‘The Line’ ซาอุฯ ไอเดียเมืองล้ำหรือแค่ขายฝันโลกอนาคต

25 พ.ย. 2565 - 07:16

  • “คุณอยากอยู่ในเมืองแออัดแนวตั้งบนกำแพงสูงกลางทะเลทราย ไร้วิวทิวเขาทะเลสาบแม่น้ำ หรือเมืองแนวราบที่มีชีวิตชีวา”

  • เทียบแนวคิดโครงการเมืองยั่งยืนหลังประชากรโลกเกิน 8 พันล้านคน จาก The Line เมืองกำแพงแนวตั้งกลางทะเลทรายซาอุฯ กับความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ถึงซองโดเมืองแนวราบจากการถมทะเลเกาหลีใต้

neom-saudi-arabia-the-line-architects-with-songdo-korea-smart-city-SPACEBAR-Thumbnail
กระแสเรื่องการอนุรักษ์และความยั่งยืนในอนาคตปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเทรนด์มาแรงที่ทั้งรัฐและเอกชนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ล่าสุดคือเห็นได้จากประเด็นในการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จาการชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) หรือแนวคิดเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุล เช่นเดียวกับแนวคิดการลดผลกระทบและรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งถูกนำเสนอออกมาในหลากรูปแบบ ตั้งแต่ระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลักษณะเมืองที่พัฒนาอยู่บนแนวคิดเรื่องความยั่งยืน เหล่านี้ก็เพื่ออนาคตของโลกและคนบนโลกทั้งสิ้น 

พูดถึงความยั่งยืนในอนาคตไม่นานมานี้ ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่าปัจจุบันโลกมีจำนวนประชากรมากเกิน 8 พันล้านคนแล้ว โดยเพิ่มจาก 7 พันล้านคน ภายในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ  

แม้สหประชาชาติจะบอกว่าตัวเลขประชากรที่เกิน 8 พันล้านคนนี้ อาจเป็นข้อมูลที่ล่าช้ากว่าความเป็นจริง เพราะเป็นเรื่องยากจะประเมิน ขณะเดียวกัน ยูเอ็นยังมองแนวโน้มในอนาคตว่าประชากรโลกอาจเริ่มชะลอตัวลงจากหลายปัจจัย โดยอาจใช้เวลาถึงอีก 15 ปีที่ประชากรโลกจะแตะระดับ 9 พันล้านคน อีกทั้งคาดว่าประชากรโลกจะไม่เพิ่มจนแตะ 1 หมื่นล้านคนจนกว่าจะถึงปี 2080  

การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกนับว่ามีนัยสำคัญหลายประการ ซึ่งผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นคือ ความต้องการใช้ทรัพยากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทว่าศักยภาพทรัพยากรของโลกที่มีข้อจำกัดหลายประการ นั่นจึงเป็นเหตุว่าทำไมปัจจุบันเราพูดกันถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนและเทคโนโลยี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7pCAXSWPETxTTU5LTH0GZx/8333ce451b3bee3c42068cbcb0ff1fd4/neom-saudi-arabia-the-line-architects-with-songdo-korea-smart-city-SPACEBAR-Photo01
Photo: แฟ้มภาพ ผู้โดยสารชาวอินเดียภายในสถานีรถไฟใต้ดินในชั่วโมงเร่งด่วนในกรุงนิวเดลีเมื่อปี 2016 (Photo: MONEY SHARMA / AFP)
ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบียได้เปิดตัวโครงการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่เรียกได้ว่าเป็น 'ยูโทเปียกลางทะเลทราย' ในรูปแบบแหวกแนวซึ่งเรียกเสียงฮือฮาและความสนใจไปทั่วโลก จากโครงการ "The Line" เมืองกำแพงแนวตั้ง ทอดตัวจากฝั่งทะเลแดงที่เมืองนีโอม (Neom) ใช้เวลาเดินทางจากต้นทางถึงสุดปลายทางในของทั้งเมืองเพียง 20 นาที  

