เทคโนโลยี ‘AI’ จะเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่างไรบ้างในอนาคต?

21 เม.ย. 2566 - 09:56

  • เมื่อเทคโนโลยี ‘AI’ ก้าวหน้าถึงขนาดที่ว่ากลายมาเป็นอีกหนึ่งกลไกสำหรับกระบวนการระหว่างประเทศ การทูต หรือแม้แต่การสำรวจอวกาศ

  • และที่เลวร้ายก็คือ มันกำลังจะทำให้เกิดสงครามตัวแทนอีกครั้งอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสงครามเย็นมาแล้ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทนจริยธรรมในสังคมด้วยจริงหรือ?

How-will-ai-change-the-world-in-future-SPACEBAR-Thumbnail
โลกของเรากำลังเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีเกือบเต็มตัวแล้ว เมื่อความฉลาดและความอัจฉริยะของพวกมันที่เดิมทีมีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกสบายของผู้คนอย่างหุ่นยนต์ทำงานบ้าน เครื่องจักรที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานคน ปัญญาประดิษฐ์ AI กับแชทบอท ‘ChatGPT’ ที่ตอบคำถามสารพัด และล่าสุดกับ ‘TruthGPT’ ของอีลอน มัสก์ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ 

ทว่าความฉลาดของมันกลับสร้างปัญหาให้กับมนุษย์อย่างเราเอาเสียแล้ว เมื่อ AI กำลังจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานถึง 300 ล้านตำแหน่ง รวมถึงการลอกเลียนลิขสิทธิ์ในงานศิลปะของศิลปิน จนเกิดเป็นคำกล่าวที่ว่า “AI อาจทำลายล้างอารยธรรมได้” 

คำถามก็คือ เมื่อ AI กำลังกลายเป็นดาบ 2 คมที่ด้านหนึ่งก็สร้างสะดวกสบายให้เรา แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นภัยคุกคามที่จะย้อนทำร้ายเราเสียได้ แล้ว AI ในอนาคตอันใกล้นี้จะเปลี่ยนโลกของเราต่อไปอย่างไรบ้าง?’ 

สื่อกลางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7K5aBlu34LYutquL2vpLlD/ba72e1e8f9bda0e451b2e4a4154bbe98/How-will-ai-change-the-world-in-future-SPACEBAR-Photo01
ความก้าวหน้าของ AI ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้นำไปสู่การถกเถียงมากมายเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทางสังคม เศรษฐกิจ และความปลอดภัยของ AI แต่สำหรับด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูตนั้นยังได้รับอิทธิพลจาก AI น้อยอยู่ 

ทว่านักฟิสิกส์ชื่อดังอย่าง สตีเฟน ฮอว์กิงและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอย่าง อีลอน มัสก์ ก็เคยทำนายอันตรายของ AI และการสิ้นสุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์เนื่องจากวิวัฒนาการของมัน นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของ AI ยังจะถูกดึงเข้ามาสู่วาระการประชุมระหว่างประเทศ ความท้าทายความสัมพันธ์ทางภูมิยุทธศาสตร์ ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำหรับนักการทูตและนักเจรจาในเกมกระดานเชิงกลยุทธ์อีกด้วย 

ความหลายมิติของ AI ในปัจจุบันมีผลกระทบอย่างมากต่อวิธีที่ประเทศต่างๆ จัดกิจการระหว่างประเทศของตน ขณะที่จีนเองก็มีแพลนนโยบายต่างประเทศที่เรียกว่า ‘แผนยุคใหม่’ ที่จะเป็นผู้นำโลกด้าน AI ภายในปี 2030  

ส่วนประเทศต่างๆ อย่างรัสเซีย แคนาดา และ สหรัฐฯ ก็เป็นประเทศที่นำ AI เข้ามาสู่กระบวนการระหว่าง ประเทศแล้ว โดยรัฐบาลรัสเซียกล่าวว่า “AI จะเป็นตัวกำหนด ‘กฎของโลก’ ในอนาคต”  

ด้านรัฐบาลแคนาดาลงทุนในยุทธศาสตร์ ‘Canadian AI’ หรือ ‘Pan-Canadian Artificial Intelligence Strategy’ ในต่างประเทศ โดยจัดตั้งกลุ่มวิจัยในเมืองมอนทรีออล โตรอนโต และเอดมันตันเพื่อเป้าหมายในการก้าวเป็นผู้นำด้าน AI  

