ทำไมไทยต้องสนิทกับซาอุฯ เข้าไว้ และเป้าหมายของมุฮัมมัด บิน ซัลมานคือ?

18 พ.ย. 2565 - 10:30

  • เอเชียคือเป้าหมายใหม่ของซาอุดิอาระเบียที่จะใช้ถ่วงดุลกับมหาอำนาจ

  • ไทยจะต้องไม่พลาดโอกาสในการเข้าไปร่วมการปรับดุลครั้งนี้ในเวที APEC

Saudi-crown-prince-courts-asia-amid-row-with-washington-SPACEBAR-Thumbnail
การมาเยือนกรุงเทพฯ ของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย  ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะสำหรับประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค และในฐานที่ไทยกับซาอุดิอาระเบียเคยมีปัญหาต่อกันมานานถึง 3 ทศวรรษ  

ในแง่หนึ่ง มันคือการตอกย้ำว่า นี่คือการประกาศต่อชาวโลกอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่า ซาอุดิอาระเบียคืนดีกับไทยแล้ว และผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงของประเทศถึงกับเสด็จมาเยือนไทยด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามอีกนับร้อยชีวิต การได้ซาอุดิอาระเบียกลับมาเป็นมิตรประเทศคือโอกาสทองของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง ในยุคที่น้ำมันแพง ข้าวของแพง คนตกงานมากมาย  

มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ไม่ได้ทรงเป็นแค่ว่าที่ประมุขในอนาคตของประเทศเท่านั้น แต่ทรงมีอำนาจแท้จริงและเป็นอำนาจที่ยากที่จะท้าทายในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดิอาระเบีย นี่คืออำนาจในทางการเมืองและยังทรงมีอำนาจในทางการเงิน ในฐานะผู้ควบคุมที่แท้จริงของกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund หรือ PIF) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก  

ทางไทยสามารถทำให้ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ทรงพอพระทัยได้ เท่ากับไทยเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล  แต่การเสด็จมาไทยครั้งนี้ในช่วงการประชุมเอเปคและช่วงที่อาเซียนเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกหลายรายการ ยังมีความนัยเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องติดตามอยางใกล้ชิดด้วย 

สำนักข่าว AFP ได้ติดตามและตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ในรายงานเรื่อง "มกุฏราชกุมารซาอุฯ หันมาซบเอเชียท่ามกลางความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐฯ"   
รายงานนี้ชี้ว่า มกุฎราชกุมารผู้ทรงอิทธิพลของซาอุดิอาระเบียทรงทัวร์เอเชียโดยแวะหลายจุด เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบีย มหาอำนาจด้านพลังงาน กับเอเชียซึ่งเป็นตลาดพลังงานที่ใหญ่ที่สุด และยังเป็นการส่งสัญญาณว่าซาอุดิอาระเบียมุ่งมั่นที่จะเติบโตด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระจากความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น ทั้งประเด็นเรื่องอิทธิพลของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน และล่าสุดเกี่ยวกับการจัดหาน้ำมันป้อนตลาดในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงสุดกู่ 

มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองโดยพฤตินัยวัย 37 ปี ของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เริ่มเสด็จเมื่อวันจันทร์เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย 

ตอนแรก สำนักข่าวซาอุดิอาระเบียกล่าวว่าการเดินทางครั้งนี้จะรวมถึง "ประเทศในเอเชียจำนวนหนึ่ง" ซึ่ง ณ เวลานั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ยืนยันรายละเอียดของกำหนดการเดินทางก็ตาม 

AFP คาดว่าที่น่าจะทรงแวะที่เกาหลีใต้ก่อน ซึ่งสื่อท้องถิ่นรายงานว่า มกุฏราชกุมารจะเข้าเฝ้าผู้นำธุรกิจ จากนั้น คาดว่าจะทรงเข้าร่วมการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ 

ปรากฏว่าการคาดการณ์นี้เป็นความจริง มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ทรงแวะที่เกาหลีใต้หารือกับประธานาธิบดี ตามด้วยดีลทางธุรกิจต่างๆ ที่นำโดย ARAMCO บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก ดีลกับเกาหลีใต้มีมูลค่าถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว 

นี่ขนาดเป็นเกาหลีใต้ยังทรงผลักดันดีลมูลค่ามหาศาลขนาดนี้ ถ้าไทยเจรจาถูกจุด เงินจะไหลเข้ามาขนาดไหน?  

