นอนดึกไม่พอ ยังติดนิสัยทำร้ายสุขภาพ การศึกษาชี้ เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

2 ต.ค. 2566 - 07:41

  • การศึกษาล่าสุด พบว่าคนนอนดึกหรือเรียกว่า ‘นกฮูก’ ที่มีพฤติกรรมไม่ดีต่อสุขภาพเสี่ยงเป็น ‘โรคเบาหวาน’

  • หลังจากก่อนหน้านี้มีการศึกษาหลายชิ้นพบว่า คนนอนดึกเสี่ยงเป็นหลายโรคและเสียชีวิตเร็วกว่า

Night-owls-with-bad-habits-increase-risk-of-developing-diabetes-SPACEBAR-Hero.jpg

 คุณเป็นแบบนี้หรือไม่ ตอนเช้ามึนๆไม่ค่อยสดใส แต่พอตอนค่ำกลับมีชีวิตชีวา...คุณอาจเป็นนกฮูก ซึ่งเป็นรูปแบบการนอนของคนที่อยู่จนดึกกว่าจะนอน และถ้าใช่ คุณกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ  

การศึกษาล่าสุด เผยแพร่ในวารสาร Annals of Internal Medicine ติดตามพยาบาลเกือบ 64,000 ที่เข้าร่วมใน ‘การศึกษาสุขภาพของพยาบาล 2’ ซึ่งเป็นหนึ่งในการสำรวจที่ใหญ่ที่สุดในการหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังในผู้หญิง พบว่า คนนอนดึก เสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 72% จากการศึกษาในช่วง 8 ปี 

ซีนา เคียเนอร์ซี ผู้นำทีมวิจัย จาก Brigham and Women’s Hospital และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา บอกว่า “โดยรวมแล้วคนที่นอนดึกมักกินอาหารที่แย่กว่า เคลื่อนไหวร่างกายน้อยกว่า มักดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า และค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ไม่ดี มักสูบบุหรี่ และนอนน้อยกว่า หรือมากกว่า 7-9 ชั่วโมงที่มีการแนะนำทุกคืน”  

แต่เมื่อทีมวิจัย นำพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ออกจากข้อมูล พบว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ลดลงมาอยู่ที่ 19% เมื่อเทียบกับคนที่ตื่นเช้า 

คุณเป็นสายไหน ‘นกฮูก’ หรือ ‘นกตื่นเช้า’

ทุกคนจะมีนาฬิกาชีวิตของตัวเอง หรือเรียกว่า จังหวะรอบวัน ซึ่งจะกำหนดการหลั่งฮอร์โมน เมลาโทนิน ที่ช่วยในการนอนหลับ หลายคนอาจคิดว่ารอบการนอนของแต่ละคนเป็นสิ่งที่ตกทอดมา แต่ที่จริงแล้วมันสามารถเปลี่ยนได้ในบางคน 

ถ้าเดิมแล้วคุณเป็นนกที่ตื่นเช้า จังหวะรอบวันของคุณก็จะหลั่งเมลาโทนินก่อนคนทั่วไป คุณก็จะมีพลังในตอนเช้า ส่วนคนที่เป็นนกฮูก ก็จะหลั่งเมลาโทนินทีหลังกว่ามาก ทำให้คุณเฉื่อยชาในตอนเช้าตรู่ และไปตื่นตัวทีหลังในตอนบ่ายและค่ำ แต่นั่นไม่ทั้งหมด เพราะทุกเซลล์ในร่างกายของเรามีจังหวะรอบวันของตัวเอง เช่น เวลารู้สึกหิว เวลาขับถ่าย เวลารู้สึกมีพลังที่จะออกกำลังกาย และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ถ้าการนอนไปขัดขวางจังหวะเหล่านั้น ร่างกายก็จะไม่ประสานกัน 

เคียเนอร์ซี บอกว่า “การหลั่งฮอร์โมนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราอยู่จนดึก การควบคุมอุณหภูมิร่างกายของเราจะเปลี่ยนไป และระบบเผาผลาญก็จะเปลี่ยนไปในทางที่แย่ เหมือนเป็นโดมิโน่ ซึ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังอื่นๆ” 

นักวิจัยยังพบว่า คนที่เป็นนกฮูก แล้วทำงานกะกลางวันเสี่ยงเป็นเบาหวาน แต่ไม่พบในคนที่เป็นนกฮูก ทำงานกะเย็นหรือข้ามคืน ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจว่าควรจัดตารางการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล 

ไม่ใช่แค่เสี่ยง ‘เบาหวาน’ แต่อีกเพียบ

การศึกษานี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบว่าคนนอนดึกและมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาจเสี่ยงที่จะเป็นโรค มีการศึกษาเมื่อเดือนมิถุนายน พบว่าคนที่เป็นนกฮูก มักจะเสียชีวิตเร็วกว่า ส่วนใหญ่เพราะพฤติกรรมแย่ๆที่ทำตอนยังไม่นอน เช่น ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ 

และการศึกษาในปี 2022 ก็พบว่าคนที่เป็นนกฮูก นั่งหรือนอนอยู่กับที่ ออกกำลังกายน้อย และเผาผลาญไขมันได้น้อยกว่านกที่ตื่นเช้า คนที่เป็นนกฮูกจึงมีภาวะดื้ออินซูลิน จุดเริ่มต้นของเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีไขมันช่องท้อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับโรคเบาหวานชนิดที่สอง และโรคหัวใจ 

วิถีชีวิตถือว่ามีส่วนสำคัญต่อความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ แม้ว่าการเป็นนกฮูกจะอยู่ในสายเลือดของแต่ละคน หรืออาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือลดความเสี่ยงจากพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์