ขณะที่ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ก็ออกมายอมรับต่อสาธารณชนถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยี AI ที่มีนวัตกรรมเพื่อรักษาและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของสหรัฐฯ 

ด้านคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติด้าน AI กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องเร่งสร้างนวัตกรรม AI อย่างมาก เพราะมันมีความจำเป็นต่อความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและความเป็นผู้นำทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ นักการทูตอเมริกันเองก็กำลังใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพิ่มความโปร่งใส และส่งเสริมการรับรู้ เนื่องจาก AI สามารถช่วยเชื่อมช่องว่างในการสื่อสารระหว่างประชาชนต่างชาติและรัฐบาล ลดอุปสรรคด้านภาษาระหว่างประเทศ ช่วยเหลือการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เสริมการรักษาความปลอดภัยของคณะผู้แทนทางการทูต และอื่นๆ 

ทั้งนี้ AI จะเข้ามามีบทบาทในนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การทูตสาธารณะ การมีส่วนร่วมทวิภาคีและพหุภาคี การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ AI จะยังกลายเป็นเครื่องมือหลักในการทูตระหว่างประเทศในด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงระหว่างประเทศ การใช้ระบบอาวุธอิสระ การติดตามข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือใช้ในอำนาจทางทหาร เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การติดตามภัยคุกคาม และการทำสงคราม  

หุ่นยนต์ ‘AI’ กับอนาคตสำรวจอวกาศ 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7gnPnBpUpSildx8hNsDBKY/1e60573fd890c16a8d60d312309571ce/How-will-ai-change-the-world-in-future-SPACEBAR-Photo02
อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนี้องค์กรสำรวจอวกาศรายใหญ่อย่าง NASA กำลังนำ AI เข้ามาใช้สำหรับกระสวยอวกาศ ยานสำรวจโรเวอร์ และยานสำรวจไร้คนขับเพื่อสำรวจกาแลคซีที่อยู่ห่างไกล ซึ่งหุ่นยนต์ AI เหล่านี้จะสามารถตรวจจับวัตถุและสิ่งกีดขวาง ค้นหาเส้นทางที่ปลอดภัย และช่วยค้นหาสถานที่ใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อนด้วย 

แน่นอนว่าหากพัฒนา AI เข้ามาใช้ในการสำรวจอวกาศในอนาคตนั้นก็มีการคาดเดาว่า AI จะช่วยตั้งแต่การวางแผนภารกิจ การดำเนินการ ไปจนถึงขั้นตอนเสร็จสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น พวกมันจะยังตรวจจับและช่วยป้องกันเหตุภัยพิบัติด้วย เช่น การพุ่งชนของอุกกาบาตหรือความล้มเหลวของส่วนประกอบยานอวกาศ เป็นต้น สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ผลผลิต และความปลอดภัยของภารกิจสำรวจอวกาศ  

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ AI กับการสำรวจอวกาศมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีกว่าเป็นไปในด้านลบนั่นเอง 

‘AI’ เข้ามาแทนที่จริยธรรม?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/66dmilhw6XkVuhsC79Wfo0/b1c47e2c07d8163bbe3eb78727839c7a/How-will-ai-change-the-world-in-future-SPACEBAR-Photo03
นอกจากนักเทคโนโลยี นักข่าว และบุคคลสำคัญทางการเมืองที่ออกมาเตือนถึงภัยคุกคามของ AI แล้ว หรือแม้แต่ผู้นำศาสนาก็ยังออกมาส่งสัญญาณเตือนถึงหลุมพรางทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นจาก AI ด้วยเช่นเดียวกัน 

ในการประชุมวาติกันเมื่อปี 2019 ในประเด็น ‘สาธารณประโยชน์ในยุคดิจิทัล’ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้เตือนถึงความสามารถของ AI ในการเผยแพร่ความคิดเห็นที่มีนัยยะซ่อนเร้นและเป็นข้อมูลเท็จ พร้อมเน้นย้ำถึงผลที่ตามมาของการปล่อยให้เทคโนโลยีนี้พัฒนาโดยไม่มีการควบคุมดูแลที่เหมาะสมหรือการยับยั้งชั่งใจ 

“หากสิ่งที่เรียกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของมนุษยชาติกลายเป็นศัตรูของสาธารณประโยชน์ สิ่งนี้จะนำไปสู่การถดถอยอย่างน่าเสียดายจนอาจนำไปสู่รูปแบบของความป่าเถื่อนซึ่งกำหนดโดยกฎของผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัส 

