สหรัฐฯ เคยตั้งฐานทัพในไทย แต่ในอนาคตจะกลับมาอีกหรือไม่?

26 พฤษภาคม 2566 - 09:05

TAGCLOUD-the-curious-case-of-alleged-us-base-in-thailand-SPACEBAR-Thumbnail
  • ในช่วงสงครามเย็น รัฐบาลไทยเคยให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพในไทย

  • ในเวลานี้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นใหม่ เป็นไปได้ไหมที่สหรัฐฯ จะกลับมา?

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของการฟอร์มรัฐบาลใหม่ที่นำโดยก้าวไกล พวกเขาต้องเผชิญกับการโจมตีจากสิบทิศ ทั้งจากฝ่ายเดียวกันเอง และฝ่ายตรงข้าม หนึ่งในการโจมตีที่หนักหน่วงที่สุดเรื่องหนึ่งคือ ข้อกล่าวหาว่า หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ไทยจะเปิดทางให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพได้ 

เรื่องนี้ รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ยืนยันข่าวว่าเรื่องที่ก้าวไกลจะให้สหรัฐมาตั้งฐานทัพในไทยนั้น "เป็นเฟคนิวส์" และบอกว่า "การจะเปิดให้มาตั้งฐานทัพเพื่อให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมาแทรกแซง ไม่มีทางเกิดขึ้นในรัฐบาลของพรรคก้าวไกลแน่นอน" (รายงานจากมติชน วันที่ 24 พฤษภาคม 2565) คำถามนี้ถูกถามไปยังสมาชิกของพรรคก้าวไกลอีกจำนวนหนึ่ง และคำตอบก็เหมือนกัน ก็คือ ก้าวไกลไม่มีนโยบายเช่นนี้ 

ทำไมถึงเกิดข่าวทำนองนี้? 

ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ว่า เพราะก้าวไกลมีนโยบายที่สอดคล้องกับค่านิยมของประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ดังนั้น จึงถูกมองจากฝ่ายตรงข้ามว่าอาจจะเอนเอียงไปทางชาติตะวันตก และอาจถึงกับเอื้อประโยชน์ให้ชาติตะวันตก จนกระทั่ง มีการปลุกกระแสกล่าวหาเรื่องที่ก้าวไกลอาจจะให้ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพในไทย  

ทำไมต้องให้สหรัฐเข้ามา? แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเฟคนิวส์ แต่เราต้องรู้ให้ได้ว่าเฟคนิวส์เกิดขึ้นมาเพราะอะไร เรารู้ว่าเฟคนิวส์เกิดขึ้นมาเพื่อโจมตีก้าวไกล แต่บริบทของเฟคนิวส์ก็สะท้อนความกังวลในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย นั่นคือ ความกลัวว่าไทยจะเลือกข้างใดข้างหนึ่งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และอาจทำให้ไทยกลายเป็นสมรภูมิของสงครามตัวแทน จนทำให้บ้านเมืองพังพินาศเหมือนยูเครน 

ไทยเคยมีฐานทัพสหรัฐฯ  

ก่อนที่เราจะไปชำแหละความกลัวนั้น เราต้องทราบก่อนว่าไทยเคยเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ มาก่อนในช่วงสงครามเย็น (ครั้งที่ 1) แต่มีมันเหตุปัจจัยที่ต่างจากสงครามเย็นคราวนี้ (ครั้งที่ 2) อย่างมาก ซึ่งจะขอไล่เป็นข้อๆ ดังนี้  

1. ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ประเทศไทยปกครองโดยเผด็จการทหาร เริ่มจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อด้วยจอมพล ถอนม กิตติขจร ทั้งคู่ต้องการความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐ เพื่อป้องกันไทยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ ที่กำลังทำสงครามในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เคลื่อนไหวในชนบทที่ยากจนของไทย  ส่วนสหรัฐก็จะสมประโยชน์ ตรงที่มีฐานที่มั่นในการต่อต้านอิทธิพลคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตและจีน ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำของ ‘พันธมิตรโลกเสรี’   

2. เพื่อสู้กับคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอก รัฐบาลทหารของไทยจึงอนุญาตให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพได้ในอุดรธานี, นครพนม, อุบลราชธานี, โคราช, อู่ตะเพา, ตาลคี และดอนเมือง สหรัฐฯ เองก็ใช้ไทยเพื่อเป็นฐานการขนส่งยุทธปัจจัยและอาวุธโจมตีไปยังเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งการทำเช่นนี้เท่ากับไทยให้ต่างชาติเข้ามาใช้แผ่นดินของตนโจมตีเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลไทยอธิบายเรื่องนี้่ว่าการปฏิบัติการของทหารอเมริกันในไทย เป็นไปตามสนธิสัญญาซีโต้ เพื่อช่วยป้องกันประเทศไทย ไม่ใช่เพื่อรุกรานประเทศอื่น (หมายเหตุ 1) 

