‘พิธา’ ให้สัมภาษณ์ CNN ชี้ ส.ว.ไม่เป็นอุปสรรค

17 พ.ค. 2566 - 08:04

  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกคนที่ 30 ของประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ CNN ความยาวประมาณ 8 นาที โดย เซน แอชเชอร์ รับหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์

Interview-pita-politics-SPACEBAR-Thumbnail
แอชเชอร์ กล่าวในการเริ่มต้นว่า ขณะนี้เรากำลังพูดถึงความท้าทายบางอย่างที่ 'พรรคก้าวไกล' ต้องเผชิญ แต่ในขณะเดียวกันจากผลการเลือกตั้ง คิดว่าจะมี ‘ข้อความ’ อะไรบ้างที่ถูกส่งไปยังรัฐบาลเก่าที่มาจากทหาร 

พิธากล่าวว่า ผมว่ามันค่อนข้างชัดเจนอยู่ว่าผู้คนเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งมันชัดเจนว่าเป็นความรู้สึกของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และมันก็เกิดฉันทามติใหม่ที่นี่ ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย 

แอชเชอร์กล่าวว่า แม้ว่าจะมีคะแนนนิยมสูง การชนะการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่จะทำให้พิธาเป็นนายกฯ จริงๆ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งเช่นกัน เพราะเป็นที่รู้กันว่า ‘กองทัพ’ มีบทบาทมากในกระบวนการนี้ ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในความท้าทายที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญ  

พิธากล่าวว่า ผมว่ามันค่อนข้างชัดเจนว่า แนวร่วมในตอนนี้กำลังเป็นรูปเป็นร่างตามที่มันควรจะเป็น ซึ่งตอนนี้ผมมีทีมเจรจา ผมมีทีมที่จะทำให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจจะราบรื่น  

อย่างไรก็ตาม ก็จะมีกระบวนการทั้งหมด 3 ขั้นตอนต่อจากนี้ ขั้นตอนแรกคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง จากนั้นเราต้องเลือกประธานสภา และขั้นที่ 3 จะมีการลงคะแนนเสียงร่วมกันระหว่างสภาล่าง และสภาสูง  

“นั่นคือการเมืองของประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจาก 25 ล้านคน ที่ต่อต้านการแต่งตั้งวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการทำรัฐประหารเมื่อทศวรรษที่แล้ว ซึ่งจะเป็นการต่อสู้แบบที่ประชาชนเป็นคู่ต่อสู้” พิธากล่าวพร้อมเสริมว่า ผมมีการคาดการณ์ฉากทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และเราได้เตรียมการตอบสนองเชิงกลยุทธ์เพื่อเตรียมการสำหรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น 

แอชเชอร์ถามต่อว่า อ้างอิงถึงฉากทัศน์ดังกล่าว คุณพิธาจะสามารถเอาชนะเสียงส.ว.ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าจะ ‘ไม่’ โหวตให้ได้อย่างไร  

พิธากล่าวว่า ต้องบอกว่ามันไม่ใช่อุปสรรคเพียงอย่างเดียวจากส.ว.เท่านั้น เพราะปัจจุบันความสามัคคีของส.ว.มันไม่เหมือนกับ 4 ปีก่อนแล้ว ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ และฉันทามติที่ได้รับการพัฒนาแล้วในการเลือกตั้ง ดังนั้น ไม่เสมอไปที่ ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ จะตัดสินใจลงคะแนนเหมือนครั้งก่อน หากเราสื่อสารและพยายามอธิบายสิ่งที่เราพยายามทำเพื่อประเทศอย่างต่อเนื่อง อธิบายว่าจะมีความหมายต่ออนาคตประเทศนี้อย่างไร มันจะไม่เป็นอุปสรรค
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5tcbxPCzmMR4TyVZzxJl9O/11e947a0677c2fdd26d3678fa31012e1/pita
“ผมคิดว่านั่นจะไม่เป็นอุปสรรคสำคัญและราคาที่ต้องจ่ายในการต่อต้าน 25 ล้านเสียงนี้จะแพงมาก” พิธากล่าว 

แอชเชอร์กล่าวว่า สำหรับผลการเลือกตั้ง สิ่งที่ปรากฎชัดคือพรรคได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงส่วนต่างที่มากเช่นนี้ หากผลเลือกตั้งที่ออกมามันคลุมเครือ นี่จะเป็นสถานการณ์ที่ต่างออกไป แต่สำหรับคุณแล้วอะไรคือความยากที่จะเจอในสัปดาห์หน้า  

