขากล่าวกับ Sky News ว่า “มีข้อบ่งชี้บางประการว่าไวรัสนี้ได้ผ่านมาสู่คนแล้ว เมื่อใดก็ตามที่ไวรัสเหล่านี้เข้าสู่โฮสต์ใหม่ พวกมันจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ช่วยให้พวกมันสามารถแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นเล็กน้อยหรืออาจจับกับเซลล์ในทางเดินหายใจของเราได้ดีขึ้นเล็กน้อย” 
 
แต่เขาเสริมว่าไวรัสนี้ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยกล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วมันเป็น ‘ไวรัสของนก’ “การกลายพันธุ์ครั้งใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในเด็กหญิงกัมพูชาที่เสียชีวิต แต่น่าจะมีอยู่ในกลุ่มไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแบบสุ่มในนก” ดร.คาร์ลสันกล่าว 
 
ทั้งนี้ สายพันธุ์ในรูปแบบปัจจุบันไม่น่าจะทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ แต่การแพร่เชื้อในวงกว้างอาจจะมีการกลายพันธุ์ที่ช่วยให้ไวรัสสามารถจับกับตัวรับที่พบในเซลล์ในจมูกได้ 
 
การทดสอบทางพันธุกรรมเปิดเผยว่าเด็กหญิงรายนี้ติดเชื้อไวรัส H5N1 สายพันธุ์ 2.3.2.1c ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นและสัตว์ปีกในกัมพูชา ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากชนิด 2.3.4.4b ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วโลก และทำให้นก รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากติดเชื้อ แต่ ดร.คาร์ลสันกล่าวว่านี่ไม่ใช่เหตุผลที่จะมองข้ามภัยคุกคาม 
 
“นี่เป็นการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน (ของไวรัสที่แพร่เชื้อสายพันธุ์ใหม่) และจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความกังวลสูงสุด บางอย่างอาจเกิดขึ้นที่นี่ในกัมพูชา และบางอย่างอาจเกิดขึ้นอีกฟากหนึ่งของโลกในอเมริกาใต้ แต่เราไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรจะทำให้เกิดปัญหาในวันพรุ่งนี้” ดร.คาร์ลสัน กล่าวเสริม 
 

ตอนนี้ ‘หวัดนก’ อาจกลายพันธุ์จนคร่าคนได้ถึง 50% 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5nd5Pq7FAVUVIzLaSJPh6S/462b7f767c224b9f0b3495de3bab9ad1/Experts-fear-Bird-flu-may-kill-more-than-50_-of-humans-who-catch-it-SPACEBAR-Photo01
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าไข้หวัดนกอาจกลายพันธุ์จนเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากขึ้นเนื่องจากการระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 
 
ในกรณีของสายพันธุ์ฆาตรกรรม H5N1 ซึ่งคร่าสิ่งมีชีวิตสูงเป็นประวัติการณ์ที่ไม่ใช่แค่สัตว์ปีกเท่านั้น แต่ยังลามมาถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วย เช่น สุนัขจิ้งจอก นาก และมิงค์ เป็นต้น จึงสร้างความกังวลอย่างมากในหมู่นักไวรัสวิทยาชั้นนำว่าเชื้อโรคร้ายแรงนั้นได้ก้าวกระโดดจากนกไปสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และกำลังเข้าใกล้การแพร่กระจายในมนุษย์ไปอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคที่หยุดยั้งไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด 
 
องค์การอนามัยสัตว์โลก (WOAH) เตือนว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจเป็นพาหะของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่างๆ ซึ่งอาจปล่อยสายพันธุ์ใหม่ที่อาจ ‘เป็นอันตรายต่อมนุษย์’ มากขึ้น 
 
นอกจากนี้ยังพบว่า มีอัตราการเสียชีวิตของผู้คนไปแล้วประมาณ 50% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในขณะที่การระบาดครั้งนี้เสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกและการดำรงชีวิตของผู้ที่พึ่งพาการเลี้ยงสัตว์ปีก อีกทั้งยังทำให้อัตราการเสียชีวิตของนกป่า รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดมีอัตราที่น่าตกใจอีกด้วย 
 
แต่ก็มีข้อกังวลว่าไวรัสอาจแพร่กระจายระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งจะบ่งชี้ว่ามันเกิดการกลายพันธุ์ที่ยุ่งยาก ซึ่งตามทฤษฎีแล้วอาจทำให้มนุษย์ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแพร่เชื้อไวรัสหรือไม่ 
 
WOAH กล่าวว่า “สิ่งนี้จุดประกายความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และศักยภาพต่อสุขภาพของประชาชน…สถานการณ์ปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เชื้อไข้หวัดนก H5N1 อาจปรับตัวเข้ากับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ดีขึ้น และแพร่กระจายสู่คนและสัตว์อื่นๆ” 
 
“นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด เช่น มิงค์ อาจเป็นพาหะสำหรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของสายพันธุ์และชนิดย่อยใหม่ที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์และ/หรือมนุษย์มากขึ้น” 
 
อย่างไรก็ดี WOAH ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ รักษาการเฝ้าระวังโรคที่เพิ่มขึ้นสำหรับนกในประเทศและนกป่าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคด้วยการวางกฎความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวดในฟาร์ม และปกป้องมนุษย์เมื่อสัมผัสใกล้ชิดกับนกป่า 
 
ขณะเดียวกันทางด้าน ศาสตราจารย์เอียน บราวน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิทยาศาสตร์ของสมาคม The Animal and Plant Health Agency (Apha) ได้ออกมาตั้งคำถามถึงหน่วยงานด้านสุขภาพว่าได้เรียนรู้บทเรียนทั้งหมดจากโควิด และมีโครงสร้างการเฝ้าระวังที่จำเป็นหรือไม่ 
 
บราวน์เตือนว่า “การขยายตัวความสามารถของไวรัสในการแพร่เชื้อไปยังประชากรโฮสต์อื่นๆ นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุด”  
 
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่เข้าร่วมการประชุมทางออนไลน์ที่จัดโดย Science Media Centre แสดงความกังวลว่า การตอบสนองของโลกที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับขอบเขตของปัญหานี้อาจยังไม่พร้อม 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์