การออกแบบของ The Line ซาอุฯ ต้องการสะท้อนภาพชุมชนเมืองในอนาคต สามารถรองรับประชากรได้ราว 9 ล้านคน บนสภาพแวดล้อมที่ถูกเนรมิตขึ้นในแบบไร้ถนน รถยนต์ มลพิษ ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนความยาว 170 กิโลเมตร กับความกว้างเพียง 200 เมตร แหวกรูปแบบโครงสร้าของเมืองแบบทั่วไปที่เป็นลักษณะแนวราบ อีกสิ่งสำคัญคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนแม้อยู่กลางทะเลทราย 

เอาว่าแนวคิดของเมืองยูโทเปียแนวแบบกำแพงแนวตั้งนี้ ก็ดูน่าสนใจและน่าจับตามองหลายประการ แต่เพียงไม่นานหลังจากรัฐบาลริยาดเปิดตัว The Line สู่สายตาโลก บรรดาสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองจำนวนไม่น้อยที่วิจารณ์ว่าไม่ต่างกับสลัมแนวตั้งที่แม้จะดูยั่งยืนแต่กลับไร้ซึ่งความมีชีวิตชีวา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/67nOU7bu9HKysoDQplMQzv/72fef50c0577841da30d8b4f3c34afee/neom-saudi-arabia-the-line-architects-with-songdo-korea-smart-city-SPACEBAR-Photo02
Photo: ภาพจำลองโครงการ The Line เมืองนีโอม ซาอุดีอาระเบีย (Photo: NEOM / AFP)

ขายฝันเมืองล้ำ แต่ไร้ชีวิตชีวา

มาร์แชล บราวน์ รองศาสตราจารย์ด้านผังเมืองจากมหาวิทยาลัย Princeton ตั้งข้อสงสัยหลายประการว่า วิสัยทัศน์เมืองในอุดมคติของซาอุฯ สามารถเป็นจริงได้แค่ไหน โดยเขาเชื่อว่าการวางผังเมืองเป็นเส้นตรงแบบนี้ แม้จะดูสวยหรูถึงแนวคิดแห่งอนาคต แต่ความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยากด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น วัสดุที่ใช้ก่อสร้างซึ่งต้องใช้คอนกรีตซีเมนต์มหาศาล ซีเมนต์จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร จะสามารถระบายลมได้อย่างไร โครงสร้างแนวตั้งสูงแคบจะยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกอัดอัด อีกทั้งแนวยาวที่เป็นเส้นตรงของโครงการ อาจขัดขวางเส้นทางการเดินทางหรืออพยพของสัตว์ในท้องถิ่นบางชนิด  

เช่นเดียวกับเฮเลเน ชาร์เทียร์ อำนวยการฝ่ายวางผังเมืองและออกแบบของ C40 Cities องค์กรระหว่างประเทศความร่วมมือด้านผังเมืองยั่งยืน เปรียบเทียบ The Line กับโครงการออกแบบเมืองเมืองเชิงเส้นตรงอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่เคยถูกนำเสนอแต่ยังไม่เคยถูกสร้างมาก่อน  

เช่นในปี 1882 Arturo Soria y Mata นักวางผังเมืองชาวสเปนได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเมืองเชิงเส้น และผังเมืองเชิงเส้นของรัฐนิวเจอร์ซีย์ในปี 1965  “ความรู้สึกแรกของฉันคือมันน่าสนใจเพราะเราต้องการความตื่นตะลึงในการพัฒนาเมืองเพื่อรับรองแนวคิดเรื่องความกะทัดรัดและทุกอย่างที่ผสมผสานการใช้งาน แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็สงสัยว่าสิ่งที่ออกแบบบนกระดาษมันจะเป็นจริงได้แค่ไหน และหากเป็นจริง ฉันไม่ได้อยากอยู่ที่นั่น พูดตามตรง ฉันไม่อยากอยู่ในที่แคบๆ มันค่อนข้างอัดอัด” 

