รู้หรือไม่ ปูตินไม่ได้สั่งยิงนิวเคลียร์ได้ง่ายๆ แค่กดปุ่มเดียวอย่างที่คิด

16 พฤศจิกายน 2565 - 03:38

Putin-can't-press-the-nuclear-button-easily-SPACEBAR-Main
  • มีความเป็นไปได้ที่ปูตินจะใช้ ‘ขีปนาวุธทางยุทธวิธีขนาดเล็ก’ โจมตียูเครน และพันธมิตรนาโตบริเวณใกล้เคียง

สำนักข่าว Daily Mail รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ออกแถลงการณ์ส่งสารไปถึงชาติตะวันตกเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาว่า กองกำลังทหารของเขาพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องดินแดนของประเทศ โดยย้ำว่า “นี่ไม่ใช่คำขู่” ซึ่งดูเหมือนว่าครั้งนี้มีความเป็นไปได้มากกว่าเดิม เพราะรัสเซียกำลังเพลี่ยงพล้ำและเพิ่งจะเสียดินแดนคืนให้ยูเครน

แต่ถึงกระนั้น ข่าวดีก็คือ ปูตินไม่สามารถกดปุ่มสั่งยิงนิวเคลียร์ได้ในทันที หากว่าเขาตัดสินใจที่จะโจมตี คำสั่งดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างน้อย 3 ชั้นเพื่อป้องกันการยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์โดยไม่ได้ตั้งใจหรือโดยไม่ได้รับอนุญาต

ก่อนจะไปถึงจุดไซโลนิวเคลียร์หรือสถานที่ปล่อยนิวเคลียร์ อาทิ จุดปล่อยจรวดเคลื่อนที่ รวมถึงเรือดำน้ำ เป็นต้น คำสั่งของปูตินจะต้องผ่านการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง 3 คน ได้แก่ ‘เซียร์เกย์ ชอยกู’ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ‘วาเลรี เกราซีมอฟ’ เสนาธิการใหญ่กองทัพรัสเซีย และ ‘เซียร์เกย์ คาราคาเยฟ’ หัวหน้ากองกำลังจรวดนิวเคลียร์รัสเซีย

แม้ว่าจะผ่านการพิจารณาของ 3 คนนี้แล้ว ก็ยังไม่มีคำสั่งยิงนิวเคลียร์ในทันที

ตามปกติแล้ว (หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีหลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน) จะมีช่องว่างราว 20 นาทีระหว่างการถ่ายทอดคำสั่งจาก ‘นิวเคลียร์ฟุตบอล’ หรือกระเป๋าบรรจุโค้ดสั่งยิงนิวเคลียร์ที่เรียกว่า Cheget กับข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมาย เพื่อให้กองกำลังนิวเคลียร์ได้ตรวจสอบว่าเป็นคำสั่งที่ถูกต้องหรือไม่

ขั้นตอนการป้องกันเหล่านี้มีความสำคัญมากเมื่อพิจารณาจากขนาดคลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งคาดว่ามีหัวรบนิวเคลียร์ 5,977 ลูก ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนใหญ่เก็บไว้ในคลังเก็บ 12 แห่งทั่วรัสเซีย โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 1,500 ลูกที่พร้อมจะยิง

Daily Mail ระบุว่า ก่อนหน้าสงครามยูเครน ปูตินเคยอวดอ้างว่าระบบป้องกันขีปนาวุธสตาร์วอร์ของสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจที่จะหยุดยั้งขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกตัวใหม่ของเขาได้

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ อาวุธที่รัสเซียน่าจะใช้มากที่สุดคือขีปนาวุธทางยุทธวิธีขนาดเล็กที่ใช้โจมตีเพื่อนบ้านอย่างยูเครนหรือประเทศพันธมิตรนาโตที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

อาวุธนิวเคลียร์ส่วนใหญ่เหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในเขตแดนรัสเซียฝั่งยุโรปและเมืองคาลินินกราด ดินแดนของรัสเซียซึ่งอยู่ระหว่างโปแลนด์และลิทัวเนีย หนึ่งในนั้นมีขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลอย่าง ‘คาลิเบอร์’ ซึ่งสามารถยิงไปถึงลอนดอนได้

และมีความเป็นไปได้ว่าปูตินอาจสร้างความประหลาดใจให้กับตะวันตกด้วยการใช้ ‘ขีปนาวุธอิสกันเดอร์’ พิสัยใกล้เพื่อยิงขีปนาวุธที่บรรจุหัวรบนิวเคลียร์

และหากยิงจากเครื่องยิงที่ติดตั้งบนรถบรรทุกในดินแดนของรัสเซีย แม้แต่ ขีปนาวุธอิสกันเดอร์ ก็ยังสามารถโจมตีกรุงวอร์ซอหรือสตอกโฮล์มด้วยหัวรบที่มีพลังทำลายล้างรุนแรงกว่าระเบิดฮิโรชิมะถึง 8 เท่า

Daily Mail ระบุอีกว่า สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือว่าหัวรบนิวเคลียร์ที่เก่าเก็บของรัสเซียยังใช้งานได้หรือไม่ เพราะสนธิสัญญาห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียไม่ได้จุดชนวนอาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว

ในสถานการณ์เช่นนี้ คำเตือนสาธารณะใดๆ ก็ตาม ไม่น่าจะบรรลุผลอะไรมากไปกว่าความตื่นตระหนกของมวลชน นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลตะวันตกเชื่อมั่นว่าการป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์อาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่าแผนฉุกเฉิน ซึ่งชาติตะวันตกมีแนวโน้มที่จะเกลี้ยกล่อมปูตินให้ถอนตัวจากปากเหว แทนที่จะพัฒนาระบบเตือนภัยสาธารณะ

Daily Mail สรุปว่า อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถเชื่อคำสัญญาของปูตินได้ เราควรเชื่อคำขู่ของเขาอย่างจริงจัง การขู่ว่าจะทิ้งระเบิดนิวเคลียร์อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ปูตินพร้อมจะทำสงครามอีก ซึ่งนั่นอาจทำให้กองทัพยูเครนตัดสินใจยอมแพ้และชาติตะวันตกก็อาจจะถอนตัวออกไป
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1U2gXrVAexIVaOfvwDCsEz/f8ded8f44673366dd9e24be3ca071c26/__________________________________________

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์