‘เกาหลีเหนือ’ ก็มีเลือกตั้งแต่ไม่ให้กา!

11 พ.ค. 2566 - 09:36

  • ชาวเกาหลีเหนือลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกรัฐสภาตรายางของประเทศ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 นับตั้งแต่คิมจองอึนขึ้นครองอำนาจ มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเกือบ 100%

NKoreans-vote-parliamentary-elections-SPACEBAR-Hero
หลายคนอาจจะเข้าใจว่าประเทศเผด็จการแดนสนธยาอย่างเกาหลีเหนือไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เพราะดูเหมือนว่าตำแหน่งผู้นำสูงสุดจะสืบทอดกันเฉพาะคนในตระกูลคิมเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วที่เกาหลีเหนือก็มีการเลือกตั้งเหมือนประเทศอื่นๆ และมีมาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว แต่อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างออกไปในบริบทของตัวเอง 
 
สถิติที่น่าสนใจคือ ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเกือบ 100% และผลการเลือกตั้งนั้นก็เป็นเอกฉันท์

แล้วมันประสบความสำเร็จได้อย่างไร? 

ในวันเลือกตั้ง ประชากรทั้งหมดที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไปจะต้องออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ฟีโอดอร์ เทอร์ติตสกี้ นักวิเคราะห์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งประจำอยู่ที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ กล่าวว่า เพื่อเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีพลเมืองจะต้องไปถึงก่อนเวลา ซึ่งแปลว่าอาจมีการต่อคิวยาวเหยียด 
 
พลเมืองจะได้รับบัตรเลือกตั้งก่อนเข้าคูหา ซึ่งเปิดออกมาจะมีชื่อผู้สมัครเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่มีชื่ออื่นใดให้เลือกสรร ไม่มีช่องกากบาท หน้าที่ของพวกเขาก็มีแค่เปิดมาเพื่อรับทราบและนำไปหย่อนใส่หีบเท่านั้น นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้จะมีคูหาให้ลงคะแนนเป็นการส่วนตัว แต่การทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดความสงสัยในทันที 
 
เมื่อออกมาจากหน่วยเลือกตั้งก็ต้องไปเข้าร่วมกับกลุ่มกองเชียร์ด้านนอกคูหา เพื่อแสดงถึงความสุขของการลงคะแนนเสียงให้กับผู้นำของประเทศ  
  
“ในสื่อของรัฐ ภาพวันเลือกตั้งเป็นภาพเหตุการณ์รื่นเริง โดยมีผู้คนที่อยู่นอกหน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยเฉลิมฉลอง” มินยอง ลี นักวิเคราะห์จาก NK News ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวเฉพาะทางของเกาหลีเหนืออธิบาย 
 
เนื่องจากการลงคะแนนเสียงเป็นข้อบังคับ การเลือกตั้งยังเป็นเสมือนการสำรวจสำมะโนประชากรของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง และติดตามผู้แปรพักตร์ที่อาจหลบหนีไปยังประเทศจีน

การเลือกตั้งมีอะไรมากกว่าที่คิด?

ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดในปี 2011 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ถึง 99.7% โดยสำนักข่าวของรัฐระบุว่าผู้ที่ไม่สามารถลงคะแนนได้นั้นอยู่ต่างประเทศหรือในทะเลหลวง 
  
การมีรายงานผู้มาใช้สิทธิที่สูงเช่นนี้มีข้อได้เปรียบสำหรับรัฐ โดยทำหน้าที่เป็นการสำรวจสำมะโนอย่างไม่เป็นทางการ 
  
“รัฐบาลตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและหากชื่อของคุณไม่อยู่ในรายชื่อ พวกเขาจะทำการตรวจสอบ” ผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือคนหนึ่งกล่าวกับเว็บไซต์ NK News พร้อมเสริมว่า บ่อยครั้งในช่วงการเลือกตั้งที่รัฐบาลค้นพบเกี่ยวกับผู้แปรพักตร์ 
  
หากรัฐตัดสินว่า บุคคลใดที่ไม่ได้ลงคะแนน แปลว่าเขาและครอบครัวของเขากำลังจะมีปัญหา

แล้วมีพรรคอื่นมั้ย?

เราอาจจะคิดไปว่า เกาหลีเหนือมีอยู่พรรคเดียว แต่ที่น่าประหลาดใจคือมันมีถึง 3 กลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันไปในรัฐสภา พรรคแรงงานซึ่งมี คิมจองอึน เป็นประธาน และเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด แต่มักมีที่นั่งเพียงไม่กี่ที่นั่ง โดยพรรคอื่นอีก 2 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยสังคม และพรรคชนโดอิสต์ ชงกู 
  
ในทางปฏิบัติ ไม่มีความแตกต่างระหว่างทั้ง 3 พรรคอย่างชัดเจน และพวกเขาทั้งหมดถูกจัดกลุ่มเข้าด้วยกันในแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการรวมประเทศเกาหลี

ผลลัพธ์ที่คาดหวังคืออะไร? 

อย่างแรก จะมีการประกาศตัวเลขของผู้ที่มาใช้สิทธิ ซึ่งในปี 2014 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 99.97% บางคนอาจไม่ได้ลงคะแนนเสียงเนื่องจากความเจ็บป่วย แม้ว่าจะมีสิ่งที่ตลกเกิดขึ้นก็คือในวันเลือกตั้งจะไม่มีใครตาย และทุกคนมีสุขภาพที่ดีก็ตาม  
 
ขั้นตอนต่อไปคือการเปิดเผยจำนวนเขตเลือกตั้งของคิมจองอึน ทั้งการออกมาใช้สิทธิและการสนับสนุนทางการเมืองที่มักจะเป็น ‘100%’ 
  
ในที่สุดผลการเลือกตั้งสำหรับเขตเลือกตั้งอื่น ๆ จะถูกเปิดเผย แม้ว่าจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งอาจลดลงเล็กน้อย แต่การสนับสนุนทางการเมืองสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งนั้นจะต้องเต็ม 100% 

แล้วคิมจองอึนล่ะ?

การเลือกตั้งดังกล่าว ไม่ได้ตัดสินความเป็นผู้นำของประเทศ การเลือกตั้งรัฐสภาก็จัดขึ้นในเกาหลีเหนือเช่นกัน และพวกเขาเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะปกครองประเทศ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่มักถูกมองข้ามมาโดยตลอด 
  
คิมจองอึน ชนะการเลือกตั้งรัฐสภาครั้งล่าสุดในปี 2014 โดยได้รับคะแนนเสียง 100% ในเขตเลือกตั้ง เขาเพ็กทู (Mount Paektu) ของเขา 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์