บังกลาเทศผุดไอเดียเจ๋งแรงบันดาลใจจาก ‘รถตุ๊กตุ๊ก’ สู่ ‘โรงไฟฟ้าเสมือนจริง’ ไทยเอาบ้างไหม?

11 เมษายน 2566 - 09:40

How-electric-tuk-tuks-become-virtual-power-plant-bangladesh-SPACEBAR-Thumbnail
  • แรงบันดาลใจจาก ‘รถตุ๊กตุ๊ก’ สู่ ‘โรงไฟฟ้าเสมือนจริง’ ของบังกลาเทศ พวกเขาทำได้อย่างไร?

  • จากประเทศที่เคยขาดแคลนไร้แสงไฟเมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้พวกเขากำลังจะกลับมามีพลังงานไฟฟ้าใช้อีกครั้งแบบไม่ต้องร้องขอ

แรงบันดาลใจจาก ‘รถตุ๊กตุ๊ก’ สู่ ‘โรงไฟฟ้าเสมือนจริง’

เมื่อพูดถึงรถตุ๊กตุ๊ก แน่นอนว่าหลายคนจะต้องนึกถึงประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียวล่ะ ถึงขนาดที่ว่าใครที่มาเยือนแล้วไม่ได้นั่งตุ๊กตุ๊กก็เท่ากับว่ามาไม่ถึงไทย แล้วรู้หรือไม่ว่าประเทศอื่นๆ ก็มีรถโดยสารที่คล้ายตุ๊กตุ๊กด้วยเหมือนกัน  

ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเรื่องที่น่าประหลาดใจสำหรับตุ๊กตุ๊กที่แล่นผ่านไปผ่านมาในใจกลางกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ เมื่อ SOLshare สตาร์ทอัพด้านพลังงานรายหนึ่งจากบังกลาเทศได้มองเห็นโอกาสปิ๊งไอเดียโดยวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าประมาณ 2.5 ล้านคันในประเทศ และเปลี่ยนให้เป็น ‘โรงไฟฟ้าเสมือนจริง’ 

“เมื่อรถตุ๊กตุ๊กกลับไปที่โรงรถในตอนกลางคืน ซึ่งมักจะเหลือแบตเตอรี่ไฟฟ้าอยู่ราว 30% หากว่าเราป้อนพลังงานกลับเข้าสู่กริดไฟฟ้าได้ นั่นคงจะน่าทึ่งมาก” ซัลมา อิสลาม หัวหน้าโครงการของ SOLshare กล่าว 

SOLshare ทราบแน่ชัดว่ารถตุ๊กตุ๊กเหล่านี้มีไฟฟ้าเหลืออยู่เท่าใด เนื่องจากพวกเขาได้ทำงานร่วมกับอู่ซ่อมรถในท้องถิ่นเพื่ออัปเกรดแบตเตอรี่ตะกั่วกรด (lead-acid batteries) แบบดั้งเดิมให้เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอัจฉริยะ (แบตเตอรี่ชาร์จซ้ำได้)  

ในขั้นต้นทาง SOLshare ระบุว่า ไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในแบตเตอรี่เหล่านี้สามารถให้พลังงานได้มากถึง 20% ของประเทศเมื่อมีความต้องการสูงสุด โดย SOLshare หวังว่าแหล่งจ่ายไฟแบบเคลื่อนที่นี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพของกริดพลังงานของบังกลาเทศ และช่วยไขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ 

“ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน และเมื่อการดำรงชีวิตของผู้คนดีขึ้น ความต้องการพลังงานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน” อิสลามกล่าว 

ไอเดียสุดเจ๋งนำไปสู่โปรเจกต์ระดับประเทศ

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6oqsXeCOJj5eOeqI46kaU1/100e769f651906721a98e2d1abec48e6/How-electric-tuk-tuks-become-virtual-power-plant-bangladesh-SPACEBAR-Photo01
Photo: SOLshare
SOLshare เปิดตัวโครงการนำร่อง EV (ยานยนต์ไฟฟ้า) ที่เรียกว่า ‘SOLmobility’ ในปี 2021 โดยร่วมมือกับอู่รถตุ๊กตุ๊ก 15 แห่งเพื่ออัปเกรดแบตเตอรี่ของรถประมาณ 40 คัน และเริ่มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระยะทางและกิจกรรมของรถไฟฟ้าสามล้อ 

“แบตเตอรี่อัจฉริยะลิเธียมไอออนดังกล่าวใช้พลังงานน้อยกว่าแบตเตอรี่กรดตะกั่ว 40% ใช้เวลาชาร์จเพียง 6 ชั่วโมงซึ่งเร็วกว่าแบตเตอรี่กรดตะกั่วประมาณครึ่งหนึ่งเลย ทั้งยังเบากว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ตะกั่วกรด แต่แบตเตอรี่นี้มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าถึง 5 เท่า” อิสลามกล่าว 

