จาก Meta ถึง Amazon เหตุใดบริษัทบิ๊กเทคแห่ปลดพนักงาน

18 พ.ย. 2565 - 10:42

  • จาก Meta ถึง Amazon เหตุใดบริษัทเทคโนโลยีทยอยปลดพนักงาน-รัดเข็มขัดการเงิน สวนทางภาคอุตสาหกรรมอื่นเริ่มฟื้นตัว หรือถึงคราวบิ๊กเทคขาลง?

from-Meta-to-Amazon-did-tech-companies-going-to-bubble-bursts-SPACEBAR-Main
เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจในกลุ่มนี้เป็นแหล่งลงทุนที่เฟื่องฟูตลอดจนเป็นตลาดแรงงานที่มีรายได้สูงจนน่าเหลือเชื่อ  

ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ดูเหมือนว่าภาคธุรกิจในกลุ่มนี้แทบจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดหากเทียบกับในหลายอุตสาหกรรม ทว่าช่วงไม่กี่เดือนถึงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนธุรกิจในภาคเทคโนโลยีกำลังเผชิญความลุ่มๆ ดอนๆ สังเกตจากกระแสข่าวการปลดพนักงานจำนวนมาก 

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงโค้งของไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 มีบรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่สั่งปลดพนักงานรวมๆ ไม่น้อยกว่า 50,000 ราย ล่าสุดกับข่าวการปลดพนักงานล็อตใหญ่ของบริษัท Amazon Inc. ที่มีแผนเลิกจ้างพนักงานราว 10,000 คน ในแผนกงานอุปกรณ์เทคโนโลยี ค้าปลีก และฝ่ายบุคคล นับเป็นการเลิกจ้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท 

Amazon ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซสหรัฐฯ ระบุว่า มีแผนลปลดพนักงานในหลายส่วนทั้ง ระบบการสร้างผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistant) หรือ 'Alexa' แผนกทรัพยากรบุคคลและค้าปลีก  

การปรับลดจำนวนพนักงานดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของพนักงานทั้งหมด อย่างไรก็ตามตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนเพราะอาจมีการปรับขึ้นหรือลด ขึ้นอยู่กับแนวทางของบริษัท โดย Amazon ยอมรับอย่างชัดเจนว่าการปลดพนักงานเหล่านี้  มาจากภาวะเศรษฐกิจอันผันผวนหลายปัจจัย 

ข่าวการปลดพนักงานของ Amazon มีขึ้นไม่นานหลังมีข่าวว่า Meta บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กเตรียมเลย์ออฟพนักงานราว 11,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 13% ของทั้งองค์กร เช่นเดียวกับ Twitter ซึ่งนอกจากความปั่นป่วนหลังการเข้าถือหุ้นของอีลอน มัสก์ ก็เตรียมประกาศปลดพนักงานจำนวนมากเช่นกัน  

กระแสการเลย์ออฟของทั้ง Amazon และ Meta เป็นไปตามแนวทางการเลือกจ้างของพนักงานในหลายบริษัทท่ามกลางความปั่นป่วนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เผชิญความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1bWk4TPHwvbfTocOMRElDH/1ff046d46ec6244a18c5dd1598fe7ad6/from-Meta-to-Amazon-did-tech-companies-going-to-bubble-bursts-SPACEBAR-Photo01
Photo: ป้ายของหนึ่งในศูนย์กระจายสินค้าของ Amazon ในเมือง มึนเชนกลัดบัค ทางตะวันตกของเยอรมนี (Photo: INA FASSBENDER / AFP)

บริษัทเทคทั้งเล็กใหญ่ไล่คนออก

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าบรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่แถลงแผนการเลย์ออฟตลอดจนแนวทางการรัดเข็มขัด มีสองสิ่งที่คล้ายกันคือ ประการแรก พวกเขาจ้างพนักงานจำนวนมากในช่วงที่มีโควิดระบาด ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนออนไลน์กันอย่างมาก สวนทางตลาดแรงงานอื่นอย่างชัดเจน แต่ตอนนี้ ความเฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ตได้จางหายไป ชีวิตออฟไลน์เริ่มดีขึ้น และประกอบกับภาวะทางเศรษฐกิจดูเหมือนการจ้างพนักงานใหม่เหล่านั้นก็จะมีต้นทุนที่สูงเกินไป  

ประการที่สอง ภาวะเศรษฐกิจที่สั่นคลอนในวงกว้างทำให้หลายแบรนด์ลังเลที่จะใช้จ่ายกับโฆษณาดิจิทัลมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งรายได้ของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงยิ่งทำให้แนวทางการร่วมลงทุนหรือแผนการลงทุนโครงการใหม่ชะลอตัว  

แผนปรับลดพนักงานในบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามท่ามกลางความยากลำบากของอุตสาหกรรมที่ต้องต่อสู้กับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ กรณีของแพลตฟอร์มที่ต้องพึ่งเม็ดเงินจากการโฆษณาเป็นหลักอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล ล้วนได้รับผลกระทบจากการลดงบประมาณของผู้โฆษณา จากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น  

ตุลาคมเพียงเดือนเดียว มีพนักงานจากบริษัทเทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 9,587 ตำแหน่งถูกเลย์ออฟ นับเป็นยอดรวมรายเดือนสูงสุดนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2020 ตามรายงานของ Challenger, Grey & Christmas บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ตัวอย่างบริษัทที่เลย์ออฟพนักงานจำนวนมากเช่น 

Twitter เลย์ออฟราาวประมาณ 3,700 คน โดยหลังจากที่อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าพ่อเทสลา และสเปซเอ็กซ์ เข้าเทกโอเวอร์ Twitter ช่วงปลายเดือนตุลาคม เขาได้สร้างปรากฎการณ์สะเทือนทั้งแพลตฟอร์ม ด้วยการปลดตั้งแต่บอร์ดบริหารระดับ CEO CFO ตลอดจนสั่งลดพนักงานลงประมาณ 50%  

ส่วน Apple ผู้ผลิต iPhone ได้หยุดจ้างงานหลายตำแหน่งยกเว้นส่วนการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มแผนการลดงบประมาณในปีหน้า  

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในแวดวงไอทีเผยต่อบลูมเบิร์กว่า จริงอยู่ที่การเลย์ออฟจะไม่เกิดขึ้นกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา แต่ก็สามารถส่งผลต่อฟังก์ชันขององค์กรและบทบาทด้านวิศวกรรมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาตรฐานบางประการของ Apple 

ขณะที่อินเทล (Intel Corp.) ผู้ผลิตชิปเซ็ตรายใหญ่เบอร์หนึ่งของโลก ประกาศแผนปลดพนักงานพร้อมชะลอการลงทุนในโรงงานใหม่ ตั้งเป้าประหยัดงบประมาณให้ได้อย่างน้อย 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า ผู้ผลิตชิปกล่าวว่า ความหวังคือการประหยัดเงินให้ได้มากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 โดยมีรายงานก่อนหน้านี้ อินเทลอาจลดจำนวนพนักงานถึงหลักพันคน  

ถึงจุดนี้อาจคิดว่าเป็นเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันหรือไม่ ที่มีการเลย์ออฟพนักงานซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ผันผวน  

อันที่จริงหาย้อนไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน คงจำกันได้กับการที่กลุ่ม Sea บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee ก็ประการปลดพนักงานทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยรายงานข่าวของบลูมเบิร์กระบุว่า บริษัทแม่ของ Shopee ทำการปลดพนักงานแล้วกว่า 7,000 ตำแหน่งในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4qOOYYzElfxup7GW5bLxpO/4360680b3bd27f6f5f1137d4a17fc616/from-Meta-to-Amazon-did-tech-companies-going-to-bubble-bursts-SPACEBAR-Photo02
Photo: ป้ายประกาศจ้างพนักงานใหม่ในภาคบริการ ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐฯ (Photo: MARIO TAMA / Getty Images via AFP)

บิ๊กเทคขาลง? 

กรณีของกลุ่ม Sea ยักษ์ใหญ่ด้านเกมและค้าปลีกออนไลน์ มีรายงานว่าสูญเสียมูลค่าตลาดเกือบ 90% ตั้งแต่เคยแตะระดับสูงสุดในปีที่แล้ว จากความคลุมเครือของโอกาสในการขยายตลาดในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูง เงินเฟ้อสูง และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดอีคอมเมิร์ซ ทำให้บริษัทต้องจำเป็นลดสัดส่วนหรือถอนธุรกิจบางส่วนจากการดำเนินกิจการในยุโรปและละตินอเมริกาบางประเทศเพื่อลดค่าใช้จ่าย  

สอดคล้องกับบิ๊กอีคอมเมิร์ซอีกรายอย่าง Amazon ที่ยอมรับว่า บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณของภาคครัวเรือนที่เริ่มรัดเข็มขัดกันมากขึ้นเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงาน นั่นทำให้ยอดขายของ Amazon ชะลอตัว สงผลให้บริษัทต้องระงับการจ้างงานเพื่อรับมือการวิกฤต  

จะเห็นได้ว่ามาตรการการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นกับทุกบริษัทเทคที่มีข่าวเลย์ออฟคน  

หากพิจารณาการดำเนินธุรกิจของ Amazon ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 จะพบว่า นักวิเคราะห์หลายคนมองทิศทางบริษัทอีคอมเมิร์ซในภาวะสดใส จากการที่หลายธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมมุ่งสู่ระบบอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มไอทีมากขึ้น ช่วงปี 2020 - 2022 จะเห็นได้ว่าบรรดาบริษัทเทคหลายแห่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการประกาศการจ้างงานหลายตำแหน่ง ลงทุนขยายคลังสินค้าในหลายแห่ง  

