เลขาฯ UN เตือนน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นภัยคุกคามร้ายแรงของหลายประเทศ กรุงเทพฯ ก็เสี่ยงด้วย

15 ก.พ. 2566 - 08:34

  • “ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เมตรในอีก 2,000 ปีข้างหน้า หากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส”

  • “เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส น้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 6 เมตร และเมื่อเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียส น้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 22 เมตร”

Rising-seas-risk-death-sentence-for-some-nations-UN-chief-Edit-SPACEBAR-Hero
สำนักข่าว AP News รายงานว่า อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เตือนเมื่อวันอังคาร (14 ก.พ.) ที่ผ่านมาว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแม้ว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และโลกมีแนวโน้มที่จะร้อนมากขึ้น ซึ่งเท่ากับ "โทษประหารชีวิต" สำหรับประเทศที่อ่อนไหวต่อระัดับน้ำทะเล 

“ทุกเสี้ยวขององศามีความหมาย เนื่องจากระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นเป็น 2 เท่าหากอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส และอาจเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก” กูเตร์เรสกล่าวในพิธีเปิดการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล 

“ภายใต้สถานการณ์ใดๆ ประเทศต่างๆ เช่น บังกลาเทศ จีน อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ล้วนตกอยู่ในความเสี่ยง และเมืองใหญ่ในทุกทวีปจะเผชิญกับผลกระทบร้ายแรง รวมถึงไคโร ลากอส มาปูโต กรุงเทพฯ ธากา จาการ์ตา มุมไบ เซี่ยงไฮ้ โคเปนเฮเกน ลอนดอน ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก บัวโนสไอเรส และซานติอาโก” กูเตร์เรส กล่าวเสริม 

กูเตร์เรสอ้างถึงรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization/ WMO) ที่เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (14 ก.พ.) ซึ่งระบุว่า “ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เมตรในอีก 2,000 ปีข้างหน้า หากอุณหภูมิโลก่สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส น้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 6 เมตร และเมื่อเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียส น้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 22 เมตร” 

กูเตร์เรส กล่าวอีกว่า “โลกของเรากำลังร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และด้วยนโยบายต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ อุณหภูมิกำลังจะร้อนขึ้นอีก 2.8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นโทษประหารชีวิตสำหรับประเทศที่เปราะบาง…อันตรายจะเกิดขึ้นเฉียบพลันโดยเฉพาะกับประชากรเกือบ 900 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลในระดับต่ำ หรือ 1 ใน 10 คนทั่วโลก” 

“ผลที่ตามมาเป็นสิ่งที่คิดไม่ถึง…ชุมชนที่ราบลุ่มและทั้งประเทศอาจหายไป โลกจะได้เห็นการอพยพจำนวนมากของประชากรทั้งหมด และการแข่งขันจะรุนแรงยิ่งขึ้นในภาคน้ำจืด ที่ดิน และทรัพยากรอื่นๆ” 

อย่างไรก็ดี กูเตร์เรสพยายามเรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการ ในเดือนตุลาคม (2022) เขาเตือนว่าโลกกำลังอยู่ใน ‘การต่อสู้แบบเอาเป็นเอาตาย’ เพื่อความอยู่รอดในขณะที่ความโกลาหลทางสภาพอากาศกำลังถาโถมเข้ามา และกล่าวหาว่าประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 20 อันดับแรกของโลกล้มเหลวในการหยุดโลกไม่ให้ร้อนเกินไป 

ในเดือนพฤศจิกายน (2022) กูเตร์เรสได้กล่าวไว้ว่า โลกกำลังมุ่งหน้าสู่ ‘ความโกลาหลด้านสภาพอากาศ’ ที่แก้ไขไม่ได้ และเรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกนำโลกกลับสู่แนวทางเดิมเพื่อลดการปล่อยมลพิษ รักษาคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนด้านสภาพอากาศ และช่วยประเทศกำลังพัฒนาเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน 

“โลกต้องจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นต้นตอของการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองที่จำเป็น” กูเตร์เรส กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์