ชาวเมียนมา ‘ลี้ภัย’ สงคราม เข้าไทยทะลัก 5,000 คน

7 เม.ย. 2566 - 07:23

  • การสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างทหารเมียนมา และกลุ่มกบฏติดอาวุธชาติพันธุ์ได้บีบบังคับให้ประชาชนราว 5,000 คน ต้องหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศไทยในสัปดาห์นี้

Thousands-flee-into-Thailand-fighting-Myanmar-military-SPACEBAR-Hero
เจ้าหน้าที่และสื่อระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) ว่า การสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างทหารเมียนมา และกลุ่มกบฏติดอาวุธชาติพันธุ์ได้บีบบังคับให้ประชาชนราว 5,000 คน ต้องหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศไทยในสัปดาห์นี้ 

การปะทะกันเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มกบฏในรัฐกะเหรี่ยงทางตอนใต้โจมตีด่านทหารรักษาชายแดน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ข่าวสดและ BBC เมียนมา 

รัฐบาลทหารของเมียนมาซึ่งโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2021 กำลังต่อสู้กับการก่อความไม่สงบด้วยอาวุธในประเทศ และเผชิญกับการประณามจากทั่วโลกสำหรับการปราบปรามผู้เห็นต่างและการเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างถึงตาย 

ประชาชนราว 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ได้ข้ามมายังจังหวัดตากของประเทศไทย และลี้ภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ชาวท้องถิ่นตั้งขึ้น ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ไทยและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ 

“หลายคนข้ามพรมแดนตั้งแต่เมื่อวานนี้ และบางคนยังคงรอข้ามฝั่งไปยังฝั่งเมียนมา ผู้คนไม่มีน้ำดื่มหรือห้องน้ำเพียงพอในตอนนี้” เจ้าหน้าที่การกุศลรายหนึ่งซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับรอยเตอร์ 

ไทยระบุว่า กองทัพอากาศติดตามสถานการณ์และพร้อมส่งเที่ยวบินลาดตระเวน หากมีการละเมิดน่านฟ้าไทย 

ทางการจังหวัดตากกล่าวในแถลงการณ์ว่า ศูนย์บัญชาการชายแดนไทย-เมียนมาในจังหวัดตากกำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ที่หลบหนีการสู้รบในเมียนมา 

การสู้รบได้โหมกระหน่ำในพื้นที่ชนบทหลายแห่งทั่วพม่า และกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ากองทัพมุ่งเป้าไปที่พลเรือนในการโจมตีทางอากาศและปฏิบัติการภาคพื้นดิน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พลเรือนอย่างน้อย 8 คน รวมทั้งเด็กเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศในหมู่บ้านทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า 

ผู้ปกครองทหารของเมียนมากล่าวว่า พวกเขากำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย และปฏิเสธว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่พลเรือน 

ขณะที่ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่ามากกว่า 90,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัย (พื้นที่พักพิงชั่วคราว) จำนวน 9 แห่งตามเขตชายแดนไทย-พม่า กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการค่ายซึ่งบริหารจัดการโดยผู้ลี้ภัย เป็นหน่วยงานที่ดูแล และจัดการค่ายแบบวันต่อวัน 

ทั้งนี้ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และหน่วยงานในระดับชุมชนได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหาร ที่พัก ยารักษาโรคและการศึกษาแก่ผู้ลี้ภัย รวมไปถึงผู้ขอลี้ภัยซึ่งมาใหม่และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการด้วย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์