ทว่าทุกอย่างกลับตาลปัตรเมื่อช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ที่สัญญาณหลายประการเริ่มชี้ให้เห็นถึงความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากคำสั่งซื้อออนไลน์ที่พุ่งสูงขึ้นช่วงการระบาด แต่ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตทำกิจกรรมปกติเหมือนก่อนระบาด อีกทั้งต้นทุนด้านการขนส่งที่สูงขึ้นจากราคาพลังาน นั่นทำให้ผลประกอบการของบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ไม่ได้สดใสสวยงามเหมือนที่เคยวาดฝันกันไว้เมื่อต้นปี
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7bvWvBkQrqlOfY3E85vrv1/2c417cbdbbbed0dc098ca1f7a0f46b1c/from-Meta-to-Amazon-did-tech-companies-going-to-bubble-bursts-SPACEBAR-Photo03
Photo: ภาพชุดแสดงโลโก้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้ง Facebook, Google, Apple และ Amazon (Photo: LOIC VENANCE, JOSH EDELSON, STR, EMMANUEL DUNAND)
รายงานจาก The Wall Street Journal ระบุว่า ในช่วงก่อนโควิดเพียงไม่กี่ปี เราได้เห็นบรรดาบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพิ่มเม็ดเงินลงทุนและระดมการจ้างงานอย่างรวดเร็วกว่าในหลายอุตสาหกรรมเหล่านี้คลายกับภาวะ 'ฟองสบู่' ในวงการเทค แม้หลังการระบาดโลกจะเริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวหลายประการ แต่อัตราเงินเฟ้อและความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสงคราม ราคาพลังงาน ตลอดจนเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอย นั่นเป็นคำตอบหนึ่งที่ว่าเหตุใดภาคธุรกิจเทคโนโลยีที่เคยร้อนแรง จึงชะลอตัวจนส่งผลกระทบต่อการเลย์ออฟจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม หากเทียบสัดส่วนการเลย์ออฟในภาคธุรกิจเทคโนโลยีแล้ว ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่น้อยหากเทียบกับการจ้างงานในสัดส่วนภาคธุรกิจอื่นของสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงราวไม่ถึง 5% ของแรงงานที่ว่างงานทั้งหมด โดยตัวเลขการจ้างงานจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ชี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 2.6 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาดที่ 2.0 แสนตำแหน่ง สะท้อนตลาดแรงงานที่ค่อยฟื้นตัวเป็นค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะภาคบริการที่ยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากการกลับมาเปิดเมืองมากขึ้นหลังการระบาด โดยภาคส่วนบริการที่จ้างงานมากที่สุดเป็นกลุ่มบริการสุขภาพ งานบริหาร และการบริการเฉพาะทาง  

Rucha Vankudre นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Lightcast บริษัทวิเคราะห์ตลาดแรงงาน ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า การเลิกจ้างในบริษัทเทคขนาดใหญ่ไม่ได้สะท้อนทิศทางขาลงหรือวิกฤตแต่อย่างใด แต่เป็นสัญญาณที่บรรดาบริษัทเทคทราบถึงการจ้างงานที่มากเกินไปของพวกเขา หลายบริษัทเมื่อเห็นต้นทุนสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะถดถอย ก็พยายามหาวิธีการลดต้นทุน แต่โดยรวมแล้วตลาดงานสำหรับผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยียังคงเป็นสาขาแห่งอนาคต  

โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้จะเริ่มมีกระแสข่าวเลย์ออฟ แต่อัตราการว่างงานสำหรับสายงานด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.3% ตามข้อมูลของ Computing Technology Industry Association ซึ่งต่ำกว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ 3.7% ในเดือนนั้น ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานในอดีต มีพนักงานด้านเทคโนโลยีประมาณ 8.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ตามตัวเลขของ CompTIA ที่เปิดเผยเมื่อต้นปีนี้ 

อย่างน้อยที่สุด การปลดพนักงานบางส่วนไม่ใช่อาการของการพลิกผันครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจ และเป็นการตอบสนองต่อการจ้างงานมากเกินไปของบริษัทเทคโนโลยีในช่วงที่บริษัทเทคโนโลยีเฟื่องฟูอย่างไม่คาดคิดในช่วงการระบาด ใหญ่ของโควิด-19 มากกว่า ซึ่งเป็นการเติบโตในระยะสั้นที่เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟูแบบไม่ปกติเพราะการระบาด ซึ่งหลังจากนี้สะท้อนว่าบริษัทเทคหลายแห่งจะปรับตัวที่เปลี่ยนจากที่เน้นการเติบโตเชิงรายได้ ไปเป็นการเติบโตเชิงคุณค่า (Value) มากขึ้น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์