นายพลน้ำแข็ง-นายพลโคลน นักฆ่าไร้ปราณีแห่งสงครามยูเครน

23 พ.ย. 2565 - 02:33

  • ‘ฤดูหนาว’ ที่ใกล้เข้ามาจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าสงครามยูเครนสามารถเลวร้ายได้แค่ไหน

  • จากนั้นคือ ‘ฤดูฝน’ ที่จะทำให้แผ่นดินเป็นบ่อโคลนและทำให้กองทัพใหญ่พ่ายมาแล้ว

The-cruel-season-of-russian-winter-and-ukrainian-rasputitsa-SPACEBAR-Thumbnail
ยัสนาร์ ฮอร์วัต (Jasna Horvat) นักเขียนและนักทฤษฎีทางวัฒนธรรมชาวโครแอต เคยเขียนถึงประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของแคว้นเคอร์ซอนของยูเครนเอาไว้ว่า มันเคยเป็นจังหวัดชายขอบจักรวรรดิ เป็นดินแดนไกลโพ้นที่ใช้เนรเทศนักโทษให้มาตกระกำลำบากที่นี่ 

เธอเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า “เมื่อฉันถามว่าฤดูหนาวที่เคอร์ซอนเป็นอย่างไร? ฉันพบว่ามันหนาวแรง เรียกได้ว่ารุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง” 

เคอร์ซอน เป็นแคว้นที่อยู่ทางใต้ที่สุดแคว้นหนึ่งของยูเครนติดกับคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งคาบสมุทรนี้มีชายทะเลที่มีสภาพอากาศอบอุ่นพอสมควรเหมาะจะใช้เป็นสถานที่ตากอากาศ แต่พอเลยไครเมียมานิดเดียว มันกลับมีฤดูหนาวที่โหดร้าย 

แต่มันไม่ใช่แค่เคอร์ซอนเท่านั้นที่ ฤดูหนาว คือ ศัตรูตัวฉกาจของผู้รุกราน ยูเครนทั้งประเทศมีฤดูหนาวร้ายกาจ จนกองทัพมหาอำนาจรายแล้วรายเล่าต้องพบกับความปราชัย  

พวกรัสเซียรู้เรื่องนี้ดี เพราะครั้งหนึ่งที่ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต พื้นที่นี้ต้องคอยรับมือผู้รุกรานก่อนใคร มันจะถูกตีแตกง่ายๆ ในช่วงฤดูร้อน แต่เมื่อถึงฤดูหนาวหรือแม้แต่ช่วงคาบเกี่ยวก่อนฤดูหนาวไม่นาน มันจะกลายเป็นกับดักที่ทำให้กองทัพขยับไปไหนไม่ได้ จะรุกก็ไม่ไหว จะถอยก็ไม่คุ้ม ได้แต่รอวันตายท่ามกลางลมเย็นเฉียบ หิมะกองสูง และบ่อโคลน 

กองทัพผู้รุกรานที่เคยลิ้มรสชาตินี้มาแล้ว คือ กองทัพของนโปเลียนและกองทัพของนาซี  

นโปลียนยกกองทัพกว่าครึ่งล้านคนบุกเข้ามาในแถบนี้ในช่วงฤดูร้อนตั้งใจว่าจะพิชิตรัสเซียให้จงได้ แต่พอยึดมอสโกได้ นโปเลียนกลับชะล่าใจเพราะสภาพอากาศที่ยังดูดี พอ 

ฤดูหนาวมาถึงอย่างรวดเร็วทันก็สายเกินการณ์ หลังจากนั้นกองทัพนโปเลียนที่เกรียงไกรก็ถอยทัพในสภาพที่ย่ำแย่ ถูกดักโจมตีและความหนาวเล่นงานจนเหลือแค่แสนคน 

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพของนาซีเยอรมันเจอเข้ากับสถานการณ์เดียวกัน แต่สถานการณ์ของนาซีเยอรมันไม่ใช่แค่พบกับฤดูหนาวที่เลวร้ายเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘รัสปูติตซา’  

รัสปูติตซา (Rasputitsa) คือ ช่วงที่เกิดฝนตกหนักหรือหิมะละลายจนทำให้ภูมิประเทศเฉอะแฉะ ดินกลายเป็นโคลนเลน ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่เหมาะอย่างที่สุดในการเดินทาง มันคือฤดูใบไม้ผลิที่หิมะละลาย และฤดูใบไม้ร่วงที่ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา 

