‘ฉันโกรธมาก ฉันรู้สึกเหมือนถูกโกงในฐานะพลเมือง’ เปิดใจชาวฝรั่งเศสในวันที่กฎหมายผ่านสภาโดย ‘ไร้เสียงโหวต’

17 มีนาคม 2566 - 05:24

Protests-France-after-Macron-rams-pension-reform-SPACEBAR-Thumbnail
  • การใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายโดยไม่ต้องใช้เสียงโหวต เท่ากับเป็นการยอมรับว่ารัฐบาลไม่ได้รับเสียงข้างมากในการปรับเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 เป็น 64 ปี

  • วุฒิสภาได้ลงมติรับร่างกฎหมายเมื่อวันพฤหัสบดี (16 มี.ค.) ที่ผ่านมา แต่ส.ส.ฝ่ายค้านในสมัชชาแห่งชาติไม่เต็มใจที่จะเข้าข้างมาครง ทำให้รัฐบาลประสบความพ่ายแพ้ในสภาล่าง

  • ฝูงชนหลายพันคนรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาใน Place de la Concorde อันเก่าแก่ใจกลางกรุงปารีส โดยมีตำรวจปราบจลาจลตรึงกำลัง

รัฐบาลของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ผลักดันการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญที่เป็นข้อขัดแย้งผ่านรัฐสภา ‘โดยไม่มีการลงคะแนนเสียง’ ก่อให้เกิดการประท้วงอย่างดุเดือดกลางกรุงปารีสและเมืองอื่นๆ ตลอดจนความโกลาหลในสภานิติบัญญัติ 

การใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายโดยไม่ต้องใช้เสียงโหวต เท่ากับเป็นการยอมรับว่ารัฐบาลไม่ได้รับเสียงข้างมากในการปรับเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 เป็น 64 ปี ขณะที่วุฒิสภาได้ลงมติรับร่างกฎหมายเมื่อวันพฤหัสบดี (16 มี.ค.) ที่ผ่านมา แต่ส.ส.ฝ่ายค้านในสมัชชาแห่งชาติไม่เต็มใจที่จะเข้าข้างมาครง  ทำให้รัฐบาลประสบความพ่ายแพ้ในสภาล่าง 

“เราไม่สามารถเสี่ยงที่จะเห็นการอภิปรายในรัฐสภา 175 ชั่วโมงที่เปล่าประโยชน์” นายกรัฐมนตรีเอลิซาเบธ บอร์น กล่าวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่เธอประกาศความเคลื่อนไหวท่ามกลางเสียงโห่ร้องจากสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านที่ร้องเพลงชาติเช่นกัน ขณะที่ฝูงชนหลายพันคนรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาใน Place de la Concorde อันเก่าแก่ใจกลางกรุงปารีส โดยมีตำรวจปราบจลาจลตรึงกำลัง 

“ฉันโกรธมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ฉันรู้สึกเหมือนถูกโกงในฐานะพลเมือง ในระบอบประชาธิปไตย มันควรจะเกิดขึ้นผ่านการลงคะแนนเสียง” ลอเร คาร์เทลิเยร์ ครูวัย 55 ปีผู้ออกมาแสดงความไม่พอใจกล่าว 

เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำไล่ผู้ประท้วงออกไป หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมจุดไฟกลางจัตุรัสใกล้กับเสาโอเบลิสก์ของอียิปต์ที่มีอายุเกือบ 200 ปี 

ตำรวจปารีสระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมราว 120 คนในข้อหาพยายามสร้างความเสียหาย  

ทางด้านผู้สื่อข่าว AFP รายงานว่า แม้หลังจากการชุมนุมยุติลง ยังมีผู้ประท้วงบางคนก่อไฟและสร้างความเสียหายให้กับร้านค้าตามท้องถนน 

นอกจากนี้ ร้านค้าหลายแห่งยังถูกปล้นระหว่างการประท้วงในเมืองมาร์กเซย์ทางตอนใต้ ขณะที่การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและกองกำลังความมั่นคงก็ปะทุขึ้นในเมืองทางตะวันตกของน็องต์และแรนส์ เช่นเดียวกับลียงทางตะวันออกเฉียงใต้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/24WYu6OYD3snOnMeohf3TS/0517dc38913548d26e79546a62376ed0/Protests-France-after-Macron-rams-pension-reform-SPACEBAR-Photo01
Photo: LOIC VENANCE / AFP

จุดกำเนิด ‘ความล้มเหลวทั้งหมด’ 

สหภาพแรงงานและนักวิเคราะห์การเมืองเตือนว่า การนำร่างกฎหมายนี้ไปใช้โดยไม่มีการลงคะแนนเสียง โดยใช้มาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญ เสี่ยงที่จะทำให้เกิดเสียงจากฝ่ายตรงข้าม และจะตัดทอนความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยของกฎหมาย 

“มันเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงสำหรับรัฐบาล ตั้งแต่เริ่มต้น รัฐบาลหลอกตัวเองโดยคิดว่าตนได้เสียงข้างมาก” มารีน เลอ เปน ผู้นำฝ่ายขวากล่าวกับผู้สื่อข่าว  

จากการสำรวจความคิดเห็น 2 ใน 3 ของชาวฝรั่งเศสคัดค้านการรื้อระบบเงินบำนาญ 

“เมื่อประธานาธิบดีไม่มีเสียงข้างมากในประเทศ ไม่มีเสียงข้างมากในสภาแห่งชาติ เขาต้องถอนร่างกฎหมายของเขา” โอลิเวียร์ โฟเร่ หัวหน้าพรรคสังคมนิยมกล่าวเสริม 

พรรคฝ่ายค้านบางพรรครวมถึงพรรค Le Pen ถูกกำหนดให้ลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันศุกร์นี้ แต่คาดว่าคณะรัฐมนตรีของบอร์นจะอยู่รอดได้ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันฝ่ายขวา 

สหภาพแรงงานเรียกร้องให้หยุดงานประท้วงและประท้วงใหญ่อีกวันในวันพฤหัสบดีหน้า โดยเรียกความเคลื่อนไหวของรัฐบาลว่า ‘เป็นการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง’ 

อองตวน บริสตีแยล ผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดเห็นสาธารณะของ Fondation Jean-Jaures กล่าวกับ AFP  ว่า การออกกฎหมายสำคัญเช่นนี้โดยไม่มีการลงมติ
ของรัฐสภา เสี่ยงที่จะทำให้ประเทศเป็นปรปักษ์กันมากขึ้น และเพิ่มความรู้สึกต่อต้านมาครงยิ่งขึ้น 

ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่าประชาชนราว 8 ใน 10 คัดค้านการออกกฎหมายด้วยวิธีนี้ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นกำลังสูญเสียศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศส 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์