เจ้าหน้าที่สนามบินสหรัฐฯ ไม่ได้เฟรนด์ลีอย่างที่ใครบางคนบอก

19 ม.ค. 2566 - 10:30

  • คนที่เคยเดินทางเข้าสหรัฐฯ เผยประสบการณ์การเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่สนามบินสหรัฐฯ

US-Customs-agents-airports-so-unfriendly-compared-to-colleagues-other-countries-SPACEBAR-Hero
จากกรณีดราม่าติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษคนหนึ่งโพสต์ข้อความเล่าว่า “ไปเมกาถ้าพูดอังกฤษคล่องๆ จะโดนเข้าใจว่าเป็น American ทันที เพราะประเทศนี้ mix มาก ล่าสุด จนท สนามบินเดินมาทักว่าเสื้อสวย คุยเสร็จนางลากไปเข้าแถวของ American Citizen แล้วบอก ‘เอาใบขับขี่มา เดี๋ยวฉันลัดคิวให้เลย’”  

หลังจากนั้นมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยทั้งที่ไปใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ และเคยเดินทางไปหลายๆ ประเทศพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่ ตม.สหรัฐฯ ไม่ได้ใจดีขนาดนั้นและไม่มีการลัดคิวแน่นอน  

เรื่องนี้ไม่ใช่คนไทยเท่านั้นที่ยืนยัน ในเว็บไซต์ Quora ถึงกับมีคนตั้งคำถามว่า “ทำไมเจ้าหน้าที่ศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ ที่สนามบินถึงไม่เป็นมิตรสุดๆ เทียบกับเพื่อนร่วมอาชีพของพวกเขาในประเทศอื่น” 

Wiebe de Boer ตอบคำถามนี้ว่า “จากประสบการณ์ของผมศุลกรกรที่ไม่ป็นมิตรที่สุดคือ เจ้าหน้าที่ศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ และผมยังจำเจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศส เบลเยียม และเยอรมนีก่อนที่จะใช้วีซ่าเชงเก้นได้อยู่เลย ผมเคยเจอเจ้าหน้าที่ศุลกากรเม็กซิกันและแคนาดาด้วย ฝรั่งเศสกับเยอรมนีก็โอเค แต่ผมไม่เคยมีประสบการณ์ที่น่าประทับใจกับศุลกากรสหรัฐฯ เลย และผมเคยไปที่นั่นมา 6 ครั้งแล้ว ครั้งสุดท้ายป็นการต่อเครื่องไปเม็กซิโก” 

“ผมคิดว่าศุลกากรสหรัฐฯ แย่ลงอย่างเห็นได้ชัดหลังเหตุการณ์ 9/11 ประสบการณ์แย่สุดอันดับ 2 คือ ที่สนามบินดัลเลส ให้ตายเถอะ เจ้าหน้าที่พวกนั้นปากร้ายแล้วก็อารมณ์บูดมาก...ผมว่าเป็นเพราะการตรวจตราสนามบินคงเซ็งมากๆ มีการคัดเลือกมาอย่างแย่ๆ และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้รับการฝึกอบรมมากนัก และขาดแคลนเจ้าหน้าที่อย่างยิ่งยวด” 

Neel Patel บอกว่า “ผมไปมาร้อยกว่าประเทศ และสหรัฐฯ หยาบคายที่สุด ไม่มืออาชีพสุดๆ ปัญญาอ่อนสุดๆ ท่าที่ผมเคยเจอมา ผมเคยไปประเทศคอมมิวนิสต์ (จีน คิวบา เวียดนาม) กึ่งเผด็จการ (คาซักสถาน วเนซุเอลา) และเขตสงคราม (อัฟกานิสถาน) และไม่มีที่ไหนเลยที่เจ้าหน้าที่ ตม. หยาบคายแบบนี้” 

