กางตำรา! จีนทำอย่างไรถึงเอาชนะ PM 2.5 ที่เคยหนาเหมือนฝุ่นกรุงเทพฯ ตอนนี้

3 ก.พ. 2566 - 10:04

  • จีนประกาศสงครามกับฝุ่นอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2013

  • แผนปฏิบัติการด้านมลพิษทางอากาศปี 2013 กลายเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลมากที่สุดของจีน ที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศระหว่างปี 2013-2017 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • หากปราศจากการลดมลพิษลงของจีน ระดับมลพิษเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ปี 2013 แทนที่จะลดลง

How-China-Winning-Battle-Against-Air-Pollution-pm-2.5-SPACEBAR-Thumbnail
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้กลับมารุนแรงอีกครั้งแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศไทยและหนักถึงขั้นระดับสีแดงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ขณะเดียวกันค่าฝุ่นในหลายเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ก็เกินมาตรฐานขนาดที่ว่าควรงดกิจกรรมทางแจ้งไปเลยทีเดียว นอกจากนี้ โรงเรียนบางแห่งยังประกาศปิดเรียนชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ เพื่อหนีฝุ่นพิษอีกด้วย 

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะหาทางแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า PM 2.5 ก็ยังคงตามกวนใจไม่เลิกแถมยังหนักมากขึ้นทุกที 

ทว่า หากมองย้อนดูมหาอำนาจอย่างประเทศจีนที่เคยประสบภัยกับฝุ่นพิษที่หนักมากๆ มาแล้ว เพราะในแต่ละปีมีคนมากกว่า 1 ล้านคนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศในจีน แต่ขณะนี้จีนกำลังต่อสู้กับการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ  

ในประเทศจีนทุกวันนี้ มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 1.1 ล้านคนต่อปี โดยเมืองถังชานได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดอันดับ 6 ของประเทศ เนื่องจากควันถ่านหินจากโรงงานและโรงไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ลอยไปทางปักกิ่งจึงมีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและฝุ่นหนาปกคลุมเมืองหลวง 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 ในการประชุมประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้ประกาศต่อสู้กับมลพิษทางอากาศในจีน โดยปฏิญาณว่า ‘จะทำให้ท้องฟ้าของเราเป็นสีฟ้าอีกครั้ง’ ซึ่งหลักการของ หลี่ในเวลานั้นก็คือ ลดการผลิตเหล็กและไฟฟ้าจากถ่านหิน และลงทุนพลังงานลม รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ประโยชน์ที่ได้รับไม่ใช่แค่เมืองถังชานเท่านั้น แต่มันอาจจะเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะจีนขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก 

เมื่อปีที่แล้ว (2022) มีรายงานว่า จีนสามารถลดระดับหมอกควันทั่วโลกโดยเฉลี่ยและลดมลพิษทางอากาศภายใน 7 ปีได้เท่าๆ กับที่สหรัฐฯ เคยลดมลพิษได้ 44% ในรอบ 3 ทศวรรษนับจากปี 1970  

ตามข้อมูลของสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ระบุว่า ปริมาณฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายในอากาศที่จีนลดลงถึง 40% จากปี 2013-2020 แม้ว่าหมอกควันในพื้นที่ขนาดใหญ่ของประเทศยังคงเกินระดับที่ปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ แต่จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นแล้วว่าจีนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วเพียงใด  

“ความสำเร็จของจีนในการลดมลพิษเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงโอกาสที่ประเทศอื่นๆ อาจรออยู่ข้างหน้า หากพวกเขากำหนดนโยบายมลพิษที่เข้มงวด อย่างที่บางประเทศกำลังเริ่มทำ” นักวิจัยกล่าว 

จีนแก้ปัญหาฝุ่นพิษอย่างไร? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/zpCrGp3uPwJge5wEpn56V/de0154ef579b330b4002885f0c6f330c/How-China-Winning-Battle-Against-Air-Pollution-pm-2.5-SPACEBAR-Photo01
Photo: NICOLAS ASFOURI / AFP
หลังจากที่จีนประสบกับ ‘มลพิษทางอากาศ’ ครั้งใหญ่ของปักกิ่งซึ่งจุดประกายความโกรธและความคับข้องใจในหมู่ประชาชน ทางการจีนจึงเริ่มทำความสะอาดคุณภาพอากาศในเมือง ด้วยการลดกำลังการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งเก่าและใหม่จำนวนหนึ่งในภูมิภาคที่มีมลพิษมากที่สุด รวมถึงกลุ่มเมืองปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและแยงซี  

เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และกวางโจว ก็ออกมาตรการจำกัดจำนวนรถยนต์บนถนนและแนะนำให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารไฟฟ้าทั้งหมด  

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการปลูกป่าและปลูกป่าเชิงรุก เช่น กำแพงสีเขียว และปลูกต้นไม้มากกว่า 3.5 หมื่นล้านต้นใน 12 จังหวัด ด้วยการลงทุนกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ พบว่าค่าใช้จ่ายด้านป่าไม้ต่อเฮกตาร์ของจีนนั้นสูงกว่าสหรัฐฯ และยุโรปอีกด้วย 

แผนปฏิบัติการด้านมลพิษทางอากาศที่เผยแพร่ในเดือนกันยายน 2013 กลายเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลมากที่สุดของจีน ซึ่งช่วยให้ประเทศปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างมีนัยสำคัญระหว่างปี 2013-2017  

แผนดังกล่าวนี้ช่วยลดระดับ PM 2.5 ลงถึง 33% ในปักกิ่งจาก 89.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงเหลือ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และลดลงถึง 15% ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล แต่ในปี 2017 มีเพียง 107 เมืองจาก 338 เมืองของจีนในระดับจังหวัดเท่านั้นที่มีค่าฝุ่นมาตรฐานชั่วคราวของ WHO ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ส่วนการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศระยะที่ 2 ในปี 2018 จีนได้ใช้แผนปฏิบัติการ 3 ปี (2018-2020) ในโครงการ ‘The Blue Sky War’ เพื่อเอาชนะฝุ่นพิษและทำให้ท้องฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าอีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี แผนฏิบัติการระยะแรกในปี 2013 นั้นคลอบคลุมพื้นที่แค่เมืองปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและแยงซีเท่านั้น แต่ในแผนปฏิบัติการใหม่ในระยะที่ 2 นี้มีผลบังคับใช้กับทุกเมืองในจีน 

ก้าวแรกของความสำเร็จกับโปรเจกต์กำจัดฝุ่นพิษ 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5Sh6YGT3U8pNwJV4XG3u4x/84d863412502ef977a0904860a2ba2f5/How-China-Winning-Battle-Against-Air-Pollution-pm-2.5-SPACEBAR-Photo02
Photo: Nicolas ASFOURI / AFP
หลังปฏิการกำจัดฝุ่นพิษระยะที่ 2 พบว่า คุณภาพอากาศเหนือเมืองใหญ่ๆ ของจีนดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2020 ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทำให้ทั้งประเทศเริ่มดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางอุตสาหกรรมไปในทางที่ดี เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ทั้งยังทำให้คุณภาพอากาศในเมืองอู่ฮั่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และบริเวณภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีดีขึ้นด้วย  

ขณะที่ระดับมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ๆ ของจีนช่วงเปลี่ยนศตวรรษนี้เกือบจะเท่ากับระดับมลพิษในลอนดอนช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 1890 แต่ทว่าประเทศจีนกลับทำความสะอาดอากาศได้อย่างรวดเร็วเป็น 2 เท่าของสหราชอาณาจักร หลังเกิดเหตุหมอกปนควันครั้งใหญ่ของลอนดอน (The Great Smog of London) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปราว 8,000 ราย 

ทั้งนี้ การวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศของจีนทำให้ประชาชนทั่วไปคาดหวังที่จะมีชีวิตยืนยาวขึ้นโดยเฉลี่ย 2.4 ปี หากมลพิษทางอากาศยังคงลดลงต่อเนื่อง 

นักวิจัยระบุว่าประมาณ 97% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศมักจะแย่กว่าแนวทางขององค์การอนามัยโลก หมอกควันทำให้อายุขัยของคนทั่วโลกลดลงมากกว่าการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือสุขอนามัยที่ไม่ดี 

หากปราศจากการลดมลพิษลงของจีน ระดับมลพิษเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ปี 2013 แทนที่จะลดลง นักวิจัยกล่าวว่า “นั่นเป็นเพราะคุณภาพอากาศที่แย่ลงในประเทศอุตสาหกรรมในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกากลาง กัมพูชาและไทยต่างก็มีมลพิษเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในปี 2020 ในขณะเดียวกัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวันดา และบุรุนดีก็กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก 

คริสตา ฮาเซนคอฟ ผู้อำนวยการโครงการคุณภาพอากาศแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขซึ่งต้องใช้เวลาลงทุนนานหลายสิบปีจึงจะเห็นความก้าวหน้าอย่างแท้จริง…ภาวะด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศในเอเชียใต้นั้นน่าตกใจมาก” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์