“ความสุขคืออะไรสำหรับคุณ?”
มีเงิน มีบ้าน มีรถ ไม่มีหนี้ ถูกหวย สุขภาพแข็งแรง อาชีพก้าวหน้า สภาพแวดล้อมดี การเมืองดี อากาศดี?คงไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับคำถามนี้ เพราะความสุขเป็นมุมมองเชิงอัตวิสัย (Subjective issue) หรือความคิดเห็นของปัจเจก ขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรและมีเงื่อนไขชีวิตแบบไหน
แล้วทำไมประเด็นที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมจึงกลายเป็น ‘ตัวชี้วัด’ ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้คนในแต่ละประเทศได้?

‘ฟิน’ แลนด์ ดินแดนแห่งความสุข?
ในแต่ละปี United Nations Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เครือข่ายที่ทำงานใกล้ชิดกับสหประชาชาติจะจัดทำรายงาน World Happiness Report พร้อมกับเปิดเผยการจัดอันดับประเทศที่มีความสุดมากที่สุดในโลก และในปี 2023 นี้ ฟินแลนด์ยังคงครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ตามที่หลายๆ คนคาดกัน ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับ 60 จากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก โดยขยับขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 1 อันดับเท่านั้น
ถามว่าใช้เกณฑ์อะไรในการวัด? ผู้จัดทำรายงานอธิบายว่าเกณฑ์การวัดความสุขของ World Happiness Report นั้นมีหลายตัวชี้วัด ได้แก่ ผลการสำรวจค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจในชีวิตโดย Gallup และ 6 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) นั่นคือ สุขภาพทางกายและจิตใจ, ความสัมพันธ์ (ครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชนและสังคม), ความเอื้อเฟื้อและไว้วางใจ, รายได้ต่อหัวและอัตราการจ้างงาน, การสนับสนุนทางสังคม, เสรีภาพส่วนบุคคล, ปัญหาคอร์รัปชัน และประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล
จากตารางข้างบน สังเกตได้ว่ากลุ่มประเทศแถบนอร์ดิกนั้นติดอันดับต้นๆ แทบทุกปี เนื่องจากมีระบบรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า องค์กรเอกชนและภาครัฐต่างให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
สัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ในฟินแลนด์นั้นอยู่ที่ราวๆ 50,464.332 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในสังคม สนับสนุนการทำงานอย่างมี Work-life Balance ประชาชนมีสิทธิ์เรียนฟรี แน่นอนว่าก็ต้องแลกกับการจ่ายภาษีจำนวนมากเช่นกัน
บริษัท Gullap ได้สำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนในฟินแลนด์ โดยใช้วิธีตั้งคำถามที่เรียกว่า บันไดแคนทริล (Cantril ladder) ให้ผู้ตอบคำถามนึกถึงภาพขั้นบันไดที่เรียงจากตัวเลข 1-10 และประเมินว่าตัวเองยืนอยู่บนบันไดขั้นไหนจากคำถามแต่ละข้อ มีความรู้สึกเชิงบวกหรือลบ พบว่าค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจในชีวิตของคนในประเทศสูงถึง 7.804 จากสัดส่วนเต็ม 10
นอกจากจะเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดติดต่อกันถึง 6 ปี ฟินแลนด์ยังถือโอกาสเปิดตัวแคมเปญท่องเที่ยว Find Your Inner Finn ในวันความสุขสากลโลก ชวนคนมาเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข โดยผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากชาวฟินแลนด์เอง มองในแง่หนึ่ง ถือเป็นกลยุทธ์การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยอาศัยข้อได้เปรียบจากการจัดอันดับได้อย่างน่าทึ่ง
ในทางกลับกันประเด็นเรื่องอัตราการฆ่าตัวตายยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในช่วงปี 1990 ฟินแลนด์มีอัตราการฆ่าตัวตายค่อนข้างสูงคิดสัดส่วน 28.4 ต่อประชากร 100,00 คน แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 15.30 ต่อประชากรในปี 2019 แล้วก็ตาม แต่ยังมีข้อมูลที่ชี้ว่า 1 ใน 5 ของประชากรนั้นเผชิญกับปัญหาด้านจิตใจ (mental health) เช่น โรคซึมเศร้า และวิตกกังวล จากรายงานการศึกษาโดย OECD

- อัฟกานิสถาน ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามและความตึงเครียดที่กลับมาอีกครั้ง
- ปีที่ผ่านมาเลบานอนเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ธนาคารโลกชี้ว่าประเทศมีปัญหาหนี้สะสมมานานตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง ประกอบกับการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลที่ฝังรากลึกในสังคม ไม่เพียงเท่านั้นโควิด-19 ยังทำให้เศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาการท่องเที่ยวและภาคบริการเป็นหลักนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนในที่สุดธนาคารกลางของประเทศได้ประกาศล้มละลาย อันเนื่องมาจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้หนุ่มสาวลุกขึ้นมาประท้วงนักการเมือง ขณะที่ประชาชนบางส่วนอพยพย้ายไปอยู่ต่างประเทศ
- ด้านมาลาวีและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกติดอันดับ 3 และอันดับ 5 ของประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยเปรียบเทียบจาก GDP per capita อยู่ที่ 399 ดอลลาร์สหรัฐ และ 457 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ (IMF, 2020)