“ที่น่าประหลาดใจคือพวกเขาหาทางที่จะหยาบคายและไม่เป็นมืออาชีพได้เกือบทุกครั้ง ไม่เคยมีแบบ ‘เฮลโหล’ หรือแม้แต่ ‘ยินดีต้อนรับกลับบ้าน’ ยังกับคุณพยายามเข้าฟอร์ทน็อกซ์พร้อมป้ายบนเสื้อเขียนว่าฉันจะขโมยทองคำอย่างนั้นแหละ” 

Patel ยังยกตัวอย่างเหตุการณ์ช่วงสองสามครั้งหลังสุดที่เขาเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยครั้งหนึ่งเขาใช้แอพพลิเคชันกรอกข้อมูลพาสปอร์ตและพยายามสแกนแอพฯ กับเครื่องสแกนตามปกติ เจ้าหน้าที่โมโหและพูดว่า “สแกนทำไมล่ะ ไม่ได้บอกให้สแกนซะหน่อย” และอีกครั้งหนึ่งที่สนามบินลอสแองเจลิส (LAX) ที่เดียวกับที่เหตุการณ์ของติวเตอร์ภาษาอังกฤษเกิดขึ้น Patel เล่าว่า “ที่สนามบินลอสแองเจลิส เมื่อผู้โดยสารชาวเอเชียคนหนึ่งซึ่งผมเดาว่าพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่งไม่ได้ยินที่เจ้าหน้าที่เรียกให้ไปที่เคาน์เตอร์ ผู้โดยสารคนนั้นอาจจะเริ่มเดินช้าไป 5 วินาที เจ้าหน้าที่เลยตะโกนว่า ‘โอเค ถ้าคุณไม่อยากมา ผมจะยืนอยู่ตรงนี้’” 

A Beston บอกว่า “มันมีหลายเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรพูดห้วนๆ หรือไม่เป็นมิตร (สนามบินหรือช่องทางอื่น) นี่คือ 2 ข้อใหญ่ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลใดๆ ที่พวกเขาสัมภาษณ์ 1.พวกเขามีงานที่ซับซ้อนที่ต้องทำ และพวกเขาต้องทำอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีเวลาพูดคุย 2.พวกเขาก็เป็นมนุษย์และมีทั้งวันที่ดีวันที่แย่ บางครั้งมันอาจรู้สึกว่าคุณพยายามจะแยกระหว่าง ‘การโกหกเล็กน้อย (เช่น “โอ้ ไม่รู้เลยว่าต้องดีแคลร์ X”) กับ ‘การโกหกคำโต’ (เช่น “ใช่ เด็กคนนี้ควรจะอยู่กับฉัน”)’” 

A Beston ยังพูดคล้ายกับ Wiebe de Boer เรื่องเหตุการณ์ 9/11 ว่า “ช่วงที่ผมอยู่กับศุลกากรฝั่งแคนาดา ศุลกากรสหรัฐฯ ของเราเป็นที่รู้จักกันดีว่าเข้มงวดมากและขวานผ่าซาก (พูดให้สุภาพอ่ะนะ) หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 พวกเขาก็เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น พวกเขาทำงานเพื่อปกป้องประเทศตัวเองให้ดีที่สุด ชัดเจนว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการปกป้องนั้นมากกว่าความมีมารยาท” 

Anonymous บอกว่า “ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาผมเดินทางเข้าสหรัฐฯ สองสามครั้งและเจอเรื่องแย่ๆ เกือบจะทุกครั้งที่กลับไป อย่างแรกผมไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ศุลกากรสหรัฐฯ ต้องหยาบคายและก้าวร้าว...คำถามแรกที่ผมถูกถามในการสนทนาครั้งล่าสุดคือ ‘เมื่อไรคุณจะกลับ’ เอาจริงดิ!!! ไม่มี Hi หรือ Hello หรือว่ามาทำอะไร ยิ่งกว่านั้นคือ เจ้าหน้าที่ไม่แม้แต่จะสบตา ยังกับว่าเขากำลังคุยกับคนที่ด้อยกว่าเขา” 

