1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปลี่ยนแปลงโลกในทิศทางใดบ้าง?

24 กุมภาพันธ์ 2566 - 09:45

Russias-invasion-of-Ukraine-changed-the-world-SPACEBAR-Thumbnail
  • ย้อนรอยสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงโลกและทิ้งหายนะอะไรไว้บ้าง?

24 กุมภาพันธ์ 2023 ครบรอบ 1 ปีจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมสงครามรัสเซีย-ยูเครน จุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองโลกของมหาอำนาจต่างๆ จุดแตกหักของความสัมพันธ์ทางการทูตที่ทำลายความมั่นคงและเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบครั้งใหญ่ที่กระจายไปทั่วโลก  

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสงครามที่เกิดขึ้นเพียงแค่ 2 ประเทศได้รุกรานและสร้างปั่นป่วนไม่น้อยไปทั่วโลก ถึงขนาดที่ผู้นำระดับโลกต้องจับมือนั่งหารือถึงหนทางในการยุติสงครามอย่างสันติวิธี ทว่าดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าใดนักจนกระทั่งเวลาลุล่วงผ่านมาจนครบ 1 ปี 

สงครามนี้คร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ทะลุกว่า 43,000 รายแล้ว บาดเจ็บเกือบ 60,000 ราย อพยพกว่า 14 ล้านคน และอาคารถล่มไปแล้วกว่า 140,000 หลัง 

สงครามแห่งความโหดร้ายนี้ดำเนินเรื่อยมาจากหลายวันเป็นสัปดาห์ และจากหลายสัปดาห์เป็นหลายเดือน จนเวลาพัดผ่านล่วงเลยไปถึง 1 ปี แล้วตลอดปีที่ผ่านมาสงครามรัสเซีย-ยูเครนสร้างหายนะอะไร และเปลี่ยนโลกไปในทิศทางไหนบ้าง? 

พันธมิตรที่เปลี่ยนไป

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Yqw59hopHhEgNVTX211T1/f2d79cfbbe84710d75705b40902bbc1d/Russias-invasion-of-Ukraine-changed-the-world-SPACEBAR-Photo01
การตระหนักถึงสงครามครั้งใหญ่ที่ปะทุขึ้นในยุโรปได้สร้างความแตกต่างทางกลุ่มการเมืองขึ้นเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เข้าข้างรัสเซียของปูติน กลุ่มที่ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยูเครน และกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด  

ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ตอบโต้อย่างรวดเร็วต่อสงครามด้วยมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย แม้จะมีเสียงแตกไปบางส่วนก็ตาม เช่น การจำกัดราคาน้ำมัน และการที่เยอรมนีไม่เต็มใจที่จะส่งรถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ส่วนสหราชอาณาจักรก็กระตือรือร้นที่จะตอกย้ำถึง ‘ความสัมพันธ์พิเศษ’ กับเคียฟด้วยความปรารถนาอย่างยิ่งจากอดีตนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ที่จะเป็นผู้นำในการสนับสนุนทางทหาร เป็นต้น 

ในขณะเดียวกันปูตินเองก็ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรเก่าอย่างประธานาธิบดี บัชชาร์ อัลอัสซาด ของซีเรีย และ ประธานาธิบดี อาเลียกซันดร์ ลูกาแชนกา ของเบลารุส ตลอดจนเข้าสู่ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับอิหร่าน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนทางทหารจากเกาหลีเหนืออีกด้วย และแน่นอนว่ามิตรแท้อย่าง สีจิ้นผิง ของจีน ก็พร้อมอยู่เคียงข้างปูติน แม้จะวางตัวเป็นกลางในสงครามครั้งนี้ก็ตาม 

หนึ่งสัปดาห์หลังการรุกราน มติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ประณามการรุกรานของรัสเซียได้รับเสียงข้างมากอย่างท่วมท้น แต่ก็มีผู้งดออกเสียง 35 ชาติ ในจำนวนนี้มี 3 รัฐในเครือจักรภพ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ปากีสถาน และอินเดีย ส่วนในเอเชียนั้นมีรัฐบาลเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยืนหยัดอย่างเข้มแข็งเคียงข้างยูเครน ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ชาติมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้อย่างจีน อินเดีย และอินโดนีเซียกลับปฏิเสธที่จะเลือกข้าง 