พิธากล่าวว่า น้ำหนักทางการเมืองขึ้นอยู่กับผู้ลงคะแนนเสียงว่าอยากให้ประเทศเดินอย่างไร และกลายเป็นว่า 15 ล้านเสียงเลือกลงคะแนนให้ผม ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนเกือบ 2.5 เท่า เราผ่านการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงที่ถล่มทลาย ทำให้เรามีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล และเราหวังว่าจะได้นำนโยบายที่เราได้ให้คำมั่นสัญญากับคนไทยไปใช้ 

ต่อจากคำถามก่อนหน้า แอชเชอร์ถามอีกว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจถูกล้มล้างโดยเสียงของ ส.ว. อย่างที่เรารู้ว่าการเลือกตั้งชนะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การเป็นนายกฯ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเสียงของประชาชน 25 ล้านคนเป็นเหมือนเครื่องเดิมพันในครั้งนี้  

พิธากล่าวว่า เราต้องลดความเสี่ยงนั้น ผมเห็นด้วยกับคำถามที่ว่ามี 2 สิ่งที่ต่างกันระหว่างการชนะการเลือกตั้ง และกลยุทธ์ (Roadmap) ที่จะเป็นนายกฯ  อย่างไรก็ตามผมก็มีแผนที่จะเชื่อมช่องว่างระหว่างสิ่งที่อยู่ในกระดาษกับสิ่งที่ปรากฎอยู่บนท้องถนนในแง่ของความเป็นจริงทางการเมือง  

“ดังนั้นแม้ว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นไปแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลก็กำลังเป็นรูปเป็นร่างและอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้าว่าผมมีทีมงาน 2 - 3 ทีม เพื่อให้เราแน่ใจว่าเราได้ลดความเสี่ยงของการโค่นล้มรัฐบาล และหวังว่าเราจะสื่อสารกับประชาชนต่อไป และนั่นจะทำให้มันกลายเป็นฉันทามติที่ช่วยให้เชื่อมช่องว่างดังกล่าวนั้น” พิธากล่าว  

แอชเชอร์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2019 พรรคเก่าของพิธาซึ่งคือ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 3 ในปี 2019 และหลังจากนั้นไม่นานพรรคก็ถูกยุบและบรรดาผู้นำก็โดนตัดสิทธิทางการเมืองเมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว พิธาเองมีความกังวลแค่ไหน
พิธากล่าวว่า ผมไม่กังวลแต่ก็ไม่ประมาทเช่นกัน ซึ่งผมจะสื่อว่า ผมอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมาแล้ว 20 ปี เริ่มต้นมาจากตำแหน่งเล็กๆ ดังนั้นผมจึงเห็นความโหดร้ายอำมหิตของการเมืองรอบโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การคาดการณ์ตามสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เรียนรู้จากอดีต และป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น เรามีทีมกฎหมายที่เข้มแข็ง ผมเองก็มีแนวทางปฎิบัติที่รัดกุมเพียงเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ตกเป็นเป้าในการยุบพรรค หรือดึงผมออกจากอำนาจโดยไม่มีเหตุผล จริงอยู่ที่มีการโจมตีผมจากเรื่องส่วนตัวของผม แต่ผมได้เตรียมการในช่วงที่ผ่านมาเพื่อชี้แจงและอธิบายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

แอชเชอร์ถามต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนเป็นหมุดหมายหลักของคนรุ่นใหม่ จำนวนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาและแสดงการต่อต้านอย่างแข็งขันต่อระบบการปกครองโดยทหารด้วยผลลัพธ์ในครั้งนี้ ช่วยบอกลำดับความสำคัญของนโยบายของก้าวไกลสำหรับประเทศไทยในอีก 4 - 5 ปีข้างหน้าหน่อยได้หรือไม่ 

พิธากล่าวว่า มี 2 - 3 ประเด็นสำหรับคำถามนี้ ซึ่งประเด็นแรกคือ คนหนุ่มสาวที่ออกมานั้น มีประมาณ 5 ล้านคน และเป็นนิวโหวตเตอร์ หรือผู้ใช้สิทธิครั้งแรก แต่ทั้งคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นก่อนๆ หรือแม้กระทั่งคนชรา ก็มาลงคะแนนเสียงครั้งประวัติศาสตร์นี้เกือบ 76% ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าตื่นเต้น 

ส่วนประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับลำดับความสำคัญของนโยบาย จริงๆ แล้วคือ ‘3Ds’ ประการแรกคือการเอาทหารออกจากการเมืองให้อยู่ใต้พลเรือน ประการที่ 2 คือการทลายทุนผูกขาด และประการที่ 3 คือการกระจายอำนาจในประเทศไทย ผมคิดว่า 3 ประการนี้ คือวิธีเดียวที่เราจะสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเต็มใบ และแน่ใจว่าประเทศไทยจะกลับมาสู่สังเวียนโลกอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ประเทศมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากนิยามใหม่ของโลกาภิวัฒน์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์