Bernard Peter Gore บอกว่า “ผมเคยไปมาแล้วกว่า 40 ประเทศ และใช่ สหรัฐฯ คือหนึ่งมนประเทศที่แย่ที่สุด และที่น่าผิดหวังคือ มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเลย เพราะที่หนึ่งในสหรัฐฯ ที่ผมเคยไปเจ้าหน้าที่เป็นมิตรและยินดีให้ความช่วยเหลือมาก มันคือที่ฮาวาย พวกเขามีประสิทธิภาพ (จริงๆ แล้วมากกว่านั้น) และมีประสิทธิภาพ ไม่มีอะไรที่จะบ่งบอกถึงการทำงานไม่ดีเลย พวกเขาทั้งเป็นมิตรและเต็มใจต้อนรับในเวลาเดียวกัน ถ้าพวกเขาทำได้ แล้วทำไมคนที่เหลือไม่ทำล่ะ?”  

James Scott อดีตเจ้าหน้าที่ศุลกากรและผู้สอนเจ้าหน้าที่ศุลกากรของสหรัฐฯ บอกว่า “เพราะพวกเขาต้องเช็คคนที่เดินทางเข้ามา (ผมเคยบินไปเยอรมนี อังกฤษ เดนมาร์ก สาธารณรัฐเชก อิตาลี และกรีซ และถึงกับอึ้งเมื่อเห็นว่าพวกเขาขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน) และพวกเขาเช็คคนหลายหมื่นคนระหว่างกะของพวกเขา ผมว่าพวกเขาเป็นมิตรมากๆ ถ้าคุณพูดคุยกับพวกเขาในขณะที่พวกเขาทำงาน แต่คุณต้องไม่ลืมว่า ทุกสัปดาห์ผู้คนพากันมาสหรัฐฯ เป็นล้านๆ คน หลายล้าน เรารับคนเข้าประเทศทุกวันมากกว่าประเทศอื่นๆ รวมกัน ผมไม่เคยได้ยินว่าสนามบินนานาชาติหลักๆ ในสหรัฐฯ ไม่ใช้กฎการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และมันก็เป็นแบบนั้นมานานแล้ว เป็นคุณก็ต้องมีอารมณ์บูดกันบ้างแหละ”

แล้วการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ต้องเจอกับอะไรบ้าง?

การเดินทางเข้าสหรัฐฯ อาจจะไม่รวดเร็วหรือง่ายดาย แม้จะมีวีซ่าถาวรหรือวีซ่าชั่วครามอยู่ในมือก็ตาม  

บุคคลแรกที่เราจะต้องพบเจอเมื่อเดินทางเข้าสหรัฐฯ ไม่ว่าจะทางอากาศ ทางบก หรือทางทะเลก็คือ เจ้าหน้าที่ศุลกากรและปกป้องชายแดน หรือ CBP

เตรียมเอกสาร

เจ้าหน้าที่ CBP จะตรวจสอบพาสปอร์ต ตรวจสอบวีซ่า และถามคำถามที่ออกแบบมาเพื่อล้วงข้อมูลใดๆ ที่อาจห้ามไม่ให้เราเข้าสหรัฐฯ หากเข้ามาโดยวีซ่าถาวร (immigrant visa ซึ่งเป็นเอกสารเข้าประเทศสำหรับผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรตามกฎหมายรายใหม่) อาจต้องเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานใส่ซองที่ปิดสนิทและยังไม่ได้เปิด (บางกรณีอาจเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์)  

พึงระลึกไว้เสมอว่า เตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อม เพราะเจ้าหน้าที่ CBP ถูกฝึกมาให้เป็นคนขี้สงสัย และความปลอดภัยคือสิ่งแรกที่พวกเขาให้ความสำคัญ

