วาเลนไทน์ 2046 จงระวัง! NASA เตือนดาวเคราะห์น้อยใหญ่เท่าหอเอนปิซาอาจพุ่งชนโลก

9 มีนาคม 2566 - 08:57

NASA-warns-asteroid-could-smash-into-Earth-on-valentine-day-2046-SPACEBAR-Thumbnail
  • นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีระบุว่า NASA แสดงให้เห็นโอกาส 1 ใน 12,000 แต่โอกาสนั้นได้เพิ่มขึ้นในวันต่อมาเป็น 1 ใน 710 และตอนนี้มีโอกาสเป็น 1 ใน 560 แล้ว

  • ปัจจุบันดาวเคราะห์น้อย 2023 DW อยู่ระดับ 1 ในมาตราโตรีโน (Torino) นั่นหมายความว่าไม่มีเหตุให้สาธารณชนต้องกังวลในขณะนี้

NASA เตือนว่าดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่าหอเอนปิซาอาจพุ่งชนโลกในวันวาเลนไทน์ปี 2046 หรือในอีก 23 ปีข้างหน้า 

ดาวเคราะห์น้อย ‘2023 DW’ ได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า มีโอกาส 1 ใน 560 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อโลกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2046 เวลา 16:44 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ หรือราว 04.00 น.ของวันที่ 15 ก.พ. ตามเวลาประเทศไทย) และยังไม่ทราบว่าจะร่วงลงที่ใด  

แต่คาดว่าโซนผลกระทบจะครอบคลุมตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก และทางตะวันตกไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะตกบริเวณลอสแองเจลิส ฮาวาย และวอชิงตัน ดี.ซี. 

การชนกันของดาวเคราะห์น้อย 2023 DW ขนาด 165 ฟุต กับโลกของเรานั้นเทียบได้กับเหตุการณ์อุกกาบาตขนาด 12 เมกะตันระเบิดกลางอากาศอย่างรุนแรงที่ตุงกุสคา (Tunguska) จักรวรรดิรัสเซีย ที่เขตไซบีเรียเมื่อ 114 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นดอุกกาบาตขนาด 160 ฟุตดวงนี้ก่อให้เกิดการระเบิดของนิวเคลียร์ที่อาจทำลายพื้นที่มหานครขนาดใหญ่ ทว่าเคราะห์ดีที่มันตกลงในป่า จึงทำให้ต้นไม้กว่า 80 ล้านต้นราบเรียบ 

NASA ประกาศการค้นพบ 2023 DW เมื่อวันอังคาร (7 มี.ค.) ที่ผ่านมาโดยระบุว่า “ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ของข้อมูลเพื่อลดความไม่แน่นอนและคาดการณ์วงโคจรของพวกมันในอนาคตอย่างเพียงพอ” ทั้งนี้ พบว่า ความน่าจะเป็นที่ดาวเคราะห์น้อยจะชนโลกได้เปลี่ยนไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีระบุว่า NASA แสดงให้เห็นโอกาส 1 ใน 12,000 แต่โอกาสนั้นได้เพิ่มขึ้นในวันต่อมาเป็น 1 ใน 710 และตอนนี้มีโอกาสเป็น 1 ใน 560 แล้ว โดยอัปเดตล่าสุดในวันที่ 7 มีนาคม 2023 ก็พบว่า การวิเคราะห์วงโคจรของมันเป็นเพียงการสังเกตการณ์ 62 ครั้งในช่วง 6.8487 วันจนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2023  

ปัจจุบันดาวเคราะห์น้อย 2023 DW อยู่ในอันดับต้นๆ ของรายการความเสี่ยงของ NASA ซึ่งอยู่ระดับ 1 ในมาตราโตรีโน (Torino) นั่นหมายความว่าไม่มีเหตุให้สาธารณชนกังวลในขณะนี้ 

“การคำนวณในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าโอกาสที่จะเกิดการชนกันนั้นเป็นไปได้น้อยมาก โดยไม่มีเหตุให้สาธารณชนให้ความสนใจหรือกังวล และการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบใหม่มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การกำหนดระดับใหม่เป็นระดับ 0” 

“นักวิเคราะห์วงโคจรจะยังคงติดตามดาวเคราะห์น้อย 2023 DW ต่อไป และอัปเดตการคาดการณ์เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา”  

“การปะทะกันเป็นสิ่งที่แน่นอนซึ่งสามารถทำให้เกิดภัยพิบัติทางภูมิอากาศทั่วโลก และอาจคุกคามอนาคตของอารยธรรมอย่างที่เราทราบ ไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อแผ่นดินหรือมหาสมุทร…เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย1 ครั้งต่อ 100,000 ปี หรือน้อยกว่านั้น” NASA ระบุ 

อย่างไรก็ตาม NASA ตั้งข้อสังเกตว่าจะแจ้งเตือนประชาชนหากดาวเคราะห์น้อย DW 2023 มีความเสี่ยงถึงระดับ 3 โดยผลกระทบครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013 หรือที่รู้จักกันในชื่อ เชเลียบินสค์ (Chelyabinsk) ซึ่งเป็นอุกกาบาตขนาดกว้าง 60 ฟุตพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยพลังงานที่ประเมินว่าเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ TNT (ไตรไนโตรโทลูอีน) 500,000 ตัน โดย ส่งคลื่นกระแทกไปทั่วโลกถึง 2 ครั้ง และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,600 คน 

ทว่าดาวเคราะห์น้อย 2023 DW นั้นมีขนาดใหญ่กว่าถึง 2 เท่า โดยเมื่อเร็วๆ นี้ NASA ได้ยืนยันว่าสามารถเบี่ยงเบนดาวเคราะห์น้อยนักฆ่าออกจากเส้นทางสู่โลกได้ หลังจากประสบความสำเร็จในภารกิจ DART ปี 2021 

และในวันที่ 1 มีนาคม 2023 NASA ก็ออกมายืนยันว่าภารกิจนี้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นแอริโซนากล่าวว่า “นี่เป็นข้อพิสูจน์แนวคิดสำหรับเทคนิคจลนพลศาสตร์ของการป้องกันดาวเคราะห์ ซึ่งภารกิจ DART จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยอาจถูกกำหนดเป้าหมายระหว่างการเผชิญหน้าด้วยความเร็วสูง และวงโคจรของเป้าหมายอาจเปลี่ยนไปได้” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์