‘PM 2.5 ฝุ่นจิ๋วตัวร้าย’ สลายด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำจริงหรือเป็นเพียงหนึ่งวิธีหันหลังให้ ‘ต้นตอ’ มลพิษ?

8 มีนาคม 2566 - 09:41

Giant-water-cannon-wont-kill-smog-SPACEBAR-Hero
  • ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยยืนยันว่าการฉีดพ่นละอองน้ำอย่างที่ทางการของไทยกำลังทำกันอยู่นี้ไม่ช่วยลดฝุ่น PM 2.5

  • นักวิจัยพบว่าการฉีดพ่นน้ำประปาหรือน้ำในแม่น้ำปริมาณมากบนถนนทำให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 และความชื้นเพิ่มขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยฟันธง ‘การฉีดพ่นละอองน้ำ’ วิธียอดฮิตโดยเฉพาะในไทย ที่ถูกนำมาใช้ต่อสู้กับหมอกควันที่เป็นมิลพิษ ไร้ประสิทธิภาพ และถูกนำมาใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ‘ต้นตอ’ ของมลพิษ แถมยังทำให้มลพิษเพิ่มขึ้นแทนที่จะช่วยบรรเทาปัญหา 

เรากำลังหันหลังให้ ‘ต้นตอ’ ของฝุ่นอยู่หรือเปล่า?  

เมื่อหลายปีก่อนประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นควัน ไม่ต่างไปจากประเทศไทย หมอกควันที่พัดพามาตามฤดูกาลปกคลุมเมืองต่างๆ ของจีน ทำให้ต้องแจ้งเตือนระดับ ‘สีแดง’ (อันตรายต่อทุกคน และทุกวัย) ในกรุงปกกิ่ง และทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นในจีนได้ติดตั้ง ‘ปืนพ่นหมอก’ เพื่อพยายามกำจัดฝุ่นพิษนี้ให้ออกไปจากอากาศ  

ภาพของปืนฉีดน้ำที่มีความยาวราวๆ 3 – 4 เมตร ที่ถูกเผยแพร่โดยสื่อของรัฐจีน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขวิกฤตด้านสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนจากหมอกควันที่เกิดจากโรงงานถ่านหิน และเหล็ก แม้ฃบรรดาผู้เชี่ยวชาญจะมองว่าสิ่งนี้ไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นการหันหลังให้กับต้นตอการเกิดมลพิษมากกว่า 

กระบวนการทำงานของ ‘ปืนพ่นหมอก’ จะทำงานโดยพ่นละอองน้ำออกไปในอากาศ แต่นักวิทยาศาสตร์ออกมาโต้แย้งว่า ปืนพ่นหมอกนี้ไม่สามารถต่อสู้กับอนุภาคฝุ่นที่มีขนาดเล็กและอันตรายได้  โดยปืนดังกล่าวถูกติดตั้งบนรถบรรทุกเคลื่อนที่ ที่มีมูลค่าประมาณ 90,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านบาท) ต่อ 1 เครื่อง  

ชุยเสิ้ง  นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองเจิงโจวตอนกลางของจีน อ้างว่า รถฉีดพ่นละอองน้ำจะแทรกแซงการอ่านข้อมูลมลพิษทางอากาศ เมื่อใช้งานใกล้กับสถานีตรวจวัด และจะทำให้ค่ามลพิษดูดีกว่าปกติ 

นอกจากนี้ยังมี ‘เครื่องดูดควันพิเศษ’ ที่ใช้สำหรับการปรับปรุงคุณภาพอากาศ แม้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใด ในส่วนของวิธีที่นิยมใช้กันจะเป็นการกำจัดฝุ่นควันแบบเปียก หรือเรียกง่ายๆ ว่าฉีดน้ำใส่มันเข้าไปเลย แต่การวิจัยแสดงให้เห็นแล้วว่าวิธีดังกล่าวจะดักจับอนุภาคฝุ่นที่ใหญ่กว่า PM 2.5 เพราะเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้มีขนาดเล็กเกินกว่าที่ละอองน้ำจะดักจับได้  