“เอเชียส่วนใหญ่ปฏิเสธกรอบความขัดแย้งของตะวันตกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย แม้ว่าพวกเขามองว่ารัสเซียเป็นพันธมิตรที่น่าอึดอัดใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่เลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การทหาร และการทูตร่วมกัน” เบ็น แบลนด์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย-แปซิฟิกแห่งชัทแธมเฮ้าส์ (Chatham House) กล่าว  

ส่วนอิหร่านนั้นใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทั้งทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ด้วยการสนับสนุนรัสเซียในการปราบปรามการคว่ำบาตรและโดรนโจมตีหลายร้อยลำ ขณะที่มอสโกเองก็คอยตรวจตราเฝ้าระวังเพื่อช่วยกรุงเตหะรานปราบปรามการประท้วงในประเทศล่าสุด 

นอกจากนี้ ตุรกียังกลายเป็นผู้เล่นทางการทูตรายใหม่ที่สำคัญของรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามามีบทบาทในการประสานรอยร้าวของทั้ง 2 ประเทศ โดยเป็นทั้งนายหน้าในข้อตกลงการปิดล้อมธัญพืช ทำหน้าที่เป็นฐานด้านมนุษยธรรมสำหรับการแลกเปลี่ยนตัวประกัน และเป็นเจ้าภาพการเจรจาสันติภาพ (ปัจจุบันยังคงล้มเหลว) ในขณะเดียวกันก็คอยขัดขวางฟินแลนด์และสวีเดนไม่ให้เข้าร่วมนาโตอีกด้วย แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ 

ความเสี่ยงที่ว่า ‘อาวุธนิวเคลียร์’ อาจกลับมาอีกครั้ง  

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5mQgPAK8raS2nE3yqpcQHw/67f37009701566069b70269b0684521c/Russias-invasion-of-Ukraine-changed-the-world-SPACEBAR-Photo02
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นและการควบคุมอาวุธของสหรัฐฯ-รัสเซีย ภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ก็มีความสำคัญน้อยลง ทว่าในปีที่ผ่านมาหลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนอย่างเป็นทางการก็ได้จุดชนวนการนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้อีกครั้ง ซึ่งรายงานว่ารัสเซียได้ยกระดับอาวุธนิวเคลียร์บางส่วนขนาดที่ยิงได้ไกลถึงกรุงลอนดอนเลยทีเดียว 

เมื่อเป็นเช่นนั้นมีหรือที่มหาอำนาจเสรีตะวันตกอย่างสหรัฐฯ จะนิ่งดูดายจนประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต้องประกาศเตือนว่า “โลกอาจตกอยู่ในความเสี่ยงและวินาศเพราะอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Armageddon) ซึ่งอาจแตะระดับสูงสุดในรอบ 60 ปี”  

“แม้ว่าภัยคุกคามอาวุธนิวเคลียร์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังมีคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและวิธีที่ประเทศตะวันตกจะตอบสนอง” ดร.แพทริเซีย ลูอิส ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศแห่งชัทแธมเฮ้าส์ กล่าว  

ปูตินวางอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศของเขาไว้ที่ระดับความเสี่ยงสูงในช่วงเริ่มต้นของสงคราม เพื่อให้ดูเหมือนว่ารัสเซียนั้นมีสถานะพร้อมรบ  

ครั้งหนึ่งปูตินเคยขู่ว่าจะใช้อาวุธปรมาณูหากความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ประกอบกับการกระหน่ำยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ได้กระตุ้นให้เกิดความโกรธมากกว่าความกลัวในหมู่มวลประเทศตะวันตก ่ทว่าความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มความรุนแรงของอาวุธนิวเคลียร์ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกันเมื่อปูตินประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เขากำลังระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่เหลืออยู่เพียงฉบับเดียวกับสหรัฐฯ 

วิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงและอาหาร 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7lRov23H6ZKMiE86zfGJ61/5db3bcd28c6b54b67747ffe3fa4eedee/Russias-invasion-of-Ukraine-changed-the-world-SPACEBAR-Photo03
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ด้านพลังงาน อาหารจำพวกธัญพืช และปุ๋ย เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 ประเทศนี้ขึ้นจึงทำให้อุปทานหยุดชะงักสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว 

ขณะที่ยุโรปก็ต้องยกเลิกการพึ่งพาก๊าซและเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียไปโดยปริยาย “แม้ว่าสงครามจะจบลงในวันพรุ่งนี้ แต่ความเชื่อใจระหว่างผู้บริโภคชาวยุโรปและซัพพลายเออร์หลักของพวกเขาก็ถูกทำลายลงอยู่ดี” แอนโทนี ฟรอกกัตต์ รองผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมและสังคมแห่งชัทแธมเฮ้าส์ กล่าว  