เตรียมเข้าคิวยาวเหยียดและความล่าช้า

ณ จุดตรวจขั้นแรก เราอาจจะต้องเจอกับการเข้าคิวยาวเหยียด เพราะผู้โดยสารทุกคนต้องผ่านจุดตรวจนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะก็บลายนิ้วมือ (นอกจากว่าจะได้รับการยกเว้นในกรณีผู้สูงอายุหรือประเภทของวีซ่า) ตามด้วยการตรวจสอบตัวตนและตรวจสอบชื่อกับฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ต่างๆ 

ในจุดนี้เจ้าหน้าที่จะมองหาคนที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยหรือสุขภาพ หรือคนที่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน (F-1 หรือ M-1) หรือวีซ่าชั่วคราว (nonimmigrant visa) อื่นๆ เพื่อเข้าสหรัฐฯ โดยมีวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมาย หรือพำนักอยู่ถาวร 

แต่อย่าเพิ่งดีใจไป แม้ว่าการตรวจเช็ควีซ่าจะผ่านแล้วก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้เข้าสหรัฐฯ 100% หากเจ้าหน้าที่ CBP เจอปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้อย่างทันท่วงที หรือเชื่อว่ามีอะไรไม่น่าไว้วางใจ หรือมีความเสี่ยงต่อความมั่นคง เราอาจถูกส่งตัวไปยังจุดตรวจขั้นที่สอง เพื่อสัมภาษณ์เพิ่มเติม 

หากเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจขั้นที่สองเห็นว่าเราไม่มีสิทธิ์เข้าสหรัฐฯ เราอาจถูกปฏิเสธการเดินทางเข้า ถูกส่งกลับประเทศบ้านเกิด หรือแม้แต่ห้ามเดินทางกลับเข้ามาอีกเป็นเวลา 5 ปี หรือห้ามใช้โปรแกรมการขอยกเว้นวีซ่า (VWP)  

ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ ครั้งแรกด้วยกรีนการ์ดทุกคนจะต้องถูกส่งตัวไปยังจุดตรวจขั้นที่สอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารต่างๆ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนปกติ 

อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อให้แน่ใจว่าการเดินทางเข้สหรัฐฯ ของเราจะราบรื่นและใช้เวลาน้อยลงคือ การสมัครโครงการนักท่องเที่ยวที่น่าเชื่อถือ (Trusted Traveler program) ของรัฐบาล ซึ่งมีเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศที่สหรัฐฯ มองว่ามีความเสี่ยงน้อย หากได้รับการอนุมัติจะได้ข้ามขั้นตอนการต่อคิวตรวจพาสปอร์ตยาวๆ ไปใช้ตู้คิออสแทน ยกเว้นกรณีนำสิ่งของบางอย่าง หรือพกเงินจำนวนมากเข้ามา ที่จะต้องต่อคิวสำหรับจุดตรวจขั้นแรกแม้ว่าการสมัครโครงการนักท่องเที่ยวที่น่าเชื่อถือจะได้รับการอนุมัติก็ตาม

