5 ความเสี่ยงที่จะท้าทายโลกปี 2025

28 เมษายน 2566 - 08:10

Tagcloud-5-global-risks-2025-SPACEBAR-Thumbnail
  • ความล้มเหลวจากการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยใหญ่ๆ ที่กระทบต่อการดำรงชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

  • ผู้นำประเทศจะต้องเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตที่ซับซ้อนและหลากหลายในทุกมิติ ตั้งแต่วิกฤตค่าครองชีพ ภัยพิบัติและสภาพอากาศที่ผิดปกติสุดขั้ว สงครามทางภูมิเศรษฐกิจ และการแบ่งขั้วความขัดแย้งในสังคม

นอกจากค่าน้ำค่าไฟแพงที่กำลังประเด็นร้อนและสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนจำนวนมากในเวลานี้ สิ่งที่คนทั่วโลกจะต้องเผชิญในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ‘วิกฤตหลายด้าน’ (Polycrisis) ที่จะถาโถมเข้ามาพร้อมกัน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ทางการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี 

และนี่คือ 5 ความเสี่ยงหลักที่โลก (และเรา) จะต้องเตรียมรับมือในปี 2025 

1. วิกฤตค่าครองชีพ 

วิกฤตค่าครองชีพเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน ตั้งแต่ซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ราคาของพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ (รวมถึงทอง) ที่ถีบตัวสูงขึ้น ไปจนถึงอัตราเงินเฟื้อ และผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ก่อให้เกิดข้อจำกัดด้านการส่งออกสินค้าและพลังงาน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่าง อาหารและที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน จะต้องมีรายได้รวมกันมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงจะสามารถสู้กับค่าครองชีพในนิวยอร์กได้ไหว ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่ามัธยฐานรายได้ของครัวเรือนในสหรัฐฯ ตกประมาณ 70,000 ดอลลาร์ 

2. ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ 

    เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ผู้นำประเทศขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะเร่งแก้ไขปัญหา การยึดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง หรือเผชิญกับความยากลำบากในการบรรลุความร่วมมือระหว่างประเทศ ฝ่ายนโยบายและผู้คนขาดความตระหนักและความเข้าใจว่าการบรรเทาปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นวาระเร่งด่วน ขาดการลงทุนที่เพียงพอในพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เป็นต้น 

3. ภัยพิบัติจากธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแบบสุดขั้ว 

แน่นอนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากประเทศต่างๆ ล้มเหลวที่จะบรรเทาปัญหานี้ให้ลดน้อยลงก็คือ ภัยธรรมชาติและปรากฎการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ เช่น ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ซึ่งอาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงกว่า 1 องศาเซลเซส และเกิดภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อผู้คนและทรัพย์สิน เช่น น้ำท่วม หน้าแล้ง คลื่นความร้อน และพายุต่างๆ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศอีกเช่นกัน 

4. การเผชิญหน้าทางภูมิเศรษฐศาสตร์ 

หลายประเทศจะตกอยู่ในสงครามการต่อสู้ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศหรือภูมิภาค ซึ่งใช้ ‘เศรษฐกิจ’ เป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจและแข่งขันกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น การครอบครองทรัพยากรและเทคโนโลยี การคว่ำบาตรทางการค้าเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านทางการเมือง หรืออาจเกิดการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายฐานการผลิตจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ 
5. การแบ่งขั้วความขัดแย้งในสังคม 
การแบ่งแยกขั้วความขัดแย้งในสังคมเป็นผลมาจากการแตกแยกและความไม่เข้าใจกันระหว่างกลุ่มต่างๆ เช่น ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง การต่อสู้ทางเศรษฐกิจ เมื่อไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ ก็จะเกิดจากการแบ่งแยกกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นและค่านิยมที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว 
  • ปัจจัยกระตุ้น: วิกฤตหนี้สิน ความไม่มั่นคงของรัฐ ภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง  
  • บางครั้งการแบ่งแยกกลุ่มคนที่ต่างกันแบบสุดขั้วเกิดจากประเด็นสำคัญ เช่น ผู้อพยพลี้ภัย ความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ  
  • การแบ่งฝ่ายแบ่งขั้วจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อแต่ละฝ่ายได้รับข้อมูลข่าวสารที่ผิดหรือถูกบิดเบือน 
  • ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ สังคมนั้นจะขาด ‘ความเชื่อใจ’ (Trust) 
ทั้ง 5 ความเสี่ยงนี้คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้นำประเทศจะต้องตระหนักและเร่งหาทางรับมือให้ทัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์