เหตุเครื่องบิน Yeti ตกครั้งใหญ่ในเนปาล อาจเป็นความผิดพลาดของนักบิน!

20 กุมภาพันธ์ 2566 - 07:02

Human-error-likely-behind-Yeti-Airlines-crash-Nepal-that-killed-71-people-SPACEBAR-Thumbnail
  • รายงานเบื้องต้นระบุว่าเครื่องบินของสายการบินเยติแอร์ไลน์สูญเสียแรงขับและตกลงมาหลังจากที่ใบพัดของเครื่องยนต์ทั้งสองเข้าสู่ตำแหน่ง feathered (หมุนกลีบใบพัดเข้าหาลม)

  • เจ้าหน้าที่สืบสวนพบว่าเที่ยวบิน 691 ของสายการบินเยติได้ขึ้นบินจากสนามบินนานาชาติตริภูวันของกรุงกาฐมาณฑุ (Kathmandu) และตกในช่องเขาแม่น้ำเซติระหว่างสนามบินเก่าและสนามบินใหม่ในโปขระ (Pokhara)

สำนักข่าว Independent รายงานว่า มีการเปิดเผยรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุเครื่องบินตกของสายการบินเยติแอร์ไลน์ส (Yeti Airlines) ในเนปาลเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งคร่าชีวิตผู้โดยสารไป 71 ราย โดยพบว่า ความผิดพลาดของนักบินอาจเป็นสาเหตุของหายนะดังกล่าว และถือว่าเป็นอุบัติเหตุทางเครื่องบินครั้งเลวร้ายที่สุดของเนปาลในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ 

เจ้าหน้าที่สืบสวนพบว่าเที่ยวบิน 691 ของสายการบินเยติได้ขึ้นบินจากสนามบินนานาชาติตริภูวันของกรุงกาฐมาณฑุ (Kathmandu) เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา และตกในช่องเขาแม่น้ำเซติระหว่างสนามบินเก่าและสนามบินใหม่ในโปขระ (Pokhara)  

ในเวลานั้นมีผู้โดยสารทั้งหมด 72 คน รวมทั้งลูกเรืออีก 4 คนบนเครื่องบิน ATR-72 แต่จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถกู้ร่างขึ้นมาได้เพียง 71 ศพเท่านั้น โดยผู้โดยสารที่สูญหายอีก 1 คนสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว 

รายงานเบื้องต้นระบุว่าเครื่องบินของสายการบินเยติแอร์ไลนส์สูญเสียแรงขับและตกลงมาหลังจากที่ใบพัดของเครื่องยนต์ทั้งสองถูกปรับให้เพรียวลม ทำให้ผู้สืบสวนเชื่อว่าเป็นความผิดพลาดของนักบินที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งนี้ 

รายงานดังกล่าวที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการบินพลเรือนของเนปาลระบุว่า “เมื่อใบพัดทั้งสองถูกปรับให้เพรียวลม ทีมสอบสวนสังเกตว่าเครื่องยนต์ทั้งสองของ 9N-ANC ทำงานในสภาพการบิน flight idle (การลดเครื่องยนต์มาที่จุดที่ไม่มีกำลังขับเลย คือใช้วิธีร่อนลมแทน) ในระหว่างเที่ยวบินเพื่อป้องกันแรงบิดมากเกินไป” รายงานระบุ 

“ตามเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน (FDR) พารามิเตอร์ที่บันทึกทั้งหมดเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไม่ได้แสดงความผิดปกติใดๆ จนกระทั่งผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ (ATC) อนุญาตให้ลงจอดในเวลา 10:57:07 น. ซึ่งขณะนั้นนักบินผู้บังคับเครื่องบิน (Pilot Flying / PF) กล่าวสองครั้งว่าไม่มีกำลังจากเครื่องยนต์” 

“ในช่วงเวลาที่เกิดการชน ทัศนวิสัยทั่วไปอยู่ที่ 6 กม. และท้องฟ้าเกือบจะใสโดยมีเมฆเพียงไม่กี่ก้อน…เรากำลังรอรายงานโดยละเอียด เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้น” สมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการสอบสวนกล่าวกับสำนักข่าว Kathmandu Post 

“ใช่ มันยังมีปัญหาเรื่องปีกเครื่องบินด้วย และมีคำถามว่าเหตุใดนักบินจึงกางปีกบินออกล่าช้า โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา” บัดดิ ซาเกอร์ ลามิชาเน เลขาธิการร่วมกระทรวงการท่องเที่ยวกล่าว 

อย่างไรก็ดี รายงานเบื้องต้นยังระบุอีกว่าใบรับรองความสมควรเดินอากาศของเครื่องบินจะมีอายุถึงวันที่ 24 เมษายนปีนี้ 

จากข้อมูลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุว่า รัฐที่ทำการสอบสวนอุบัติเหตุจะต้องจัดทำรายงานเบื้องต้นภายใน 30 วันหลังจากเกิดอุบัติเหตุ โดยรายงานขั้นสุดท้ายควรจัดทำขึ้นภายใน 12 เดือนหลังจากเกิดอุบัติเหตุ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์