แต่การเดินสายทัวร์เอเชียมีนัยทางการเมืองด้วย AFP ชี้ว่าการเดินทางครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลริยาดเกิดความบาดหมางกับรัฐบาลวอชิงตันฯ เกี่ยวกับการตัดสินใจในเดือนตุลาคมของกลุ่มพันธมิตรน้ำมัน OPEC+ ที่ปรับลดการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและราคาพลังงานที่สูง ทำเนียบขาวทำงานอย่างหนักเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลดการผลิตน้ำมัน แต่ OPEC+ ก็ยังลด เมื่อน้ำมันน้อยลง ของก็จะแพงขึ้น จะส่งผลต่อสถานะทางการเมืองของ โจ ไบเดน อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเลือกตั้งมิดเทอม พรรคเดโมแครตของเขาพ่ายทั้ง 2 สภา 

โปรดทราบไว้ว่า OPEC+ ประกอบไปด้วย ซาอุดิอาระเบียที่เปลี่ยนจากมิตรแท้มาเป็นมิตรเทียมของสหรัฐฯ และยังมีรัสเซียที่เป็นปรปักษ์ของสหรัฐฯ  

ในเดือนกรกฎาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ไปเยือนเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยยกเลิกคำมั่นสัญญาในปี 2019 ที่จะให้ซาอุดิอาระเบียเป็น ‘ประเทศตัวร้าย’ (pariah) ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังหารนักข่าว ญะมัล คาชอกกี (Jamal Khashoggi) ในปี 2018 โดยสายลับของซาอุดิอาระเบีย  

แต่ซาอุดิอาระเบียก็ไม่ยอมคล้อยตามสหรัฐฯ อีก ผลก็คือสหรัฐฯ ประณามการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของ OPEC+ โดยบอกเป็นนัยว่าการทำแบบนั้นเท่ากับ ‘เข้าข้างรัสเซีย’ ในสงครามยูเครนและเตือนถึง ‘ผลที่ตามมา’ แต่ขู่ขนาดนี้แล้ว สหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าจะเอาคืนแบบไหน 

แม้ว่าทั้ง ไบเดิน และ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน  จะอยู่ที่บาหลีเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 แต่ทำเนียบขาวกล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มีแผนสำหรับการประชุมทวิภาคี 

และในการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ มีเสียงร่ำลือว่าการที่ ไบเดน ไม่มาร่วมประชุม เพราะมีมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เข้าร่วม ซึ่งข่าวลือนี้ไม่มีมูล เพราะกำหนดการณ์ของมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ยังไม่ชัดเจนกระทั่งไม่กี่วันก่อนจะเสด็จ และทั้งสองยังประชุม G20 ร่วมกันด้วยซ้ำ 

ไม่ว่าใครจะมาหรือไม่มา คนที่สำคัญต่อเอเชียและไทย ในเวลานี้คือ ซาอุดิอาระเบีย มีแค่เจ้าแห่งน้ำมันเท่านั้นที่จะช่วยให้เอเชียเอาตัวรอดจาดวิกฤตพลังงานและวิกฤตเงินเฟ้อได้   

การเดินทางมายังเอเชียของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ตอกย้ำว่ามีความเปลี่ยนแปลงในเองความสัมพันธ์ระหว่างซาอดีอาระเบียกับสหรัฐฯ   

อุมัร การิม (Umar Karim) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองซาอุดิอาระเบียแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมกล่าวกับ AFP ว่า  “การเดินทางครั้งนี้เป็นการวางรากฐานการประสานงานกับตลาดพลังงานในเอเชียให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่แค่นั้น มันยังเป็นการโชว์ให้โลกตะวันตกให้เห็นกันทั่ว โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ให้เห็นว่าซาอุดิอาระเบียไม่ได้ขาดทางเลือกในแง่ของการเป็นหุ้นส่วนกับใคร”  

ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับสหรัฐฯ สนิทแนบแน่นตั้งแต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นความสัมพันธ์ในแบบนี้ที่เรียกว่าเป็นการจัดหาน้ำมันเพื่อความมั่นคง 

แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียอยู่ในเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย 