3. แต่ฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในไทยมีสถานะที่พิเศษมาก เงื่อนไขการตั้งฐานทัพมีดังนี้ตามเอกสารของรัฐบาลสหรัฐ (หมายเหตุ 2) 
  • ข้อตกลงระหว่างรัฐบาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของโครงสร้างทางทหารในประเทศไทย กับรัฐบาลไทยนั้น ไม่มีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร  
  • ไม่มีฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย ตรงกันข้าม โดยความเห็นชอบของรัฐบาลไทย สหรัฐฯ เข้ามาปรับปรุงและขยายฐานและโครงสร้างต่างๆ ในฐานทัพที่ควบคุมโดยรัฐบาลไทย  
  • ที่ดินที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของนั้นเปิดให้สหรัฐฯ ใช้ฟรี เมื่อจำเป็นต้องจัดหาที่ดินเพื่อจุดประสงค์ทางทหาร สหรัฐฯ จึงจะช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ 
  • สรุปก็คือ รัฐบาลไทยยังคงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพและสิ่งอำนวยความสะดวกของไทยโดยไม่เสียค่าเช่า 
  • ยกเว้นสิ่งอำนวยความสะดวกที่สร้างขึ้นด้วยกองทุนโครงการความช่วยเหลือทางทหาร สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารไม่กี่แห่ง และอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครอบคลุมโดยข้อตกลงปฏิบัติการโลจิสติกส์พิเศษประเทศไทย 
  • เว้นจากข้อตกลงข้างต้น ไม่ถือว่ามีข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่ารัฐบาลไทยให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพอากาศ 
จากข้อมูลของเอกสารรัฐบาลสหรัฐ เราจะเห็นว่าในทางนิตินัยแล้วไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย’ แต่ในทางปฏิบัติทางการไทยให้สหรัฐฯ  เข้ามาใช้สถานที่ของไทยได้ โดยที่การบริหารจัดการอยู่ในมือของไทย สหรัฐฯ แค่เข้ามาขอยืมใช้สถานที่เท่านั้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะผลประโยชน์ของไทยกับสหรัฐฯ ตรงกันอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น และโปรดสังเกตว่า แม้ว่ารัฐบาลในไทยขณะนั้นจะเป็นเผด็จการทหาร แต่ยังถือว่าเป็น  ‘พันธมิตรโลกเสรี’ ที่ร่วมมือกับสหรัฐสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะตราบใดที่ผลประโยชน์ลงตัว ดูเหมือนว่าระบอบการปกครองของไทยจะไม่สำคัญต่อสหรัฐฯ ในเวลานนั้นสักเท่าไรนัก  

ทำไมสหรัฐฯ ถอนทัพจากไทย? 

สหรัฐฯ เข้ามาใช้ฐานทัพในไทยเพื่อทำ ‘สงครามร้อน’ (คือการรบจริงๆ ด้วยอาวุธ) ในช่วงสงครามเย็น (ซึ่งรบด้วยอุดมการณ์) แต่ปรากฏว่าสหรัฐพ่ายแพ้ยับเยินในเวียดนาม จนต้องถอยทัพออกมาหลังกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ถูกตีแตก พร้อมๆ กับเกิดกับแรงกดดันในประเทศสหรัฐฯ ให้ยุติสงคราม ซึ่งนำคนหนุ่มอมเริกันนับหมื่นคนไปตายในบ้านเมืองอื่น และยังใช้งบประมาณมหาศาลในแต่ละปี  

เมื่อแพ้ในเวียดนาม และลาวกับกัมพูชากำลังจะตกเป็นของคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ จึงถอนตัวออกมาจากภูมิภาคนี้ ซึ่งหมายถึงการถอนกำลังออกจากไทยด้วย เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจต่อไทยที่พึ่งพากันมานานถึง 20 ปี สหรัฐจึงทิ้งอุปกรณ์สื่อสารและขายกระสุนในราคาย่อมเยาว์ให้กับไทย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์  

แต่ในเอกสารของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า เพราะไม่มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นทางการไทยจึงถือเป็นเจ้าของสถานที่ และทรัพย์สินของสหรัฐฯ  ในสถานที่เหล่านั้นก็ถือเป็นของไทยด้วย โดยที่สหรัฐ “มีทางเลือกไม่มากนัก” เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับไทยที่เลวร้ายลงหลังไซ่ง่อนแตก และทำให้ความมั่นใจในสหรัฐฯ ดิ่งวูบ 