มูฮัมหมัด เดลวาร์ ฮอสเซน ผู้ขับรถตุ๊กตุ๊กในย่านชานเมืองถงกีของกรุงธากามานานกว่าทศวรรษได้เริ่มใช้แบตเตอรี่อัจฉริยะ SOLshare เมื่อปีที่แล้ว (2022) กล่าวว่า “มันช่วยเพิ่มรายได้ต่อเดือนขึ้น 50% เพราะผมสามารถเดินทางได้มากขึ้นด้วยการชาร์จเพียงครั้งเดียว ผมรู้สึกว่าสุขภาพของผมดีขึ้นด้วยเพราะผมไม่ได้หายใจเอาควันพิษที่ปล่อยออกมาจากแบตเตอรี่กรดตะกั่วอีกต่อไป” 

แสงสว่างท่ามกลางความมืด

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/67I8707AQJzZCQfRk7GZx5/07173c663d9c21d26922bb42b9388035/How-electric-tuk-tuks-become-virtual-power-plant-bangladesh-SPACEBAR-Photo02
ทว่า SOLshare ไม่หยุดอยู่แค่รถตุ๊กตุ๊ก แต่พวกเขายังต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงภาคพลังงานทั้งหมดของบังกลาเทศอีกด้วย 

ในปี 2015 บริษัทได้เริ่มสร้างไมโครกริดที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบเพียร์ทูเพียร์ (peer-to-peer) ซึ่งช่วยให้ครัวเรือนที่ไม่มีแผงโซลาร์เซลล์สามารถซื้อพลังงานส่วนเกินจากคนอื่นๆ ในชุมชนโดยใช้ระบบเติมเงินมือถือแบบจ่ายเท่าที่ใช้ และปัจจุบันได้ติดตั้งไมโครกริดไปแล้วกว่า 118 แห่งทั่วประเทศ  

“นวัตกรรมของ SOLshare มาถึงช่วงเวลาสำคัญสำหรับภาคพลังงานของประเทศ…เราประสบความล้มเหลวของระบบส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่เมื่อฤดูร้อนที่แล้ว และนั่นเป็นสิ่งที่เปิดหูเปิดตาสำหรับทุกคน” อิสลามกล่าว 

เมื่อปีที่แล้วหลายๆ ประเทศต่างก็ขาดแคลนพลังงาน รวมถึงบังกลาเทศด้วยที่ต้องประสบกับปัญหาการปลดภาระงานบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของการบังคับไฟฟ้าดับที่ช่วยลดภาระบนโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟดับทั้งหมด จากนั้นในเดือนตุลาคม 2022 บังกลาเทศก็ประสบปัญหาไฟดับครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 8 ปี เมื่อโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติล้มเหลว และทำให้ผู้คน 96 ล้านคนต้องตกอยู่ในความมืดมิด 

นำไปสู่การปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/Mar1wWrnHthtzeCOl87lT/6c5761e1134a3816de1b1b898c55c03f/How-electric-tuk-tuks-become-virtual-power-plant-bangladesh-SPACEBAR-Photo03
บังกลาเทศไม่ใช่ประเทศเดียวที่ดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงาน การหยุดชะงักของการจัดหาน้ำมันและก๊าซตลอดปี 2022 ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานทั่วโลก และสิ่งนี้เองได้กระตุ้นการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน โดยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเติบโตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 30% จากปีที่แล้ว ซึ่งหลายๆ ภาคส่วนก็หวังว่าจะเร่งการขยายตัวของภาคส่วนพลังงานสีเขียว 

ขณะเดียวกัน SOLshare ก็กำลังดำเนินการอัปเกรดรถตุ๊กตุ๊กมากขึ้น เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับผู้ผลิตแบตเตอรี่เพื่อติดตั้งชิปดิจิทัลลงในแบตเตอรี่โดยตรง 

ทั้งนี้ อิสลามหวังว่าบริษัทจะกลายเป็น ‘ผู้ให้บริการสาธารณูปโภคเสมือนจริงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย’ ซึ่งเป็นต้นแบบที่สามารถมีบทบาทอย่างมากในประเทศอื่นๆ ที่มียานพาหนะสามล้อไฟฟ้าจำนวนมากอย่างในประเทศไทยและอินเดีย  

“เรากำลังใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายอำนาจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่โครงข่ายไฟฟ้าส่วนกลาง เท่าที่เราเห็น ถ้าเราทำได้ที่นี่ในบังกลาเทศ คุณก็ทำได้ทุกที่จริงๆ” อิสลามกล่าวทิ้งท้าย 

แล้วตุ๊กตุ๊กไทยของเราล่ะ? จะมีบริษัทลงทุนและเปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่อัจฉริยะแบบนี้บ้าง? คงจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งประหยัดเงินและพลังงาน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เพิ่มขึ้น และอาจช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้อีกนัยนึงด้วย ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันว่าในอนาคตเราคงได้เห็นตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในไทยที่มากขึ้นกว่าเดิม 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์