ขณะที่ วินีย์ มาสส์ สถาปนิกชาวดัตช์ มองว่า แม้ส่วนตัวเขาจะชอบสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนและแนวคิดสมาร์ทซิตี้ แต่คอนเซปต์ของ The Line มันค่อนข้างแย่ แถบไม่ต่างกับชุมชนแออัด มันไม่เอื้อให้มีกระแสลมไหลผ่าน คุณอาจกำลังนั่งปิกนิกอยู่บนหลังคาบ้านของใครบางคนเนื่องจากเป็นเมืองแนวตั้ง  

ไม่ต่างกับ ฟิลิป โอลด์ฟีลด์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่าการออกแบบเช่นนี้ จะทำให้คุณภาพชีวิตน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร อีกทั้งระหว่างการก่อสร้างอาจเกิดมลพิษมากยิ่งกว่าที่เมืองจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/13txrCOhGrZ0lDppkFuPNF/3c651eef9ef99519a9f956a75d0f00ac/neom-saudi-arabia-the-line-architects-with-songdo-korea-smart-city-SPACEBAR-Photo03
Photo: ภาพจำลองโครงการ The Line เมืองนีโอม ซาอุดีอาระเบีย (Photo: NEOM / AFP)
เขากล่าวว่า โครงการนี้จะมีคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1.8 กิกะตัน จากเหล็ก กระจก และคอนกรีต "คุณไม่สามารถสร้างอาคารสูง 500 เมตร ความยาว 170 กิโลเมตรจากวัสดุคาร์บอนต่ำได้ นอกจากการใช้คอนกรีต" เขายังกล่าวว่าระยะทาง 170 กม. การสร้างกำแพงกั้นขนาดใหญ่จะส่งผลต่อระบบนิเวศที่อยู่ใกล้เคียง วัสดุภายนอกที่เป็นกระจกจะเป็นอันตรายต่อนกเช่นกัน นี่ยังไม่พูดถึงการจัดการระบบสาธารณูปโภคของเมืองที่ยังมีคำถามว่าจะจัดการเช่นไร  

แม้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ชาวเน็ตบางคนก็แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามต่อความเป็นได้ในการก่อสร้างของ The Line ได้เช่นกัน โดยมีผู้ใช้งาน TikTok ไม่น้อยระบุว่า โครงการนี้น่าสนใจเชิงคอนเซปต์แต่มันดูไม่น่าอยู่  

“คุณอยากอยู่ในที่ซึ่งสองข้างเป็นกำแพงสูง บ้านพักตั้งเรียงรายซ้อนกัน บนสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้น หรือคุณอยากอยู่บนเมืองแนวราบที่เป็นสมาร์ทซิตี้ มีสวนสาธารณะที่ถ่ายเท มีวิวทิวทัศน์ภูเขา แม่น้ำจากธรรมชาติ สิ่งไหนทำให้คุณรู้สึกมีชีวิตชีวาในแต่ละวันมากกว่ากัน”

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดกล่าวตรงกันว่า หากก่อสร้างจริงโครงการ The Line  มันจะไม่มีทางเหมือนกับในภาพกราฟฟิกที่เราเห็นอย่างแน่นอน อาจแตกต่างเล็กน้อยหรือถูกเปลี่ยนแบบไปโดยสิ้นเชิง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3TvC23qQNr6TudfRAbcHTB/495a06238cbd399fcd01c03aa68908c7/neom-saudi-arabia-the-line-architects-with-songdo-korea-smart-city-SPACEBAR-Photo04
Photo: ภาพจำลองโครงการ The Line เมืองนีโอม ซาอุดีอาระเบีย (Photo: NEOM / AFP)

สมาร์ทซิตี้ที่เป็นจริง

ย้อนกลับไปรายงานของสหประชาชาติที่ว่าเมื่อ 11 ปีก่อนประชากรโลกอยู่ที่ 7 พันล้าน ก่อนจะเพิ่มมาเป็นล่าสุดที่ 8 พันล้านคน อันที่จริงเมื่อ 11 ปีก่อน ได้เกิดแนวคิดสร้างเมืองยั่งยืนสมารท์ซิตี้ ที่ปัจจุบันเมืองถูกพัฒนาจนผู้คนสามารถเข้าไปใช้ชีวิตทำงานและพักอาศัยกันได้แล้วนั่นคือเมือง ซองโด ในจังหวัดอินชอน ของเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองต้นแบบสมาร์ทซิตี้ที่แทบจะสมบูรณ์ที่สุดของโลก  