ในขณะเดียวกัน เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทย เกิดขบวนการนักศึกษาประชาชนต่อต้านการตั้งฐานทัพสหรัฐในไทย กระแสต่อต้านนี้ต่อมารวมเป็นกระแสเคลื่นไหวขับไล่เผด็จการ จอมพล ถนอม กิตติขจร จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา และการสิ้นสุดของรัฐบาลเผด็จทหารที่ครองอำนาจมายาวนาน   

การทูตแบบไทยคือทางออก 

ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการทหารรับมือกับสงครามเย็นด้วยการทำสงครามร้อนและเชิญสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพ รัฐบาลพลเรือนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา กลับใช้วิถีทางทางการทูต และขับไล่กองทัพอเมริกันออกไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้น 

1. รัฐบาลพลเรือนของ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายด้านต่างประเทศว่าจะถอนฐานทัพสหรัฐฯ ออกไป และได้เจรจากับสหรัฐในถอนตัวออกไป 

2. คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ และได้หารือกับประธานเหมาเจ๋อตง เรื่องนี้มีความสำคัญตรงที่ 
  • ฝ่ายคอมมิวนิสต์เกิดความแตกแยกกันเอง เป็นฝ่ายสหภาพโซเวียตและฝ่ายจีน โดยที่เวียดนามได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต และต่อมาเวียดนามจะกระทบกระทั่งกับจีนจนต้องทำสงครามกัน 
  • การทำสงครามระหว่างจีนกับเวียดนาม ช่วยประวิงเวลาให้ไทยรับมือกับการขายตัวของคอมมิวนิสต์ได้ หลังจากสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไป  
  • พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเกิดความแตกแยกภายใน อีกทั้งรัฐบาลจีนยังตัดความช่วยเหลือหลังจากคึกฤทธิ์ไปหารือกับเหมาเจ๋อตง 
  • ในรัฐบาลต่อมา คือรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย คือ พิจิต รัตกุล เดินทางไปกรุงฮานอย เพื่อเจรจากับเวียดนามเรื่องฐานทัพสหรัฐฯ  
  • ไทยย้ำกับเวียดนามว่าจะไม่จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้เวียดนาม ส่วนเรื่องยุโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ที่ทิ้งไว้ในไทยและเวียดนามต้องการในฐานสินสงคราม ไทยให้เวียดนามไปเจรจากับสหรัฐฯ เอาเอง (หมายเหตุ 3) 
ด้วยการดำเนินการทางการทูตโดยรัฐบาลพลเรือน โดยใช้จุดอ่อนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่แตกแยกกันเอง และการพึ่งพาจีนเพื่อตอบโต้เวียดนาม พร้อมกับที่ไทยไปคุยกับเวียดนามด้วยตัวเอง ทำให้ไทยเอาตัวรอดจากสงครามเย็นมาได้อย่างเหลือเชื่อ ทั้งๆ ที่มีกระแสคาดการณ์ว่าไทยจะต้องเป็นเหยื่อรายต่อไปของคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอน  

สงครามเย็นครั้งใหม่ 

จากข้อมูลข้างต้น เราจะเห็นเงื่อนไขของสถานการณ์ที่ทำให้ไทยยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในช่วงสงครามเย็น นั่นก็เพราะรัฐบาลไทยกังวลกับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ และมั่นใจว่าสหรัฐฯ จะช่วยไทยได้ แต่ในท้ายที่สุด นอกจากสหรัฐจะช่วยไม่ได้แล้ว ยังพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ทิ้งให้ไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามเพียงลำพัง แตไทยก็ใช้วิทยายุทธ์ด้านการทูตที่ตนเองเชี่ยวชาญ จนสามารถฝ่าภยันตรายมาได้ 

ผ่านมานานถึง 50 ปี ในเวลานี้โลกเราตกอยู่ในภาวะสงครามเย็นครั้งใหม่อีกแล้ว เป็นการเผชิญหน้ากันของฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ และฝ่ายตะวันออกที่นำโดยจีนกับรัสเซีย โดยจำเพาะเจาะจงแล้วเป็นสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทั้งสองฝ่ายเร่งหาพันธมิตร และหาที่ตั้งฐานทัพเพื่อล้อมกันและกัน  