ชาง หยวนซุน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แสดงความกังวลว่า อนุภาคบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับน้ำและขยายตัวขึ้น ซึ่งการติดตั้งปืนพ่นหมอกในเมืองต่างๆ ของจีน ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งมันแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่หาได้ยากอยู่แล้ว ขณะที่การต่อสู้กับมลพิษที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการจำกัดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3j9YI0VGe4ZhjhqCDCofw2/3f39ee26050987a871ad6dfadad102f1/Giant-water-cannon-wont-kill-smog-SPACEBAR-Photo01
Photo: Arun SANKAR / AFP

‘ปืนพ่นหมอก ไม่สามารถกำจัดหมอกควันได้จริงๆ หรอก’

หน่วยงานรัฐบาลในเมืองซีอาน มณฑลส่านซี ลงทุนเกือบหนึ่งล้านหยวน (ราว 5.6 ล้านบาท) ไปกับปืนพ่นหมอกซึ่งออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับมลพิษในเมือง แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปืนพ่นหมอกขนาดยักษ์นี้ช่วยลดความหนาแน่นของ PM 2.5 ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่สำนักข่าวของจีนรายงานด้วยว่า ปืนนี้เป็นตัวการที่สำคัญที่สุดในการเกิดหมอกควันในเมือง 

สำนักงานสวนสาธารณะและป่าไม้ในเขตซินเฉิงของเมืองได้ซื้อปืนดังกล่าวจากผู้ผลิต เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในกว่างโจว โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 900,000 หยวน หรือราว 4.5 ล้านบาท  

ปืนพ่นหมอกขนาด 10 ตัน สามารถพ่นน้ำได้ไกลถึง 600 เมตร และสูง 70 เมตร น้ำจะพุ่งขึ้นเป็นละอองเล็กๆ และเกาะติดกับฝุ่นเพื่อสร้างอนุภาคขนาดใหญ่ขึ้น และจะตกลงสู่พื้นผิวภายใต้แรงโน้มถ่วง 

ด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความพยายามในการต่อสู้กับฝุ่นในซีอาน ปืนนี้สามารถช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ปันเสี่ยวชวน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวว่า บทบาทของปืนในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น แม้ว่าปืนจะสามารถลดมลพิษโดยรอบได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากฉีดน้ำ แต่ผลของมันจะอยู่ได้ไม่นาน ปืนนี้มีประสิทธิภาพในการควบคุมฝุ่นจากสถานที่ก่อสร้าง แต่ก็ไม่มีประโยชน์ในการต่อสู้กับอนุภาคขนาดเล็กอย่าง PM 2.5  

“อนุภาคละเอียดเช่น PM 2.5 สามารถก่อตัวเป็นชั้นมลภาวะซึ่งสูงกว่า 200 เมตรเหนือพื้นดิน” ปันเสี่ยวชวนกล่าวและเสริมว่า ขณะที่แหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญในซีอานคือการเผาไหม้ถ่านหิน มลพิษจากยานพาหนะ และมลพิษจากอุตสาหกรรม ไม่ใช่ฝุ่น  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6SGkTOgAYBtirEnOQ6lzBJ/706ee378a5947b313a7d8638c93013b6/Giant-water-cannon-wont-kill-smog-SPACEBAR-Photo02
Photo: Arun SANKAR / AFP

อินเดียก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน 

เดลีเมืองหลวงของอินเดีย ก็ประสบปัญหามลพิษปกคลุมทั่วเมืองเช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลเดลีเองก็ได้ใช้ ‘ปืนพ่นหมอก’ ที่อนันด์วิหาร์ (Anand Vihar) เมืองที่มีมลพิษสูง และมีประชากรหนาแน่นที่สุดในอินเดีย ทว่ามันกลับได้ผลน้อยมากๆ แถมยังเพิ่มขึ้นทุกๆ ชั่วโมงอีกต่างหาก  

