‘พลังงานลม-แสงอาทิตย์’ โฟกัสใหม่ลดโลกร้อนกลุ่มจี7

20 เมษายน 2566 - 06:04

G7-attempts-accelerate-energy-transition-with-big-solar-and-wind-promise-SPACEBAR-Thumbnail
  • กลุ่มจี7 ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากลมอีก 150 กิกะวัตต์ และพลังงานจากแสงอาทิตย์มากกว่า 1 เทระวัตต์ ภายในปี 2030

  • ลาวพร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานลม เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งทรัพยากรน้ำมากเกินไป

  • กระแสไฟฟ้าที่ผลิตในลาว 80% จำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศไทยและเวียดนาม

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุทั่วถึงทุกจังหวัดในประเทศไทยในขณะนี้ ในอีกซีกโลก กลุ่มประเทศรายได้สูง จี7 ก็มีฉันทามติกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ โดยตกลงกันว่าจะเร่งมือพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด และลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดโลกร้อน 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลุ่ม จี7 ซึ่งร่วมประชุมกันที่ญี่ปุ่น ยังไม่ร่วมสนับสนุนการกำหนดเส้นตายในปี 2030 เพื่อเลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินทั้งหมดตามที่แคนาดาและสมาชิกอื่นๆ เสนอมา ทั้งยังเปิดโอกาสสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานได้ 

การประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม จี7 ในวาระเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและสภาพภูมิอากาศ จัดขึ้นที่เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลานานสองวัน สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ (16 เม.ย.) ที่ประชุมได้หารือกันเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนสืบเนื่องจากสงครามในยูเครน 

ยาสึโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ระบุว่า “ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเห็นพ้องกันในเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องมีมาตรการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมกัน ขณะที่มีหลายแนวทางในการบรรลุเป้าหมายเรื่องการไม่ก่อก๊าซคาร์บอนเพิ่ม เราได้เห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญว่าด้วยการกำหนดเป้าหมายนั้นภายในปี 2050” 

ในแถลงการณ์ร่วมของการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกจี7 ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากลมนอกชายฝั่งอีก 150 กิกะวัตต์ และพลังงานจากแสงอาทิตย์มากกว่า 1 เทระวัตต์ ภายในปี 2030 รวมทั้งเร่งลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ลงไปอยู่ที่ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 

ในส่วนของแคนาดายังคงยึดมั่นกับข้อเสนอที่ให้ประเทศสมาชิกจี7 เลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งอังกฤษและบางประเทศก็เห็นพ้องด้วยในขณะที่ประเทศอื่นกำลังพยายามขบคิดแนวทางเดินหน้าตามเป้าหมายดังกล่าวภายใต้เงื่อนเวลาที่วางไว้เช่นกัน 

การประชุมเรื่องนี้ของกลุ่มจี7 มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่ประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลาว ประกาศความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานลม เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งทรัพยากรน้ำมากเกินไป เนื่องจากแหล่งน้ำมักประสบภาวะขาดแคลนในหน้าแล้ง 

ในพื้นที่ห่างไกลของหุบเขาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของลาว ที่มีประชากรไม่มาก มีฟาร์มกังหันลมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งเริ่มดำเนินงานในปี 2025 เป็นโครงการร่วมทุนของหลายบริษัทรวมถึงมิตซูบิชิ คอร์ป ของญี่ปุ่น บริษัทบีซีพีจี บริษัทลูกด้านพลังงานหมุนเวียนของบางจาก บริษัทกลั่นน้ำมันของไทย และบริษัทอื่นๆ 

เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้น ฟาร์มกังหันลมแห่งนี้ ซึ่งกินพื้นที่ทั้งหมด 70,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 437,500 ไร่ จะมีกังหันลมทั้งสิ้น 133 ต้น มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ ถือเป็นหนึ่งในฟาร์มกังหันลมบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนผลผลิตไฟฟ้าเมื่อผลิตออกมาแล้ว จะจัดจำหน่ายให้กับบริษัทพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลเวียดนามเป็นเวลา 25 ปี 

อย่างไรก็ตาม ฟาร์มกังหันลมแห่งนี้ไม่ใช่โครงการพลังงานลมเพียงแห่งเดียวในลาว ประเทศที่ขนานนามตนเองว่าเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และมีนโยบายพลังงานที่มุ่งเน้นผลิตเพื่อส่งออก แต่ยังมีข้อเสนอโครงการฟาร์มกังหันลมของบริษัทเวียดนามกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งแต่เดือน ธ.ค. และมีอย่างน้อยอีก 10 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการวางแผนโครงการทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ ลาวยังเริ่มส่งออกพลังงานไฟฟ้าให้กับสิงคโปร์เมื่อปี 2022 และเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการส่งกระแสไฟฟ้าเมื่อเดือน ม.ค. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกัมพูชา 

กระแสไฟฟ้าที่ผลิตในลาวประมาณ 80% จำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศไทยและเวียดนาม และรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าคิดเป็น 30% ของมูลค่าการส่งออก และเนื่องจากที่ดินประมาณ 70% ในลาว เป็นภูเขาและที่ราบสูง ทำให้หลายพื้นที่เหมาะแก่การสร้างเขื่อน กระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของลาว จึงมีสัดส่วน 70% ของการผลิตไฟฟ้าโดยรวมในประเทศ 

แต่ผลผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมักลดลงในหน้าแล้ง เนื่องจากจีนควบคุมส่วนต้นน้ำ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการทำเกษตรและประมงของลาว 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศในยุโรปและประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย รวมถึงประเทศเล็กๆ อย่างลาวหันมาพึ่งพาพลังงานจากลม ในฐานะเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มาก ที่สำคัญการผลิตพลังงานลมสามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว โดยฟาร์มกังหันลมสามารถสร้างเสร็จภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยใช้รถเครนติดตั้งหอคอยของกังหันลม ส่วนเชื่อมต่อกับปีกหมุน และใบพัดเหนือฐานคอนกรีต 

เมื่อเทียบกันแล้ว ด้วยเงินลงทุนที่เท่ากัน พลังงานลมสร้างพลังงานงานมากกว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 5 เท่า และผลิตพลังงานได้มากกว่า 2.3 เท่าเลยทีเดียว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์