เตรียมตัวตอบคำถาม

คำถามที่มักจะถาม ได้แก่

  • เดินทางมาสหรัฐฯ ทำไม ซึ่งต้องตอบให้ตรงกับประเภทวีซ่า เช่น ได้วีซ่าท่องเที่ยว B-2 แต่กลับตอบว่ามาหางานทำ แบบนี้จะถูกส่งตัวกลับประเทศทันที หรือหากได้กรีนการ์ดจากการสมรส ก็ให้คำตอบที่แสดงให้เห็นว่าเราจะไม่ฝ่าฝืนกฎหมายของสหรัฐฯ  
  • จะพักที่ไหน โดยปกติหากเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพียงชั่วคราว เจ้าหน้าที่เพียงต้องการทราบว่าแผนการของเราเป็นอย่างไรบ้าง จะทำอะไรบ้าง แต่หากไม่ได้จองที่พักไว้ล่วงหน้า เจ้าหน้าที่อาจถามต่อว่าทำไมถึงต้องอนุญาตให้เราเดินทางเข้าประเทศ 
  • จะไปเยี่ยมใครบ้าง คำถามนี้มักจะใช้ถามนักท่องเที่ยว เพื่อดูว่าเรามีแผนที่ชัดเจนและถูกกฎหมายหรือไม่ 
  • จะอยู่นานแค่ไหน เจ้าหน้าที่ต้องการทราบว่าเราไม่ได้มีแผนจะอยู่ในสหรัฐฯ นานกว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าจะได้วีซ่าแบบเดินทางเข้าได้หลายรอบ และใช้ได้ 10 ปี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ได้ 10 ปีจริงๆ หากได้วีซ่าท่องเที่ยว B-2 มักจะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่เกิน 6 เดือน ในแบบฟอร์ม I-94 จะบอกวันที่ที่เราต้องเดินทางออกจากสหรัฐฯ ไว้  
  • มีเงินเท่าไรสำหรับทริปนี้ ใครเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  
  • เคยมาสหรัฐฯ มาก่อนไหม ถ้าเคย มาอยู่กี่วัน หากเคยไปสหรัฐฯ แล้ว แล้วอยู่ที่นั่นเกินกว่าที่วางแผนไว้ หรืออยู่เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตต้องอธิบายกับเจ้าหน้าที่และต้องมีเอกสารยืนยัน เช่น หากการไปครั้งหลังสุดแจ้งไว้ว่าจะไปดิสนีย์แลนด์ 1 สัปดาห์ แต่กลับต้องอยู่สหรัฐฯ 2 เดือนเพราะไม่สบาย เจ้าหน้าที่อาจขอเอกสารทางการแพทย์และใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล แม้ว่าไม่ได้อยู่เกินระยะเวลาที่กำหนด การอยู่นานเกินกว่าที่แจ้งไว้ก็ต้องชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทราบ 
  • มาสหรัฐฯ บ่อยไหม เจ้าหน้าที่จะจับผิดคนที่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเป็นช่องทางในการอยู่แบบถาวร หรือเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ  
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือยัง มีเอกสารรับรองไหม

ต้องรู้สิทธิของตัวเอง

ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ มีสิทธิ์เพียงเล็กน้อยระหว่างที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบเอกสารต่างๆ เราไม่มีสิทธิ์มีทนายความระหว่างอยู่ในจุดตรวจขั้นแรกและขั้นที่สอง แต่อาจได้รับสิทธิ์นั้นซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กระเป๋าสัมภาระและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อาจถูกตรวจค้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามโดยที่เราไม่ได้อนุญาต เจ้าหน้าที่ CBP สามารถถามเราได้เกือบจะทุกคำถาม 

เตรียมตัวรับการถูกค้นกระเป๋า 

เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระและข้าวของส่วนตัว ดังนั้นต้องตรวจดูให้ดีว่าสิ่งของที่นำติดตัวไปด้วยไม่ขัดกับสถานะวีซ่าของตัวเอง เช่น หากไปในฐานะนักท่องเที่ยวก็ไม่ควรมีเรซูเม่หรือหนังสือเกี่ยวกับการย้ายไปอยู่สหรัฐฯ และต้องไม่มีสิ่งของผิดกฎหมายหรือต้องสงสัย การพกกัญชาอาจถูกกฎหมายในบางประเทศ แต่การนำเข้าไปในสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 

เตรียมพร้อมสำหรับการตรวจคัดกรองทางการแพทย์ 

หากเดินทางมาจากประเทศที่มีโรคติดต่อที่สหรัฐฯ เฝ้าระวัง เราอาจต้องกรอกแบบฟอร์มเกี่ยวกับสุขภาพ และหลังจากผ่านการ ตม.แล้ว อาจต้องมีการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม อาทิ วัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการตรวจคัดกรองทางการแพทย์อื่นๆ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์