ลูกไก่ในกำมืออเมริกัน ประเทศอาเซียนไหนบ้างที่สหรัฐฯ แทรกแซง?

13 มิ.ย. 2566 - 09:05

  • สหรัฐฯ แทรกแซงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนักในช่วงสงครามเย็น

  • สงครามเย็นครั้งใหม่อาจจะเป็นอีกครั้งที่อาเซียนถูกบงการทางการเมือง

TAGCLOUD-history-of-us-political-interference-in-south-east-asia-SPACEBAR-Thumbnail
ในช่วงสงครามเย็นครั้งแรก (Cold War) ระหว่างปี 1947 – 1991 เป็นความขัดแย้งนระหว่างกลุ่มโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ต่างฝ่ายต่างแย่งชิงพื้นที่อิทธิพลกัน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมรภูมิแย่งชิงอำนาจที่รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง สิ่งที่ตามมาคือสงครามทางตรง เช่น สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองในลาว สงครามกลางเมืองในกัมพูชา และการเคลื่อนไหวด้วยอาวุธของคอมมิวนิสต์ในไทยและมาเลเซีย 

การแย่งชิงอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ยังอยู่ในรูปของการชิงรัฐบาลที่ตนต้องการบงการให้มาเป็นพวกของตน จนนำไปสู่การแทรกแซงโดยรัฐบาลสหรัฐฯ หรือสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สหรัฐ เห็นว่าเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของตน และสนับสนุนการทำรัฐประหารของกลุ่มที่น่าจะเป็นประโยชน์กับตน ต่อไปนี้คือการแทรกแซงของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเย็นครั้งแรก  

และควรจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยว่าการแทรกแซงของมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกหรือไม่ในช่วงเวลาที่เราอยู่ในยุคของสงครามเย็นครั้งที่สอง (Second Cold War) ซึ่งเป็นการชิงอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับขั้วอำนาจรัสเซียและจีน 

ปี 1957–1959 CIA ปฏิบัติการโค่นประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซีย 
รัฐบาลสหรัฐฯ กังวลว่ากระแสคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียเริ่มเติบโต อีกทั้งประธานาธิบดี ซูการ์โน ยังประกาศว่าที่เป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในสงครามเย็น สหรัฐฯ จึงหาทางที่จะโค่น ซูการ์โน ด้วยการให้ CIA สนับสนุนกบฎชนกลุ่มน้อยในภาคตะวันออก คือ Permesta โดยส่งเครื่องบินสนับสนุนให้ พร้อมทั้งอาวุธ และทหารรับจ้าง และยังมีนักบินเป็นเจ้าหน้าที่ของ CIA ซึ่งทิ้งระเบิดเป้าหมายพลเรือนและทหารในอินโดนีเซีย แต่เรื่องถูกเปิดเผยเมื่อนักบินของ CIA ถูกยิงตกและถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1958 ทำให้ทราบถึงเกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ทว่า ประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ ปฏิเสธต่อสาธารณชนในขณะนั้น ในที่สุดกลุ่ม Permesta ก็พ่ายแพ้ในปี 1961 

ปี 1959–1963 หนุนรัฐประหารโค่นผู้นำเวียดนามใต้ที่มีนโบายไม่เอื้อสหรัฐฯ  
ในขณะที่เวียดนามแยกออกเป็นประเทศเวียดนามเหนือ (คอมมิวนิสต์) และเวียดนามใต้ ประธานาธิบดี โง ดิ่ญ เสี่ยม ของเวียดนามใต้ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพราะต้านคอมมิวนิสต์ แต่ โง ดิ่ญ เสี่ยม ใช้อำนาจตามอำเภอใจปราบรามชาวพุทธอย่างรุนแรง เพราะตัวเขาเป็นคาทอลิก และยังไม่ยอมปฏิรูปการเมือง ทำให้สหรัฐฯ ต้องหาทางโค่นอำนาจของเขา กะทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จึงมีคำสั่งผ่านทางโทรเทลขให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนามใต้ เฮนรี คาบอต ลอดจ์ จูเนียร์ ว่า “เราไม่สามารถสนับสนุน (โง ดิ่ญ) เสี่ยม ได้อีกต่อไป นอกจากนี้คุณยังสามารถบอกผู้บัญชาการทหารที่เหมาะสม [ว่า] เราจะให้การสนับสนุนโดยตรงในช่วงเวลาชั่วคราวของการสลายตัวของกลไกรัฐบาลกลาง” (อ้างอิง 1) ในเวลาต่อมาสถานทูตฯ ติดต่อกองทัพเวียดนามใต้ที่ไม่พอใจ โง ดิ่ญ เสี่ยม และยืนยันที่จะสนับสนุนการยึดอำนาจ โง ดิ่ญ เสี่ยม ถูกยึดอำนาจและถูกลอบสังหารในเวลาต่อมา 