ทั้งนี้ ยุโรปจึงตอบสนองต่อการหยุดชะงักของอุปทาน 2 ทางก็คือ การมองหาก๊าซจากที่อื่นและเร่งการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน โดยในช่วงก่อนปี 2022 สหภาพยุโรปได้เคยให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซลง 40% และใช้พลังงานหมุนเวียน 32% แต่สงครามกลับทำให้เป้าหมายเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเป็น 57% และ 45% ตามลำดับ  

นั่นหมายความว่า ‘ยุคทองของก๊าซกำลังจะจบลงแล้ว’ เพราะหลายประเทศในยุโรปหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น พร้อมทั้งมองหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เพื่อชดเชยก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด 

หากเป็นไปตามนี้ เราอาจจะเห็นภาคพลังงานที่ลดคาร์บอนเกือบเต็มทั่วทั้งภาคส่วน (โดยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางส่วนยังคงเปิดใช้) ภายในปี 2030/2035 “สงครามอาจนำมาซึ่งการลดคาร์บอนภายใน 5-10 ปี” ฟรอกกัตต์ กล่าว  

อย่างไรก็ดี การล่มสลายของการจัดหาท่อส่งก๊าซจากรัสเซียทำให้เยอรมนีและเพื่อนบ้านจำนวนมากต้องหาแหล่งพลังงานจากที่อื่น รวมทั้งจากเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งในภายหลังพบว่าทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะประเทศโมซัมบิกและไนจีเรียได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ด้านพลังงานของยุโรปไปแล้ว 

ขณะที่จีนก็กลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ทั้งยังมีการลงนามใหม่ในข้อตกลงก๊าซระยะเวลา 30 ปีด้านพลังงานภายใต้เงื่อนไขเพิ่มปริมาณจัดหาก๊าซธรรมชาติ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจ่ายเป็นเงินยูโรอีกด้วย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/m9OGb54OtHXLvTwfIeTWv/599837710465171f733d6a9372440e3f/Russias-invasion-of-Ukraine-changed-the-world-SPACEBAR-Photo04
นอกจากนี้ ก็ยังส่งผลกระทบจนเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร ธัญพืช หรือผลผลิตทางการเกษตรขึ้นมา เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยและเกษตรรายใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อาหารทั่วโลกจึงส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเกิดวิกฤตค่าครองชีพตามมาในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา 

“เป็นไปไม่ได้ที่จะแยกวิกฤตอาหารออกจากวิกฤตพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ ราคาเชื้อเพลิงที่สูงทำให้ราคาปุ๋ยและค่าขนส่งสูงขึ้น ซึ่งรีดไถผลกำไรของเกษตรกรส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นด้วย” ลอรา เวลเลสลีย์ นักวิจัยอาวุโสในโครงการสิ่งแวดล้อมและสังคมกล่าว 

สภาพเศรษฐกิจที่ทรุดโทรมและลุกลามไปทั่วโลก

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1Ne6qBuhfapvFzY3An5ITE/33e594eb2268ae6742727ccf3ebda53d/Russias-invasion-of-Ukraine-changed-the-world-SPACEBAR-Photo05
สงครามทำให้การค้าโลกหยุดชะงักอีกครั้งทั้งที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด-19 ด้วยซ้ำ ขณะที่เรือบรรทุกธัญพืชยังคงแล่นออกจากยูเครนภายใต้ข้อตกลงนายหน้าของสหประชาชาติที่เปราะบาง และราคาก็สูงเป็นประวัติการณ์ แต่อาหารยังคงเป็นปัจจัยหลักทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรัสเซียเองก็โทษตะวันตกที่มีส่วนทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น ในขณะที่ยูเครนและพันธมิตรกล่าวหาว่ารัสเซียนั้นเย้ยหยันความหิวโหยมาเป็นอาวุธ 

“สงครามได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของโลกที่เชื่อมโยงถึงกันเช่นเดียวกับที่เกิดโรคระบาด”  เทรซีย์ เยอรมัน ศาสตราจารย์ด้านความขัดแย้งและความมั่นคงแห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน กล่าว  

เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ อาหาร และพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกประสบกับภาวะเงินเฟ้อ ทั้งยังเผชิญปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘shrinkflation’  คือ ผู้ผลิตขายสินค้าในราคาเท่าเดิมแต่ลดปริมาณหรือขนาดของสินค้าลง ถือเป็นสภาวะที่สะท้อนเงินเฟ้ออีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เราซื้อของในราคาที่แพงขึ้น แม้จะจ่ายเท่าเดิม แต่ได้ของน้อยกว่าเดิมนั่นเอง 

“ทั่วโลกอาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเร็ววันนี้้่  ซึ่งจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี หลังเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19” ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) กล่าว 

IMF คาดการณ์ว่าในปีนี้ (2023) เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียงร้อยละ 2.7 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2001  

ขณะที่ไทยเองก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ด้วยเหมือนกันจากพิษของสงครามในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากจากวัตถุดิบต่างๆ เริ่มมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่าขนส่งแพงตาม เพราะราคาน้ำมันเองก็สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จนส่งผลให้ราคาอาหารปรับขึ้นราคากันไปตามๆ กัน นอกจากนี้ ไทย รวมถึงเพื่อนบ้านเอเชียยังประสบปัญหาค่าไฟ และค่าก๊าซแพงขึ้นอีกด้วย 

ความหวังใหม่ของ ‘ยูเครน’ 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1msTlK0zb4LBxNlbGQ4LNJ/ea8a77ac71221f0dfa18109e0f1ee280/Russias-invasion-of-Ukraine-changed-the-world-SPACEBAR-Photo06
การโจมตีอย่างโหดร้ายของรัสเซียทำให้ยูเครนสูญเสียและได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ก็ทำให้ประเทศรวมเป็นหนึ่งเดียวในลักษณะที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งผู้สังเกตการณ์รู้สึกประหลาดใจมากกับความแข็งแกร่งของการต่อต้าน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของยูเครน 

แม้จะมีผู้พลัดถิ่นประมาณ 14 ล้านคน และด้วยโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน รวมถึงเครือข่ายการขนส่งที่ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง แต่ยูเครนก็ยังคงใช้งานโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างน่าทึ่ง 

“จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มสงคราม ชาวยูเครนได้ปรากฏตัวขึ้นและทำลายปมด้อยของประเทศในการเป็น ‘น้องเล็ก’ ของรัสเซียว่าพวกเขาจะไม่มีวันอยู่ภายใต้ร่มเงาของจักรวรรดิรัสเซียอีกต่อไป” โอรีเซีย ลุตเซวิช หัวหน้ากลุ่มยูเครนฟอรัมแห่งชัทแธมเฮ้าส์ กล่าว 

สงครามดังกล่าวถือเป็นการโจมตีทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว โดยมีประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ที่แสดงความเป็นเอกภาพและการท้าทายในครั้งนี้ 

“การที่เซเลนสกีปฏิเสธการขนส่งทางอากาศที่เสนอโดยประธานาธิบดีไบเดนในช่วงต้นของสงครามถือเป็น ‘ช่วงเวลาแห่งการเกิดใหม่’ สำหรับเขาและการเมืองของยูเครน…การตัดสินใจของเขาที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคงและเผชิญหน้ากับความน่าสยดสยองของสงครามกับพลเมืองของเขา แม้จะถูกทหารรับจ้างตามโจมตีก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีนัยสำคัญอย่างมาก' ลุตเซวิช กล่าว 

หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เซเลนสกีถือเป็น ‘ความหวังใหม่และศูนย์รวมของยูเครน’ เพราะ การเมืองภายในประเทศยุคก่อนหน้าเซเลนสกีนั้นค่อนข้างมีความขัดแย้งสูง เนื่องจากประชาชนมีความไว้วางใจบุคคลสำคัญทางการเมืองในระดับต่ำ เนื่องจากผู้นำหลายคนเข้าไปพัวพันกับการทุจริตบ่อยครั้ง จนกระทั่งในปี 2019 ที่เซเลนสกีก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีพร้อมกับแรงสนับสนุนจากภูมิภาคที่หวังจะให้เขาเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในเพื่อต่อสู้กับการทุจริต และนำสันติภาพมาให้ 

“แม้ในยามสงคราม เขาก็ยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการทุจริตและเสริมสร้างหลักนิติธรรมในยูเครน ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าสำคัญมาก และสงครามก็ยังทำให้ยูเครนมีความทะเยอทะยานที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับยุโรปมากขึ้นด้วย” ลุตเซวิช กล่าว 

