‘หลี่ เฉียง’ นายกฯ หัวธุรกิจคนใหม่ของจีน กับบททดสอบสุดท้าทายในการดำรงตำแหน่ง

14 มีนาคม 2566 - 10:08

Li-Qiang-new-premier-china-SPACEBAR-Hero
  • เปิดเส้นทางการเมือง ‘หลี่ เฉียง’ กับการก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ คู่ใจของ สีจิ้นผิง ที่หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าภารกิจในครั้งนี้ของเขาท้าทายเอามากๆ

หลังจากประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา และเป็นสมัยที่ 3 แล้ว ซึ่งทำลายสถิติการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนในฐานะผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี เหมาเจ๋อตง   

ขณะที่ตัวแทนฝ่ายบริหารอย่างนายกรัฐมนตรีคู่ใจนั้นก็ได้ ‘หลี่เฉียง’ เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ที่ผู้แทนต่างยอมรับและลงคะแนนให้อย่างท้วมท้นแทน หลี่เค่อเฉียง โดยนายกฯ คนใหม่มีนโยบายที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก 

แล้วนายกคนใหม่ของจีนคนนี้คือใครกัน? ทำไมเขาถึงได้รับการยอมรับจากคณะผู้แทนในที่ประชุมมากมายขนาดนี้? 

‘หลี่เฉียง’ พันธมิตรคู่ใจของ สีจิ้นผิง

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2ft28AUcCyPPWjZutpmlB/3603c8f8c23c11f0f82e8aa1bc8b7165/Li-Qiang-new-premier-china-SPACEBAR-Photo02
Photo: NOEL CELIS / AFP
‘หลี่เฉียง’ นายกฯ คนใหม่ของจีนวัย 63 ปีเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเซี่ยงไฮ้ กับภารกิจสุดท้าทายที่เขาประกาศไว้ว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำของจีนกลับมา หลังประเทศต้องประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สม่ำเสมอหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะเน้นการปฏิบัติจริงและเป็นมิตรกับธุรกิจ  

จากรายงานของ Reuters ระบุว่า ที่ผ่านมา หลี่ เป็นผู้ที่ภักดีต่อสีจิ้นผิงมาอย่างมั่นคง และด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเขากับประธานาธิบดีสีก็คาดว่าหลี่จะได้รับโอกาสในการทำงานมากขึ้น ในขณะที่ยังคงจงรักภักดีต่อผู้มีพระคุณในพรรคมาอย่างยาวนาน  

ถึงกระนั้น ผู้สังเกตการณ์ผู้นำกล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของนายกฯ หลี่กับประธานาธิบดีสีนับตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งขณะนั้นเองสีดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียง จะช่วยให้พวกเขาทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  

เทรย์ แมคอาร์เวอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Trivium China กล่าวว่า “การอ่านสถานการณ์ของผมคือ หลี่เฉียง จะมีภาระรับผิดชอบและอำนาจที่มากขึ้น” 

ผู้ภักดีต่อ สีจิ้นผิง 

Reuters ระบุว่า หลี่เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไม่เคยรับราชการในรัฐบาลกลางมาก่อน ในเวลานั้นเขาเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1983 ขณะที่อายุ 24 ปี และก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคของเมืองระดับจังหวัดอย่างเวินโจวเมื่ออายุ 43 ปี 

ตั้งแต่ปี 2004-2007 หลี่เป็นหัวหน้าคณะกรรมการโดยพฤตินัยของประธานาธิบดีสีที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น เลขาธิการพรรคมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งข้อเท็จจริงตรงส่วนนี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญอ้างว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางการเมืองของหลี่ 

ในปี 2013 หลี่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขานั่งเก้าอี้มาจนถึงปี 2016 และในช่วงเวลานั้นเองที่เขาได้สร้างชื่อเสียงในด้านความเป็นมิตรต่อธุรกิจ โดยโครงการที่เขาเริ่มต้นก็คือ ความพยายามสร้างเมืองเล็กๆ ที่มี ‘บรรยากาศที่เอื้อต่อธุรกิจ’ และ ‘สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี’ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนได้รับการสนับสนุนจากสีจิ้นผิง และจะขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของจีนด้วย 

ตั้งแต่ปี 2016 หลี่ก็ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในมณฑลเจียงซูเป็นช่วงสั้นๆ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคในเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ เขายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการโปลิตบูโรแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP Politburo) ในปีเดียวกัน ซึ่งการเติบโตในระยะนี้เองที่แสดงถึงการผงาดทางการเมืองในระดับชาติของหลี่ 

