รถ ‘Tesla Roadster’ ของ อีลอน มัสก์ ที่ส่งไปในอวกาศตอนนี้อยู่ที่ไหนแล้ว

16 ก.พ. 2566 - 09:25

  • เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 5 ปีที่อีลอน มัสก์ ส่งรถยนต์เทสลา โรดสเตอร์ขึ้นไปบนอวกาศ

  • เป็นการยากที่จะบอกว่ายานพาหนะอยู่ที่ใดอย่างแน่ชัด หรือระบุว่ายังอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ยานรถอาจถูกทำลายโดยอุกกาบาต

SpaceX-put-Tesla-sportscar-into-space-five-years-ago -SPACEBAR-Thumbnail
เป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษแล้วที่ SpaceX ดึงความสนใจจากคนทั่วโลกด้วยการส่ง ‘รถเทสลาโรดสเตอร์ (Tesla Roadster)’ ส่วนตัวของ Elon Musk ที่ออกไปนอกโลกเพื่อให้มันล่องลอยต่อไปอีกนับพันปี 

สำนักข่าว CNN รายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เป็นเวลา 5 ปีพอดีสำหรับการล่องลอยในอวกาศของรถสปอร์ตสีเชอร์รี่คันนี้ 

ตามข้อมูลของเว็บไซต์ติดตาม whereisroadster.com พบว่า ณ วันที่ 6 การประมาณการข้อมูลพบว่า เทสลา โรดสเตอร์ของมัสก์โคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ 3 กับอีก 1 ใน 4 รอบ และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 203 ล้านไมล์ (327 ล้านกิโลเมตร)  

รถยนต์เทสลาโรดสเตอร์ล่องลอยเป็นระยะทางกว่า 2.5 พันล้านไมล์ (4 พันล้านกิโลเมตร) ส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะสุญญากาศ โดยในปี 2020 รถคันดังกล่าวจะเข้าใกล้ดาวอังคารเป็นครั้งแรก โดยผ่านระยะ 5 ล้านไมล์จากโลก หรือประมาณ 20 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ 

อย่างไรก็ดี เป็นการยากที่จะบอกว่า่รถยนต์คันนี้อยู่ที่ใดอย่างแน่ชัด หรือระบุว่ายังอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่อาจถูกชนหรือถูกทำลายโดยอุกกาบาต หรือถูกรังสีกัดเซาะจนไม่สามารถรับส่งข้อมูลได้ 

ตั้งแต่ปี 2018 ก็ไม่มีการสังเกตการณ์โดยตรงเกี่ยวกับรถยนต์เทสลาโรดสเตอร์คันนี้ หลังจากถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรไปพร้อมกับจรวดฟัลคอน เฮฟวี (Falcon Heavy) ขนาด 3 ล้านปอนด์ไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากนักดาราศาสตร์ไม่มีแรงจูงใจในการติดตามรถคันนี้มากนัก เนื่องจากมันไม่ได้ให้คุณค่าทางวิทยาศาสตร์ขนาดนั้น 

ท้ายที่สุดแล้วเทสลาก็ตั้งใจให้ยานรถลำนี้เป็นเพียง ‘เครื่องจำลองมวล’ (ยานที่ไม่ทำงาน) สำหรับภารกิจแรกของจรวด Falcon Heavy ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 เท่านั้น ซึ่งในตอนนั้นมัสก์คาดว่าการปล่อยจรวด Falcon Heavy จะมีโอกาสสำเร็จเพียง 50-50 

ทว่าการปล่อยจรวดก็จบลงโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ และรถก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยโคจรเป็นเส้นทางแบบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งแกว่งออกไปไกลที่สุดเท่ากับเส้นทางโคจรของดาวอังคารและใกล้กับดวงอาทิตย์พอๆ กับวงโคจรของโลก 

มัสก์ กล่าวตอนปล่อยจรวดในปี 2018 ว่า เขาหวังว่าสักวันหนึ่งมนุษย์จะตั้งถิ่นฐานบนดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะได้โดยเฉพาะบนดาวอังคาร หากเป็นเช่นนั้นเมื่อใด เขาก็หวังว่าลูกหลานของเขาจะสามารถลากรถโรดสเตอร์กลับไปที่พิพิธภัณฑ์ได้ 

ตามข้อมูลของ NASA ระบุว่า ในตอนนี้ รถโรดสเตอร์คันนี้ไม่น่าจะเข้าใกล้ดาวเคราะห์ดวงอื่นจนกว่าจะถึงปี 2035 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รถจะเฉียดดาวอังคารอีกครั้ง จากนั้นจะผ่านวงโคจรดาวอังคาร 2 ครั้งภายในไม่กี่ล้านไมล์จากโลกในปี 2047 และ 2050  

เอกสารวิชาการฉบับหนึ่งในปี 2018 ยังประเมินว่าโอกาสที่รถจะชนโลกภายใน 15 ล้านปีข้างหน้าอยู่ที่ประมาณ 22% และโอกาสที่จะพุ่งชนดาวศุกร์หรือดวงอาทิตย์แต่ละดวงอยู่ที่ 12% 

หากเทสลาโรดสเตอร์จบลงด้วยการชนกับโลก รถก็อาจจะถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ ขณะเดียวกันก็จะกระแทกกลับเข้าไปในชั้นบรรยากาศหนาทึบ (วัตถุในอวกาศที่วิ่งเข้ามายังโลกนั้นค่อนข้างพบได้ทั่วไป และโดยทั่วไปแล้วจะถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศระหว่างการเข้าสู่โลก การชนดังกล่าวแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่) 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์