ปี 1957 สนับสนุนการทำรัฐประหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในไทย 
หลังจากที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดการเลือกตั้งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก จนเกิดการประท้วงของประชาชน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงใช้โอกาสนี้ยึดอำนาจจาก จอมพล ป. แต่การยึดอำนาจนี้มีแง่มุมด้านการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลจอมพล ป. พยายามถ่วงดุล โดยติดต่อกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ พร้อมๆ กับแสดงตัวว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ ในขณะที่ จอมพล สฤษดิ์ พยายามทำให้สหรัฐฯ สนับสนุนการทำรัฐประหาร เพื่อแลกกับการวางนโยบายที่ต่อสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยอมรับการทำรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ (อ้างอิง 2) โดยที่จอมพล สฤษดิ์ และสายอำนาจของเขา คือ จอมพล ถนอม กิตติขจน จะเริ่มต้นยุคสมัยแห่งความร่วมมือทางการทหารกับสหรัฐฯ เช่น การอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพของไทยในสงครามเวียดนาม 

ปี 1960 ในสงครามกลางเมืองลาว CIA หนุนรัฐประหารในลาวโดยนายพลพูมี หน่อสะหวัน  
ลาวกลายเป็นสมรภูมิของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ทั้งยังมีพรมแดนติดกับเวียดนามเหนือและใต้ที่กำลังทำสงครามอยู่ ทำให้ลาวถูกแทรกแซงจากโซเวียตและสหรัฐฯ อย่างหนัก สิ่งที่ตามมาคือระหว่างปี 1959-1960 เกิดการยึดอำนาจถึง 3 ครั้งโดยคน 2 คือ คือ นายพลกองแล วีระสาน ที่ยึดอำนาจจาก นายพลพูมี หน่อสะหวัน ซึ่งเป็นเผด็จการฝ่าขวา นายพลกองแล พยายามตั้งรัฐบาลเป็นกลาง แต่ นายพลพูมี ยึดอำนาจกลับคืนโดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ผ่านทาง CIA และ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เผด็จการทหารของไทยและเป็นญาติของนายพลพูมี และยังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้ทำรัฐประหารในไทยไปก่อนหน้านี้ นายพลกองแลพยายามตอบโต้โดยได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต แต่ยึดอำนาจคืนไม่สำเร็จ  

ปี 1965–1967 พัวพันสังหารหมู่ทางการเมืองในอินโดนีเซีย และเผด็จการซูฮาร์โต 
เมื่อถึงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 60 ความพยายามเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอินโดนีเซียเริ่มไม่เสถียร และฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มได้เปรียบมากขึ้น จนกระทั่งกลุ่มทหารที่ภักดีต่อประธานาธิบดี ซูการ์โน กล่าวหาว่า ทหารอาวุโสได้รับการหนุนหลังจาก CIA ให้ทำรัฐประหาร จนทหารสองกลุ่มปะทะกัน และกลุ่มทหารอาวุโสที่นำโดยนายพล ซูฮาร์โต โจมตีฝ่ายทหารที่ภักดีกับ ซูการ์โน และยังโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย จนลุกลามกลายเป็นการสังหารหมู้ฝ่ายซ้าย และคนจีน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 500,000 –1,000,000 กว่าคน และนำไปสู่การยึดอำนาจของนายพลซูฮาร์โต มีหลักฐานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการสังหารหมู่ โดยในปี 2017 มีการเปิดเผยเอกสารจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงจาการ์ตาได้ยืนยันว่าสหรัฐฯ มีส่วนรู้เห็น อำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้มีการสังหารหมู่เพื่อผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของตน (อ้างอิง 3) 