การยกย่องและเสียงวิจารณ์ 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6SBLCxuAj3GaomRn2ZFF0T/b2b6f12a234df6c931baa01a3107ee63/Li-Qiang-new-premier-china-SPACEBAR-Photo03
Photo: Noel CELIS / AFP
ในช่วงเวลาที่เขาเป็นเลขาธิการพรรคเซี่ยงไฮ้นั้น หลี่ได้รับการยกย่องในเรื่อง ‘ทัศนคติเชิงธุรกิจ’ ที่เชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองนี้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทใหญ่อย่างเทสลาเองก็ได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่แห่งแรกนอกสหรัฐฯ ในเมืองนี้ด้วย ในรายงานของ CNN ระบุว่า เทสลาเป็นเจ้าของโรงงานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวที่กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายแรกในจีน  

ขณะเดียวกันในปี 2019 หลี่ได้เปิดกระดานหุ้น STAR Market ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งสื่อของรัฐบาลจีนรายงานถึงการเทียบเท่าเซี่ยงไฮ้กับตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป้าหมายก็คือให้บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ หลี่ยังเสนอนโยบายที่เป็นที่นิยม เช่น การลดเกณฑ์สำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานภายในเพื่อรับใบอนุญาตผู้พำนัก และสร้างเมืองใหม่ 5 แห่งเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนที่ดินในเซี่ยงไฮ้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และนโยบายปลอดโควิดของจีนสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเซี่ยงไฮ้ หลี่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการจัดการสถานการณ์ของเขาในเวลานั้น คำสั่งปิดเมืองส่งผลให้เมืองที่เคยคึกคักต้องหยุดชะงักลง หนำซ้ำประชาชนยังแทบไม่มีอาหาร สร้างความไม่พอใจและความผิดหวังต่อประชาชนเป็นอย่างมาก 

แต่จากรายงายของ Reuters ระบุว่า หลี่เปิดกว้างต่อวัคซีนของตะวันตก รวมถึงวางกฎบรรทัดฐานของโควิดที่หละหลวมมากขึ้น อีกทั้งเขายังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้จีนยุตินโยบายปลอดโควิดอย่างกะทันหันแบบที่ไม่คาดคิดเมื่อปลายปีที่แล้วด้วย  

ภารกิจสุดหินกับหนทางสุดท้าทายในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรี’ 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3o0zh8PFxNEKtk2P0ZI3XP/0c804c92edb0eaac18de01eb1357c558/Li-Qiang-new-premier-china-SPACEBAR-Photo04
Photo: GREG BAKER / POOL / AFP
การก้าวขึ้นมาดำรงแหน่งนายกฯ คู่ใจของประธานาธิบดีสีในครั้งนี้ถือว่าเป็นบททดสอบที่ท้าทายสำหรับเขามาก นักวิเคราะห์ทางการเมืองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เขาเป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้ดำเนินการระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและสนับสนุนภาคเอกชน ซึ่งเขากำลังจะถูกทดสอบและเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า” 

2 ปีที่ผ่านมาประเทศมุ่งเน้นไปที่ ‘การควบคุมโควิด’ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแตกสลาย ซึ่งยากที่จะสร้างมันขึ้นมาใหม่ 

จากข้อมูลของ Reuters ระบุว่า เศรษฐกิจของจีนเติบโตเพียงร้อยละ 3 ในปีที่แล้ว และในวันเปิดรัฐสภา ปักกิ่งได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตเล็กน้อยในปี 2023 ที่ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ3 ทศวรรษ 

“ภารกิจสูงสุดของหลี่ในปีนี้คือต้องเอาชนะเป้าหมายดังกล่าวให้ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงหรือก่อหนี้เพิ่มพูน”  

“แม้ว่าจีนจะไม่ได้ส่งสัญญาณถึงแผนการที่จะกระตุ้นการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ความพ่ายแพ้ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การล่มสลายของการส่งออกหรือความอ่อนแออย่างต่อเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นความท้าทายของหลี่” คริสโตเฟอร์ เบดดอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจีนของบริษัท Gavekal Dragonomics กล่าว 

ขณะที่การฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของจีนก็ยังคงไม่สม่ำเสมอ โดยพบว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอ่อนลงอย่างไม่คาดคิด ด้านบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างจิงตง (JD.com Inc) เตือนว่าการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคขึ้นมาใหม่นั้นต้องใช้เวลา 

เยว่ซู นักเศรษฐศาสตร์หลักของบริษัท The Economist Intelligence Unit ตั้งข้อสังเกตว่า “หลี่ไม่ได้ใช้โอกาสในการเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจใหม่ๆ นั่นหมายความว่าเขามีข้อจำกัดในการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างน้อยในช่วงปีแรกของเขา และการประชุมโปลิตบูโรจะยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการประเมินทิศทางนโยบายของจีน” 

“ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะไม่กลับมาทันทีเนื่องจากขาด ‘มาตรการเชิงสถาบัน’ แม้ว่าหลี่จะดูเป็น ‘นายกรัฐมนตรีธุรกิจมืออาชีพ’ ก็ตาม” 

ส่วนบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบางแห่งของปักกิ่ง อย่าง อาลีบาบากรุ๊ปก็ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามอย่างกะทันหันและอุปสรรคด้านกฎระเบียบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าหลี่จะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในภาคเอกชนส่วนนี้ด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์