‘ร้อน’ จนอยู่ไม่ได้เป็นอย่างไร? อินเดียมีคำตอบ

31 มี.ค. 2566 - 07:13

  • สำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดคลื่นความร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ซ้ำรอยจากปีที่แล้ว

  • แม้ว่าอุณหภูมิที่สูงถึง 50 องศาเซลเซียส จะเป็นอุณหภูมิที่ไม่สามารถทนทานได้ แต่ความเสียหายกลับยิ่งเลวร้ายลงสำหรับประชากรอินเดียจำนวน 1.4 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่แออัดและไม่สามารถเข้าถึงที่อากาศถ่ายเทสะดวก หรือเครื่องปรับอากาศ

How-hot-is-too-hot-for-human-body-SPACEBAR-Hero
ช่วงนี้อากาศประเทศไทยร้อนจนถึงขีดสุด ยิ่งไฟป่าและมลพิษที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนืออย่างหนาแน่น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์ป่า ทว่าการที่อากาศร้อนจัดเช่นนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย เนื่องจากบันทึกคลื่นความร้อนทำให้ ‘อินเดีย’ อยู่ในจุดที่เข้าใกล้ขีดจำกัดการอยู่รอดของมนุษย์แล้ว 

‘อินเดีย’ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีความเสี่ยงที่จะเข้าใกล้ขีดจำกัดของการอยู่รอดของมนุษย์ เนื่องจากต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงและบ่อยขึ้น 

สำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากที่อินเดียประสบปัญหาร้อนที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์นับตั้งแต่ปี 1901 เป็นต้นมา ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดคลื่นความร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ซ้ำรอยจากปีที่แล้ว ซึ่งทำให้พืชผลเสียหายเป็นวงกว้างและทำให้ไฟดับนานหลายชั่วโมง 

แม้ว่าอุณหภูมิที่สูงถึง 50 องศาเซลเซียส จะเป็นอุณหภูมิที่ไม่สามารถทนทานได้ แต่ความเสียหายกลับยิ่งเลวร้ายลงสำหรับประชากรอินเดียจำนวน 1.4 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่แออัดและไม่สามารถเข้าถึงที่อากาศถ่ายเทสะดวก หรือเครื่องปรับอากาศ 

คีแรน ฮันต์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง กล่าวว่า สภาวะความเครียดจากความร้อน (Heat stress) สำหรับมนุษย์คือการรวมกันของอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอินเดียมีความชื้นมากกว่าสถานที่ที่มีอากาศร้อนพอๆ กัน เช่น ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งหมายความว่า การขับเหงื่อจะมีประสิทธิภาพน้อยลงหรือไม่มีประสิทธิภาพเลย 

ด้วยเหตุนี้ในอินเดียการวัดที่เรียกว่าการวัดอุณหภูมิแบบกระเปาะเปียก (WBT) ซึ่งรวมอุณหภูมิของอากาศและความชื้นสัมพัทธ์เข้าด้วยกัน ทำให้สามารถวัดความเครียดจากความร้อนในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้น โดยรายงานเดือนพฤศจิกายนโดยธนาคารโลกเตือนว่า อินเดียอาจกลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในโลกที่อุณหภูมิกระเปาะเปียกอาจสูงเกินเกณฑ์การอยู่รอดที่ 35 องศาเซลเซียส  

ขณะที่อุณหภูมิที่วัดโดย WBT ในช่วงที่คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมเอเชียใต้ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ที่เมืองจาโคบัค ประเทศปากีสถาน สูงถึงง 33 องศาเซลเซียส ขณะที่ในนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดียนั้นมีอุณหภูมิสูงกว่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับขีดจำกัดสูงสุดของมนุษย์ในการปรับตัวกับสภาพอากาศเลยทีเดียว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์