ปี 1965–1986 สนับสนุนเผด็จการ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์   
ด้วยความที่ฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมเก่าของสหรัฐฯ เป็นพื้นที่อิทธิพลของสหรัฐฯ หลังจากได้รับเอกราช และยังเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐเกี่ยวข้องกับการเมืองของฟิลิปปินส์อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีผู้นำเผด็จการอย่าง เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ที่ครองอำนาจหลสายสิบปีระหว่างปี 1965 –1986 และยังประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำการกดขี่ฝ่ายตรงข้ามอย่างเลวร้าย รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังให้การสนับสนุนมาร์กอส ด้วยเหตุผลที่ว่าสหรัฐฯ ต้องการรัฐบาลขวาจัดที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ (ซึ่งฟิลิปปินส์มีพรรคคอมมิวนิสต์ที่จับอาวุธขึ้นสู้ยาวนานที่สุดพรรคหนึ่งในโลก) และสนับสนุนการตั้งฐานทัพของสหรัฐ และเมื่อ มาร์กอส ถูกพลังประชาชนโค่นลงจากอำนาจ เขายังได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยที่รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐฯ อีกด้วย 

ปี 1970 เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารของ ลอน นอล โค่นเจ้าสีหนุในกัมพูชา 
ในช่วงสงครามเย็น กัมพูชาเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนาม โดยที่เจ้าสีหนุพยายามที่จะถ่วงดุลระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามเหนือ (ที่ได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตและจีน) แต่ไม่สำเร็จ กัมพูชายิ่งถลำลึกเข้าไปในสงคราม บวกกับเกิดการลุกฮือของกลุ่มคอมมิวนิสต์เขมรแดง ทำให้สหรัฐฯ หันมาสนับสนุนกลุ่มอำนาจขวาจัด คือ นายพล ลอน นอล ที่ฉวยโอกาสยึดอำนาจจากเจ้าสีหนุ สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ลอน นอล ด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกัมพูชาอย่างหนัก เพื่อทำลายฐานที่มั่นของเขมรแดง และสกัดการเคลื่อนพลของเวียดนามเหนือที่ตัดเข้าเขตกัมพูชาเพื่อตลบหลังเวียดนามใต้ ในปฏิบัติการ Operation Freedom Deal มีผู้เสียชีวิตชาวกัมพูชาถึง 50,000–150,000 คน (อ้างอิง 4) 

ปี 1975–1999 หนุนการรุกรานติมอร์-เลสเตของเผด็จการซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย 
ติมอร์-เลสเต (ติมอร์ตะวันออก) เคยป็นอาณานิคมของโปรตุเกสจนถึงปี 1975 จึงประกาศเอกราชเพียงฝ่ายเดียว แต่เพราะติมอร์-เลสเตตั้งอยู่บนเกาะเดียวกับจังหวัดติมอร์ บารัต (ติมอร์ตะวันตก) ของอินโดนีเซีย จึงถูกหมายตาจากรัฐบาลเผด็จของอินโดนีเซียที่ต้องการจะรุกรานและผนวกดินแดนนี้ หนึ่งวันก่อนการรุกราน ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ดของสหรัฐฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ เฮนรี คิสซิงเจอร์ได้พบกับนายพลซูฮาร์โต ซูฮาร์โต เผยกับผู้นำสหรัฐฯ ว่าตั้งใจที่จะรุกรานติมอร์ตะวันออก ฟอร์ดตอบว่า “เราจะทำความเข้าใจและไม่กดดันคุณในเรื่องนี้ เราเข้าใจปัญหาที่คุณมีและความตั้งใจของคุณ” (อ้างอิง 5) 

ปี 2007 ทหารเมียนมากล่าวหา CIA ว่าลอบสังหารผู้นำกะเหรี่ยงที่ต้องการเจรจา 

อ้างอิง:
  1. “The Overthrow of Ngo Dinh Diem, May–November, 1963”. The Pentagon Papers. pp. 201–276. 
  2. Mead, Kullada Kesboonchoo. (2012). “The Cold War and Thai Democratization” in “Southeast Asia and the Cold War”. Taylor & Francis. P. 218 
  3. Melvin, Jess (October 20, 2017). “Telegrams confirm scale of US complicity in 1965 genocide”. Indonesia at Melbourne. University of Melbourne. Retrieved 12 June 2023. 
  4. Kiernan, Ben; Owen, Taylor (26 April 2015). “Making More Enemies than We Kill? Calculating U.S. Bomb Tonnages Dropped on Laos and Cambodia and Weighing Their Implications”. The Asia–Pacific Journal. Retrieved 12 June 2023. 
  5. Baldwin, Clive (January 5, 2007). “Ford's shame”. The Guardian. Retrieved 12 June 2023. 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4eIjXxYgZFoA2eHRNyyzq1/28c7569989a2e0b5a3ca14df13441bc3/______________________1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์