อย่างที่ทราบกันดีว่า AI เป็นกระบวนการที่ดำเนินแบบอัตโนมัติและสามารถตัดสินใจอะไรๆ ที่สำคัญได้ในโหมดเรียลไทม์ แม้ว่าในกรณีส่วนใหญ่นั้นการตัดสินใจที่ถูกต้องจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป แต่ก็มีหลายตัวอย่างที่ยกประเด็นด้านจริยธรรมและศีลธรรมขึ้นมาถกเป็นประเด็น 

ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไร้คนขับที่รู้ว่ากำลังจะชนคนข้ามถนนซึ่งต้องตัดสินใจว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงสัญญาณไฟเขียวที่ให้คนข้ามด้วยความเสี่ยง (ต่อผู้โดยสาร) หรือไม่? และสิ่งนี้จำเป็นต้องตัดสินใจในหน่วยมิลลิวินาที ทั้งนี้ ตรรกะที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าวต้องได้รับการกำหนดไว้ล่วงหน้า และเป็นที่ยอมรับแล้ว  

กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ว่าสุดท้ายแล้ว AI จะเข้ามาแทนที่จริยธรรมได้ไหม? ก็ขึ้นอยู่กับการป้อนข้อมูลในระบบ AI เพราะเครื่องจักรไม่สามารถคิดและตัดสินใจเองได้หากเราไม่ป้อนข้อมูล แต่มนุษย์ต่างหากที่มีทั้งกระบวนการคิดตริตรองและหัวใจ หากว่าเราใช้ AI มากเกินความจำเป็นและเป็นเวลานาน เราอาจถูกกลืนไปกับกลไลของเครื่องจักรกลจนมิอาจแยกผิดชอบชั่วดีออกก็เป็นได้ นี่แหละคือสิ่งที่น่ากลัวในอนาคตอันใกล้นี้ 

ตัวแทนในการทำสงคราม!

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/31kWseGHmeI77U4ZZi13kG/ae83a440a010f9054035da6a6b8ed2f7/How-will-ai-change-the-world-in-future-SPACEBAR-Photo04
เมื่อทหารหุ่นยนต์ไม่ใช่แนวคิดไซไฟ (Sci-Fi) อีกต่อไป ทว่าพวกมันกลับถูกนำใช้อย่างอิสระในภารกิจสงครามต่างๆ เพื่อช่วยเหลือทหาร แต่วิธีการต่อสู้ด้วยวิธีนี้กลับมีแนวโน้มที่เป็นไปในทางที่ดีและไม่ดี ตัวอย่างเช่น ในแง่หนึ่ง ทหารหุ่นยนต์ AI อาจช่วยลดการบาดเจ็บล้มตายของมนุษย์ได้ก็จริง ในทางกลับกัน พวกมันก็ก่อให้เกิดการทำลายล้างมากขึ้นด้วยเช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการใช้หุ่นยนต์ในสงครามจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และเราก็อาจจะเห็นสงครามทั้งหมดที่กำลังต่อสู้โดยใช้หุ่นยนต์ AI แต่ทั้งนี้ทางด้านองค์กรระหว่างประเทศเองก็จะพัฒนากฎและข้อบังคับเกี่ยวกับประเภทและบทบาทของทหารหุ่นยนต์ที่สามารถใช้ในสงครามได้  

นอกจากนี้ การทำสงครามด้วยหุ่นยนต์ทหารอัตโนมัติยังจำเป็นต้องมีการควบคุมโดยมนุษย์อยู่ดีเพื่อให้แน่ใจว่าหุ่นยนต์จะไม่โกงและก่อให้เกิดการทำลายล้างครั้งใหญ่ตามมา  

“หากมหาอำนาจทางทหารใดผลักดันการพัฒนาอาวุธ AI การแข่งขันอาวุธทั่วโลกก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจุดสิ้นสุดของวิถีทางเทคโนโลยีนี้ก็ชัดเจน อาวุธอัตโนมัติจะกลายเป็นปืนไรเฟิล ‘Kalashnikovs’ ในวันพรุ่งนี้” นักวิจัย AI กล่าว 

หากไม่ควบคุมการแข่งขันทางการเมืองที่ร้อนระอุ AI อาจจะถูกนำไปใช้ด้วยเจตนาที่เลวร้ายที่สุดก็เป็นได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์