ปืนดังกล่าวจะพ่นละอองน้ำ (หยดน้ำเล็กๆ) ขึ้นไปที่ความสูง 50 เมตร ทำให้เกิดหมอกเทียม ซึ่งคาดว่าจะเกาะกับมลพิษในอากาศและพัดพาลงมายังพื้นดิน อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของ PM 2.5 กลับพุ่งสูงขึ้น ณ บริเวณสถานีตรวจวัดอนันด์ราห์ ซึ่งเป็นสถานีตรวจสอบของคณะกรรมการควบคุมมลพิษเดลี (DPCC) ภายในเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากการทดลองเริ่มขึ้น  

ค่า PM 2.5 ที่อ่านได้รายชั่วโมงคือ 444, 421, 476, 509 และ 460 ระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 14.00 น. ในขณะที่ค่า PM10 ที่อ่านได้คือ 630, 608, 736, 842 และ 702 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ug/m3 ). 

ที่น่าสนใจคือ ระดับมลพิษไม่ลดลงแม้ว่าการพ่นน้ำจากปืนพ่นหมอกจะอยู่บริเวณสถานีตรวจสอบของ DPCC เป็นส่วนใหญ่ 

วิเวก ฉัตตโภทัย ผู้จัดการโครงการ Clean Air and Sustainable Mobility กล่าวว่า ผลกระทบของอุปกรณ์ดังกล่าวถูกจำกัดด้วยพื้นที่และเวลา อุปกรณ์ดังกล่าวมีข้อจำกัดมาก อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อปริมาณอากาศในบริเวณโดยรอบบริเวณที่ทำการฉีดพ่น ซึ่งผลกระทบจะลดลงหลังจากหยุดฉีดพ่น แทนที่จะระดมทรัพยากรเพื่อจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษโดยใช้มาตรการเล็กน้อยแต่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การป้องกันการเผาขยะในที่โล่ง และการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ของสถานที่ฝังกลบ 

การพ่นน้ำ นอกจากจะไม่ลด ยัง ‘เพิ่ม’ มลพิษมากขึ้นไปอีก  

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของสหัฐฯ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ National Library of Medicine ที่ระบุว่า การพ่นน้ำบนถนนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศแทนที่จะช่วยแก้ปัญหา 

งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า การฉีดพ่นถนนด้วยน้ำปริมาณมากในเมืองต่างๆ เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันเพิ่มเติมหรือการดำเนินการบรรเทาผลกระทบที่ดำเนินการเพื่อควบคุมเหตุการณ์มลพิษทางอากาศที่รุนแรง หรือเหตุการณ์หมอกควันหนาทึบ ซึ่งกลไกที่ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เหตุการณ์มลพิษทางอากาศเหล่านี้มักเกิดจากความชื้นในอากาศที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงอาจมีความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำนี้กับมลพิษทางอากาศ  

ในการศึกษาปัจจุบัน ผลกระทบของการฉีดพ่นน้ำต่อความเข้มข้นของ PM 2.5 และความชื้นในอากาศได้รับการประเมินโดยการวัดองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ เมื่อทำการทดลองฉีดพ่นน้ำจำลอง การวัดสารตกค้างและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  

นักวิจัยพบว่าการฉีดพ่นน้ำประปาหรือน้ำในแม่น้ำปริมาณมากบนถนนทำให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 และความชื้นเพิ่มขึ้น และการฉีดพ่นอย่างต่อเนื่องทุกวันก่อให้เกิดผลสะสมต่อมลพิษทางอากาศ ขณะที่การฉีดพ่นน้ำในปริมาณที่เท่ากันจะทำให้ความชื้นและความเข้มข้นของ PM 2.5 เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นมากกว่าในช่วงฤดูร้อน  

ผลลัพธ์ของงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า การฉีดพ่นถนนด้วยน้ำจะเพิ่มความเข้มข้นของ PM 2.5 แทนที่จะลดลง และด้วยเหตุนี้จึงเป็นแหล่งใหม่ของละอองลอยและมลพิษทางอากาศ ปริมาณไอระเหยที่สูงขึ้นและความชื้นที่เป็นผลทำให้เกิดสภาวะทางอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์