อะซิซ อัลฆอชิอาน (Aziz Alghashian) นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียอธิบายกับ AFP ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่ของซาอุดิอาระเบียจึงเริ่มให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคก่อนที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดจะขึ้นเป็นรัชทายาทเมื่อ 5 ปีที่แล้ว  

“แต่ที่ผมจะบอกก็คือ นโยบายต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยตลาดและเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียได้ขยายขอบเขตและเร่งรัดการเดินทางลักษณะนี้ และโฟกัสไปที่เอเชีย” อัลฆอชิอาน กล่าว 

ด้าน คาโฮ หยู (Kaho Yu) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในเอเชียของบริษัทข่าวกรองความเสี่ยง Verisk Maplecroft  กล่าวกับ AFP ว่า การประชุมของเจ้าชายมุฮัมมัด กับผู้นำในเอเชียมีแนวโน้มที่เอ่ยถึงความคิดริเริ่มหลายอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกพลังงานเพิ่มเติมไปยังภูมิภาค รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างโครงการโรงกลั่นและโรงเก็บเพิ่ม 

“มันไม่ใช่แค่การซื้อน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการพยายามขยายความร่วมมือตามห่วงโซ่อุปทานด้วย” เขากล่าว 

ซาอุดิอาระเบียยังสามารถร่วมมือกับประเทศในเอเชียในทางเลือกน้ำมันดิบ 

เมื่อวันจันทร์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน Saudi Aramco และบริษัท Pertamina ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียประกาศแผนการที่จะสำรวจ ‘การทำงานร่วมกันในภาคส่วนไฮโดรเจนและแอมโมเนีย’

ช่วงเวลาของการเจรจาด้านพลังงานกับพันธมิตรในเอเชียเป็นกุญแจสำคัญ โดยจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการประชุม OPEC+ ครั้งต่อไปในวันที่ 4 ธันวาคม ซึ่งมีแนวโน้มว่าข้อพิพาททั่วโลกเกี่ยวกับการจัดหาพลังงานจะกลับมาเป็นหัวข้อข่าวอีกครั้ง 

การเสด็จเยือนเอเชียของมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ยังนำหน้าการเยือนซาอุดิอาระเบียของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนซึ่งวางแผนไว้ว่าจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 

แม้จะไม่มีการยืนยันกำหนดการณ์ที่แน่ชัด แต่เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบียกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าซาอุดิอาระเบียกำลัง ‘เตรียมการขั้นสุดท้าย’ สำหรับการเจรจากับสี ที่จะเกี่ยวข้องกับประเทศอาหรับอื่นๆ ด้วย 

ไม่แน่ว่าการประชุมที่เอเปค ทั้งจีนและซาอุดิอาระเบียอาจจะหารือกันล่วงหน้าก่อน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นหน้าตาและผลดีของประเทศไทยเช่นกัน  

การพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับจีนส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลริยาดเพื่อสร้างสมดุลความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั่วโลก โดยดำเนินตามนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเน้น "ซาอุดิอาระเบียต้องมาก่อน" 

ทอร์บียอร์น ซอลท์เวดท์ (Torbjorn Soltvedt) จากบริษัท Verisk Maplecroft กล่าวกับ AFP ว่า “พวกเขายังคงพึ่งพาสหรัฐฯ อย่างมากในเรื่องความมั่นคง แต่พวกเขากำลังแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังสำรวจความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์อื่นๆ อยู่ อาจจะค่อยๆ พยายามพึ่งพาสหรัฐฯ น้อยลง”  

“ผมคิดว่ามันสำคัญมากสำหรับซาอุดิอาระเบียที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เข้าข้างใครในเรื่องนี้” การิม จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมกล่าว 

“แนวโน้มปัจจุบันในนโยบายต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย คือ เรื่องของการเป็นผู้เล่นด้วยตัวของพวกเขาเอง ไม่ใช่ลูกสมุนหรือเพื่อนสนิทของผู้มีอำนาจที่ใหญ่กว่า” 

นี่คือมุมมองของ AFP ที่เน้นที่ภาคพลังงาน 

การเยือนเกาหลีใต้และอินโดนีเซียของมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ก็เน้นที่ด้านพลังงาน และไทยเองก็ควรจะได้ดอกผลจากการทัวร์เอเชียรอบนี้เช่นกัน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์