การเคลื่อนทัพในฤดูรัสปูติตซา คือ หายนะพอๆ กับติดอยู่ในฤดูหนาว เพราะกำลังพลกับยุทโธปกรณ์จะติดหล่มในถนนโคลน จะเดินหน้าก็ไม่ได้ จะถอยหนีก็จะเป็นเป้านิ่งให้อีกฝ่ายซุ่มโจมตี 

รัสปูติตซา คือ นรกของการทำสงครามดีๆ นี่เอง เทียบกันแล้ว ฤดูหนาวยังพอมีข้อดีตรงที่ดินแข็งและแม่น้ำยังแข็งทั้งสายพอที่จะข้ามได้โดยไม่ต้องใช้สะพาน  
‘นรกรัสปูติตซา’ ที่ใหญ่ที่สุดคือ ‘พรุปินสก์’ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำปรีเปรียต (Pripet Marshes) ทางตอนใต้ของเบลารุสต่อกับตะวันตกเฉียงเหนือของยูเครน ซึ่งจะเละตุ้มเป๊ะในฤดูฝน ในอดีตมันคือปราการที่ช่วยป้องกันมอสโกเอาไว้ ปัจจุบันมันช่วยป้องกันเคียฟเอาไว้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3zhEgrbKGFJOhtHB7jeg41/eaf8e0dfce5ca101862067940f506a5f/The-cruel-season-of-russian-winter-and-ukrainian-rasputitsa-SPACEBAR-Photo01
Photo: Photo: AFP
นี่เป็นเหตุผลที่นักยุทธศาสตร์งุนงงที่เห็นรัสเซียบุกยูเครนในฤดูรัสปูติตซา ซึ่งเท่ากับรนหาที่ชัดๆ และเราจะเห็นว่าแม้รัสเซียจะเหนือกว่าในด้านกำลังพลและสรรพาวุธ แต่สุดท้ายก็ต้องติดแหง็กในบ่อโคลนเข้าจนได้  แล้วสุดท้ายก็ล้อมเคียฟไม่สำเร็จ และถอยมาปักหลักตามชายแดนตะวันออกของยูเครน   

การรบแบบไม่ดูตาม้าตาเรือแบบนี้มีแต่แพ้กับแพ้ และถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้จักใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศก็มีแต่จะชนะ   

ดังนั้น จึงมีชื่อเรียกฤดูหนาวในรัสเซียกับยูเครนว่า นายพลน้ำแข็ง (General Frost) และเรียกฤดูบ่อโคลนว่า นายพลโคลน (General Mud) เพราะสภาพอากาศที่เลวร้ายก็เหมือนกับแม่ทัพชั้นเลิศ 

รัสเซียน่าจะรู้พิษสงของนายพลน้ำแข็งกับนายพลโคลนอย่างดี แต่ วลาดิมีร์ ปูติน กลับทำเหมือนรู้จักแค่นายพลน้ำแข็ง แต่กลับลืมนายพลโคลน จึงมีเสียงร่ำลือกันว่า สติปัญญาของ ปูติน น่าจะมีปัญหา หรือไม่ก็ล้มป่วยลงจนหมดสภาพนักยุทธศาสตร์ที่เคยเฉียบคม 

เคอร์ซอนนอกจากจะหนาวจัดในฤดูหนาวแล้วยังมีรัสปูติตซาที่เลวร้ายพอๆ กัน  

เราจะเห็นว่าแนวตั้งรับของรัสเซียในเคอร์ซอนถูกตีแตกโดยฝ่ายยูเครนช่วงต้นเดือนตุลาคม พอถึงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนรัสเซียก็ประกาศถอนกำลังจากเคอร์ซอนฝั่งขวาแล้วข้ามแม่น้ำนีโปรไปยังฝั่งซ้ายของเคอร์ซอน  

นั่นเป็นเพราะรัสเซียเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายยูเครน ถามว่าทำไมถึงพลาด? มันไม่ใช่เพราะแผนรบของรัสเซียย่ำแย่เท่านั้น แค่เพราะยูเครนถูกเสริมเขี้ยวเล็บโดยเครื่องยิงขีปนาวุธ M142 HIMARS จากสหรัฐฯ ด้วยแสนยานุภาพนี้ ยูเครนจึงสามารถทำลายสะพานข้ามแม่น้ำนีโปรถึง 3 แห่ง ขืนรัสเซียยังดึงดันอยู่ที่่ฝั่งขวาต่อไป ก็จะถูกตัดขาดและหลังพิงฝา (ที่แม่น้ำนีโปร) ทางที่ดีควรจะถอยออกมาก่อน  