เมืองซองโด หรือ Songdo International Business District  เป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นจากการถมพื้นที่บางส่วนของชายฝั่งที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ โดยวางแผนให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ปัจจุบันเมืองนี้ถูกสร้างขึ้นแล้วกว่า 50% บนพื้นที่ 6 ตารางกิโลเมตรของที่ดินที่ได้จากการถมทะเล ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 94,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุับนมีประชากรอาศัยอยู่ราว 160,000 คน มีอัตราการปล่อยมลพิษน้อยกว่า 70% โดยซองโดมีเป้าหมายบรรลุลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ ให้เท่ากับศูนย์ภายในปี 2050 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6kijUk3ZcleVjNZbrvhyzj/0d933f90dc6eb50e7a688003ff2578a7/neom-saudi-arabia-the-line-architects-with-songdo-korea-smart-city-SPACEBAR-Photo05
Photo: แฟ้มภาพมุมสูงเมืองซองโด จังหวัดอินชอน เมื่อปี 2011 (Photo: Kohn Pedersen Fox / Kohn Pedersen Fox / AFP)
การวางผังเมืองของซองโดก็นับว่าน่าสนใจ แม้จะดูเหมือนเมืองแนวราบโดยทั่วไป แต่ผังเมืองได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก เมืองได้รับแรงบันดาลใจจากเซ็นทรัลปาร์ก ในนครนิวยอร์กผสมผสานกับการสัญจรทางน้ำของเมืองเวนีส มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวไว้ที่ 40% ของเมืองพร้อมทางเดินเท้าและจักรยานทั่วเมือง ทำให้พื้นที่อยู่อาศัย กิจกรรมเอาดอร์ วัฒนธรรม และธุรกิจ ผสมผสานอย่างลงตัว ไม่พลุกพล่านเหมือนย่านการค้าในกรุงโซล  

การออกแบบผังเมืองลักษณะ Superblock ที่จะเป็นลักษณะกลุ่มพื้นที่สี่เหลี่ยม 9 บล็อกจับกลุ่มกันเป็นหนึ่ง Superblock มีลักษณะเป็นบล็อคสี่เหลี่ยมและมีถนนตัดผ่านระหว่างบล็อค ช่วยลดมลพิษทางเสียงและอากาศจากรถยนต์ ตลอดจนความเร็วของรถในเขตเมืองด้วย  

นอกจากนี้ซองโดยังใช้ระบบกำจัดขยะด้วยอุโมงค์สุญญากาศ โดยที่ขยะทั้งหมดจะถูกดูดลงไปในท่อใต้ดิน จากนั้นจะคัดแยกและรีไซเคิลฝังหรือเผาโดยอัตโนมัติเพื่อเป็นเชื้อเพลิง ท่อเหล่านี้เชื่อมต่ออาคารอพาร์ตเมนต์และสำนักงานทั้งหมด ทำให้เมืองนี้ปราศจากรถขยะหรือถังขยะตามมุมถนน 100% 

ซองโดถือเป็นตัวอย่างเมืองแบบยูโทเปียล้ำแห่งอนาคต ที่ถูกสร้างขึ้นจริง มีผู้อยู่อาศัยจริง และดูเป็นเมืองที่สร้างขึ้นได้จริงหากเทียบกับยูโทเปียของซาอุฯ อย่างโครงการ The Line  

แม้ว่าโครงการ The Line จะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่คอนเซปต์นี้จะเป็นจริงได้แค่ไหนแม้ไม่อาจแน่ชัดได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดจินตนการที่เกิดขึ้นนั้นแม้ทำให้เกิดข้อถกเถียงต่างๆ นานา แต่ทั้งหมดทำให้เราถกและขบคิดถึงการสร้างความยั่งยืนต่อโลก เมื่อถึงวันที่โลกมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นบนทรัพยากรโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์