แต่ไม่เหมือนกับสงครามเย็นครั้งก่อน ที่อุดมการณ์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศหนึ่ง เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งๆ เช่น ประชาชนในประเทศหนึ่งสนับสนุนคอมมิวนิสต์มากกว่า เพราะเห็นว่ามีแนวคิดแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ส่วนอีกประเทศเชื่อมันในโลกเสรี เพราะเห็นว่าเมื่อคอมมิวนิสต์มีอำนาจในบางประเทศ เกิดการทำลายโครงสร้างสังคมอย่างรุนแรง สิทธิเสรีภาพถูกริดรอนอย่างเลวร้าย เป็นต้น 

แต่สงครามเย็นในตอนนี้ เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของจีนกับสหรัฐเป็นหลัก ประเทศอื่นๆ หากหลงเข้าไปร่วมวงด้วย จะกลายเป็นหมากบนกระดานให้มหาอำนาจใช้รบแทนตัวเองในสงครามตัวแทน (Proxy war) อย่างที่เราเห็นสภาพของยูเครน ซึ่งเป็นสงครามกึ่งตัวแทน ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก ที่ให้อาวุธยูเครนไปรบกับรัสเซีย โดยที่ชาติตะวันตกไม่ต้องพังพินาศ เพราะยูเครนแบกรับความพินาศไปแทนแล้ว 

ไทยควรวางตัวแบบไหน?  

ในส่วนนี้เป็นข้อเสนอแนะจากทัศนะของผู้เขียน (Opinion piece) ต่อการที่ไทยจะมีหรือไม่มีฐานทัพของต่างชาติ และโอกาสที่มันจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง 

1. อาเซียนกำลังกลายเป็นจุดตายของความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยอาศัยความขัดแย้งภายในอาเซียน 2 ประเทศนี้จึงยื่นมือเข้าแทรกแซงได้ง่าย เช่น เพราะความขัดแย้งเรื่องน่านน้ำและหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ทำให้ฟิลิปปินส์ยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพอีกครั้ง ขณะที่กัมพูชาที่มีปัญหาการเมืองภายในและกับเพื่อนบ้าน ก็มีข่าวว่าอาจจะให้จีนเข้ามาตั้งฐานทัพ หรืออย่างน้อยก็อนุญาตให้กองทัพเรือของจีนเข้ามาใช้ท่าเรือในอ่าวไทย 

2. รัฐบาลไทยไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนก็ตาม ควรแสดงความเป็นผู้นำ ด้วยการเรียกร้องให้อาเซียนเป็นเขตปลอดกองทัพต่างชาติ หากกองทัพใดจะเข้ามาพักหรือเคลื่อนไหวในอาเซียนก็ควรเป็นการเข้ามาระยะสั้น เช่นการซ้อมรบ หรือเพื่อการพักผ่อน การที่รัฐบาลไทยจะเรียกร้องแบบนี้ได้ ไทยต้องประกาศชัดว่าจะไม่ให้ใครมาตั้งฐานทัพบนแผ่นดินของเราก่อน 

3. คนไทยจะต้องตระหนักว่า สงครามเย็นครั้งใหญ่เป็นการชิงผลประโยชน์ระหว่างมหาอำนาจ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ ไม่มีฝ่ายใดที่เป็นตัวแทนของประชาธิปไตย หรือเป็นผู้นำของฝ่ายอำนาจนิยม ให้ลองย้อนกลับไปดูสมัยสงครามเย็นครั้งแรก ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับและร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการทหารของไทย เพียงเพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของตนในภูมิภาคนี้ ในขณะที่รัฐบาลพลเรือนของไทย กลับไปผูกมิตรกับรัฐบาลอำนาจนิยมจีน  

4. เมื่อเกิดความขัดแย้งระดับโลก ควรปล่อยให้กลไกทางการทูตของไทยทำงาน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำในกระทรวงการต่างประเทศที่เชี่ยวชาญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การใช้สายสัมพันธ์ทางการค้าข้ามชาติผ่านนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพล และรวมถึงการทูตทางการทหารด้วย เพราะกองทัพไทยมีบทบาทสำคัญในการรักษาดุลอำนาจ เช่นมีความสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐฯ ไม่ขาดสายทั้งในด้านเปิดเผยและไม่เปิดเผย ในขณะเดียวกันก็รักษาดุลอำนาจกับจีนด้วยการซื้ออาวุธจากจีนมากขึ้น

หมายเหตุ
  1. นุ่มนนท์, แถมสุข. (1985). “การฑูตไทยสมัยรัตนโกสินทร์”. ไทยวัฒนาพาณชิย์. p.106
  2. “Withdrawal of U.S. Forces from Thailand: Ways to Improve Future Withdrawal Operations”. (1977). U.S. Government Accountability Office.  
  3. นพประเสริฐ, ศิบดี. (2021). “ขวาพิฆาต(?)ซ้าย”. มติชน. p.368.

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์