นักวิทยาศาสตร์คืนชีพไวรัส ‘ซอมบี้’ อายุ 48,500 ปี!

10 มีนาคม 2566 - 07:01

ScientistsZombieVirus-SPACEBAR-Thumbnail
  • เพอร์มาฟรอสต์ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 5 ของซีกโลกเหนือ โดยมีรากฐานเป็น ทุนดราอาร์กติกและป่าเหนือของอะแลสกา แคนาดา และรัสเซียมานับพันปี

  • นอกเหนือจากไวรัสโบราณแล้ว ยังมีซากมัมมี่ของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วจำนวนหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์สามารถขุดพบและศึกษาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงลูกสิงโตถ้ำ 2 ตัวและแรดขนยาว 1 ตัว

อุณหภูมิที่เริ่มอุ่นขึ้นในแถบอาร์กติกกำลังละลายชั้นดินที่เยือกแข็ง (permafrost) ที่อยู่ใต้พื้นดิน และอาจกระตุ้นไวรัสที่หลับไหลมาเป็นเวลาหลายหมื่นปีให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพสัตว์และมนุษย์ได้ 

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคจากสมัยอดีตอันไกลโพ้นจะฟังดูคล้ายกับเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ไซไฟ แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าแม้ความเสี่ยงจะน้อยแต่ก็ยังประเมินค่าไม่ได้ อีกทั้งขยะเคมีและกัมมันตภาพรังสีที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าและทำลายระบบนิเวศ อาจถูกปล่อยออกมาระหว่างการละลายของน้ำแข็ง 

คิมเบอร์เลย์ ไมเนอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจาก NASA Jet Propulsion Laboratory กล่าวว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นกับชั้นเยือกแข็งซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล และมันแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าเหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องเก็บชั้นเยือกแข็งไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

เพอร์มาฟรอสต์ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 5 ของซีกโลกเหนือ โดยมีรากฐานเป็น ทุนดราอาร์กติกและป่าเหนือของอะแลสกา แคนาดา และรัสเซียมานับพันปี นอกเหนือจากไวรัสโบราณแล้ว ยังมีซากมัมมี่ของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วจำนวนหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์สามารถขุดพบและศึกษาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงลูกสิงโตถ้ำ 2 ตัวและแรดขนยาว 1 ตัว 

เหตุผลที่เพอร์มาฟรอสต์เป็นสื่อในการจัดเก็บที่ดีไม่ใช่แค่เพราะมันเยือกแข็ง แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจนซึ่งแสงไม่สามารถทะลุผ่านได้ แต่อุณหภูมิในอาร์กติกในปัจจุบันอุ่นขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกถึง 4 เท่า ทำให้ชั้นเยือกแข็งบนสุดค่อยๆ ละลาย 

เพื่อให้เข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกิดจากไวรัสแช่แข็งได้ดีขึ้น เจนมิเชล คาร์เวอร์รี ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านการแพทย์และพันธุศาสตร์ ของฝรั่งเศส ได้ทดสอบตัวอย่างดินที่นำมาจากเพอร์มาฟรอสต์ไซบีเรีย เพื่อดูว่ามีอนุภาคของไวรัสหรือไม่ ซึ่งพบว่าไวรัสที่มีอยู่ในนั้นยังสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ และกำลังค้นหาถึงสิ่งที่เรามักเรียกกันว่าเป็น ‘ไวรัสซอมบี้’ จนล่าสุดเขาก็ได้พบกับอะไรบางอย่าง..

นักล่าไวรัส 

คาร์เวอร์รีได้ศึกษาไวรัสชนิดหนึ่งที่เขาค้นพบครั้งแรกในปี 2003 โดยมันมีชื่อว่า ‘ไวรัสยักษ์’ เนื่องจากพวกมันมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ทั่วไปมาก และมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดา ไม่ใช่กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน 

ความพยายามของเขาในการตรวจจับไวรัสที่แช่แข็งในเพอร์มาฟรอสต์ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ซึ่งในปี 2012 ได้ฟื้นฟูดอกไม้ป่าจากเนื้อเยื่อเมล็ดพืชอายุ 30,000 ปีที่พบในโพรงของกระรอก (ตั้งแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์ก็ประสบความสำเร็จในการทำให้สัตว์จิ๋วโบราณกลับมามีชีวิตอีกครั้ง) 

ในปี 2014 เขาสามารถฟื้นฟูไวรัสที่เขาและทีมของเขาแยกได้จากเพอร์มาฟรอสต์ ทำให้มันกลับมามีชีวิตได้เป็นครั้งแรกในรอบ 30,000 ปีด้วยการใส่เข้าไปในเซลล์เพาะเลี้ยง เพื่อความปลอดภัย เขาเลือกที่จะศึกษาไวรัสที่สามารถกำหนดเป้าหมายได้เฉพาะอะมีบาเซลล์เดียว ไม่ใช่สัตว์หรือมนุษย์ 

ขณะที่ไวรัสสายพันธุ์ล่าสุดเหล่านี้เป็นตัวแทนของไวรัส 5 ตระกูลใหม่ นอกเหนือจาก 2 สายพันธุ์ที่เขาฟื้นขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งชนิดที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุเกือบ 48,500 ปี โดยพิจารณาจากอายุคาร์บอนกัมมันตภาพรังสีในดิน และมาจากทะเลสาบใต้ดินลึกลงไปใต้พื้นผิว 16 เมตร (52 ฟุต) ขณะที่ตัวอย่างที่อายุน้อยที่สุดพบในกระเพาะอาหารและขนของซากแมมมอธขนปุยมีอายุ 27,000 ปี 

คาร์เวอร์รีกล่าวว่า ไวรัสที่ติดเชื้ออะมีบานั้นยังคงแพร่ระบาดได้หลังจากผ่านไปนาน บ่งชี้ถึงปัญหาที่อาจใหญ่กว่านี้ เขากลัวว่าผู้คนจะมองว่างานวิจัยของเขาเป็นความอยากรู้อยากเห็นทางวิทยาศาสตร์ และไม่รับรู้ถึงโอกาสที่ไวรัสโบราณจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งในฐานะภัยคุกคามด้านสาธารณสุขอย่างร้ายแรง 

“เรามองว่าไวรัสที่ติดเชื้ออะมีบาเหล่านี้เปรียบเสมือนตัวแทนของไวรัสที่เป็นไปได้อื่นๆ ที่อาจอยู่ในเพอร์มาฟรอสต์”คาร์เวอร์รีกล่าวกับ CNN

โอกาสในการแพร่ระบาดของไวรัส  

แน่นอนว่าในโลกแห่งความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่าไวรัสเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อได้นานแค่ไหนเมื่อสัมผัสกับสภาวะปัจจุบัน หรือมีโอกาสแค่ไหนที่ไวรัสจะพบกับโฮสต์ที่เหมาะสม ไม่ใช่ไวรัสทุกตัวที่เป็นเชื้อโรคที่สามารถทำให้เกิดโรคได้ บางชนิดไม่เป็นพิษเป็นภัยหรือแม้กระทั่งเป็นประโยชน์ต่อโฮสต์ และแม้ว่าอาร์กติกจะมีประชากรอาศัยอยู่ 3.6 ล้านคน แต่ก็ยังเป็นสถานที่ที่มีประชากรเบาบาง ทำให้ความเสี่ยงที่มนุษย์จะสัมผัสกับไวรัสโบราณนั้นต่ำมาก 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์