ในตอนนี้เซเลนสกีกำลังเล่นกับความกลัวของปูติน ด้วยการต่อต้านอย่างกล้าหาญของยูเครนโดยมีสหภาพยุโรปและนาโตคอยหนุนหลังอยู่ แม้ว่าปัญหาการเป็นสมาชิกนาโตในอนาคตของยูเครนมักจะถูกมองข้ามไปในเชิงการทูต แต่ยุโรปก็ยื่นมือเข้ามาแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยการตัดสินใจที่จะให้สถานะผู้สมัคร EU ของยูเครนโดยการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ (โดยมีเงื่อนไข) อีกภายในไม่กี่ปี 

“แม้จะมีเส้นทางที่ยาวไกล แต่มุมมองของสมาชิกยังคงมีความสำคัญ มันจะเป็นคะแนนเสียงแห่งความมั่นใจที่ชาวยูเครนต้องการอย่างยิ่ง” คาทารีน่า วอลชุค แห่งชัทแธมเฮ้าส์ กล่าว 

รัสเซีย-ยูเครนจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4RjDlugWyYhA0BW4QxVxs0/bca74abd27a85b3f16ec2946dd6a923b/Russias-invasion-of-Ukraine-changed-the-world-SPACEBAR-Photo07
ตอนนี้มีคำถามมากมายเกิดขึ้นว่าในอนาคตประธานาธิบดีคนใดจะได้รับการคาดหวังในการนำยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของทั้งนาโตและสหภาพยุโรป และมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศที่ปลอดภัยและประสบความสำเร็จ 

คำถามต่อไปก็คือ เมื่อไหร่ล่ะ? แล้วมันจะไปถึงขั้นนั้นได้อย่างไรกัน? คนส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า การพักรบหรือการหยุดยิงใดๆ ที่ไม่มีข้อตกลงของรัสเซียในการถอนดินแดนที่ถูกยึดครองจะไม่ได้รับการยอมรับจากยูเครนซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจะเอาชนะกองกำลังรัสเซียในดินแดนของตนให้ได้ 

“การฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดน และการมอบความยุติธรรมให้กับอาชญากรรมสงคราม แน่นอนว่ารัสเซียต้องชดใช้สำหรับการทำลายล้างในครั้งนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในชัยชนะของยูเครน”   

อย่างไรเสีย การพูดถึงอาชญากรสงคราม การชดใช้ค่าเสียหาย ตลอดจนการลงโทษอาจดูเร็วเกินไป และบางคนอาจสงสัยในประสิทธิภาพของกฎหมายในการนำตัวผู้กระทำความผิดขึ้นศาล 

“นี่เป็นเครื่องมือเดียวของอารยธรรมที่เรามีเพื่อให้แน่ใจว่าในท้ายที่สุดแล้วทุกคนที่ทำให้สงครามครั้งนี้เป็นไปได้จะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและสหพันธรัฐรัสเซีย...จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนด้วย” ดีมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน กล่าว 

“โดยธรรมชาติแล้วการเจรจาสันติภาพมักเกี่ยวข้องกับการประนีประนอม แต่ก็มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่จะทำให้อธิปไตยของยูเครนไม่ปลอดภัย” บรอนเวน แมดด็อกซ์ อดีตผู้อำนวยการแห่งชัทแธมเฮ้าส์ กล่าว 

“แม้จะมีความท้าทาย แต่ก็มีการแก้ไขระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากที่รัฐต่างๆ ตกลงที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพราะขาดความไว้วางใจและความปรารถนาดีอย่างมาก” ราซมิน ซากู หัวหน้าโครงการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งชัทแธมเฮ้าส์ กล่าว 

“ระเบียบเสรีนิยมตะวันตกได้รับการออกแบบมาให้ทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน โดยทำงานร่วมกันเพื่อยับยั้งการใช้กำลังเพื่อละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของชาติ" ดร.เลสลี วินจามูรี ผู้อำนวยการโครงการสหรัฐฯ แห่งชัทแธมเฮ้าส์ กล่าว 

ขณะที่สงครามของรัสเซียกับยูเครนก็ยังคงดำเนินต่อไปในเวลานี้ “อนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่ไม่ว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เห็นได้ชัดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ซึ่งเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของทวีปยูเรเชียและกระบวนการยุติความทะเยอทะยานของจักรวรรดิรัสเซีย และนั่นจะเป็นมรดกที่ควรค่าแก่การต่อสู้” ลุตเซวิช กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์