ปูติน ทำพลาดด้วยการบุกยูเครนในช่วงรัสปูติตซาช่วงต้นปี เขาจึงน่าจะทบทวนแล้วว่าไม่ควรรุกหรือปักหลักในพื้นที่ที่คุมไม่อยู่ในช่วงรัสปูติตซาปลายปี วิธีการที่เหมาะที่สุดคือถอยออกมาตั้งหลักก่อน แล้วรอให้ฤดูหนาวจบลง จากนั้นค่อยเริ่มการรุกคืบอีกครั้งเมื่อดินฟ้าอากาศเป็นใจ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/01JCgqXFr5hY16y95xI2eG/bc992881ed4f26d1c1e64bbf1a598e60/The-cruel-season-of-russian-winter-and-ukrainian-rasputitsa-SPACEBAR-Photo02
Photo: Photo: AFP
ฝั่งซ้ายของเคอร์ซอนยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยากจะรุกเข้ามาง่ายๆ จึงเหมาะจะถอยมาปักหลักไปพลางๆ ก่อนในช่วงฤดูที่โหดร้าย 

อีกอย่างก็คือ เคอร์ซอนถูกทำลายสาธารณูปโภคไปมาก โดยเฉพาะด้านพลังงาน ตอนนี้ประชาชนที่ได้รับการปลดปล่อยจากรัสเซีย แม้ว่าจะมีอิสรภาพอีกครั้ง แต่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญหน้ากับฤดูหนาวที่ไร้เครื่องทำความร้อน มันก็เหมือนรอความตายดีๆ นี่เอง 

สำหรับกองทัพรัสเซีย การทำลายเคอร์ซอนจนไร้เครื่องทำความร้อน คือกับดักที่พวกเขาทิ้งเอาไว้ยูเครนแบกรับนั่นเอง 

สิ่งที่ชาวยูเครนหวาดกลัวที่สุดตอนนี้ คือ darkest winter คือฤดูหนาวที่มืดมิดที่สุด หนาวที่สุด ขาดไออุ่นที่สุด เพราะรัสเซียบุกเข้ามาทำลายสาธารณูปโภคที่จะช่วยประคองชีวิตชาวยูเครนในช่วงหน้าหนาวเอาไว้ มันน่าจะเป็นยุทธวิธีการรบแบบหนึ่ง ซึ่งโหดร้ายต่อพลเรือนอย่างยิ่ง 

หากรอดฤดูหนาวและรอดรัสปูติตซา (ที่จะทำให้การส่งความช่วยเหลือลำบากมาก) มาได้ก็ตาม ชาวเคอร์ซอนชาวยูเครนทั้งประเทศ ยังต้องเตรียมรับการรุกรานอีกระลอกจากรัสซีย 

แต่เคอร์ซอนเป็นเหมือนนกฟีนิกส์ เช่นเดียวกับหลายเมืองในอดีตสหภาพโซเวียตที่ถูกสงครามบดขยี้จนเหลือแต่ซาก ในวันที่กองทัพแดงเข้ามาปลดปล่อยเคอร์ซอนจากพวกนาซีนั้น มีผู้คนเหลืออยู่ในเมืองแค่ 50 คน แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมืองที่เคยเหลือแต่เถ้าถ่านก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเป็นศูนย์กลางสำคัญของสหภาพโซเวียตตอนใต้ และต่อมาคือเมืองสำคัญของยูเครน 

ในวันนี้ เคอร์ซอนกลับมาเป็นสมรภูมิรบอีกครั้ง แม้ว่าผู้รุกรานจะถอยออกไป มันอาจเป็นแค่การถอยในเชิงยุทธศาสตร์ รอวันที่จะกลับมาชิงพื้นที่นี้อีกครั้ง แต่ก็มีโอกาสเช่นกันที่คราวนี้ยูเครนจะปักหลักต่อต้านอย่างเหนียวแน่น 

หากย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  เมื่อนาซีเยอรมันรุกครั้งแรกแล้วเจอกับนายพลน้ำแข็งและนายพลโคลนจนกระอัก เมื่อผ่านฤดูหนาวแล้วการรุกครั้งต่อไปพวกเขาแก้ตัวด้วยการรุกทางตอนใต้ในฤดูร้อน ซึ่งมันน่าจะช่วยแก้สถานการณ์ได้ แต่สุดท้ายก็เจอการตั้งรับที่แข็งแกร่งอยู่ดี 

การตั้งรับที่แข็งแกร่งที่สตาลินกราดกลายเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของนาซี และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โซเวียตกลายเป็นฝ่ายรุก  

เคอร์ซอนคงจะไม่หมดแรงเสียก่อน และอาจะกลับมาเป็นฟีนิกส์ที่คืนชีพอีกครั้ง หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในที่สุด 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์