ในวันที่ต้นคริสต์มาสหายาก-ราคาแพงกับหนทางที่ต้องเลือก! ‘ต้นแท้ หรือ ต้นเทียม?’

9 ธ.ค. 2565 - 09:57

  • ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงอย่างผิดปกติคร่าชีวิตต้นสนหลายหมื่นต้นในปีนี้ และราคาเฉลี่ยต้นละเกือบ 100 ดอลลาร์สหรัฐ

  • ต้นคริสต์มาสจริงจะใช้เวลา 7-8 ปี ในการเติบโตและเมื่อโตขึ้นจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ รวมทั้งช่วยปกป้องป่าด้วย

  • ในขณะที่ต้นเทียมจะย่อยสลายยากและปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า

1Why-Christmas-trees-are-scarce-more-expensive-year-2022-natural-artificial-SPACEBAR-Thumbnail
หากพูดถึงเทศกาลคริสต์มาส คุณจะนึกถึงอะไร? ซานตาคลอส กวางเรนเดียร์ ของขวัญ การ์ดอวยพร ไฟประดับ และแน่นอนว่าของที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘ต้นคริสต์มาส หรือต้นไม้ตระกูลสน’

ในทุกๆ ปี เมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคม หลายๆ ประเทศแถบยุโรปและอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่นับถือศาสนาคริสต์จะเริ่มตกแต่งประดับไฟตามสถานที่ต่างๆ อาทิ โบสถ์ อาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการ แลนด์มาร์คสำคัญ เป็นต้น จริงๆ ก็แทบจะทุกที่เลยล่ะ โดยสีสันของเทศกาลนี้คงหนีไม่พ้น ‘ต้นคริสต์มาสประดับไฟ’ 

ทว่าในปีนี้ (2022) สิ่งสำคัญในเทศกาลกลับกลายเป็นของหายาก ขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้นโดยเฉพาะในประเทศแลนด์มาร์คของคริสต์มาสอย่างสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ รวมไปถึงตลาดส่งออกต้นคริสต์มาสรายใหญ่ในแคนาดาก็หยุดชะงักด้วยเหมือนกัน และอาจทำให้คริสต์มาสของสหรัฐฯ ในปีนี้ไม่สมบูรณ์เหมือนปีก่อนๆ มากนัก
 

‘ภาวะเงินเฟ้อ’ หนึ่งในปัจจัยที่ขัดขวางความสุขในวันคริสต์มาส 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/23sH9UuFhQ8TJtGH1bEtyD/39f007caa3dac56e9061485c62f6117c/1Why-Christmas-trees-are-scarce-more-expensive-year-2022-natural-artificial-SPACEBAR-Photo01
Photo: KENA BETANCUR / AFP
หากความเจ็บปวดจากอัตราเงินเฟ้อได้ตัดทอนแผนการให้ของขวัญในวันหยุดของคุณแล้ว คุณก็ต้องรับมือและเตรียมพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มสำหรับของตกแต่งด้วยเช่นกัน เนื่องจากราคาข้าวของที่สูงขึ้น  

นอกจากนี้ ยังพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของต้นคริสต์มาสก็สูงขึ้นเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในปีนี้ด้วย เนื่องจากค่าเชื้อเพลิง ปุ๋ย ค่าแรงงานที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อัตราค่าประกันที่สูงขึ้น ตลอดจนการขาดแคลนต้นไม้ทั่วทั้งทวีป 

เชอร์ลีย์ เบรนแนน กรรมการบริหารของสมาคมต้นคริสต์มาสแห่งแคนาดากล่าวว่า “โดยเฉลี่ยทั่วแคนาดา คุณจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และนั่นเป็นเพียงเงินต้นทุนของฟาร์มเท่านั้น…ค่าปุ๋ยเพียงอย่างเดียวเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ในปีที่ผ่านมา ในบางภูมิภาค ชาวสวนบอกว่าเพิ่มขึ้นมากถึง 50% เลยทีเดียว” 

“นอกจากนี้ ก๊าซสำหรับรถบรรทุกที่ขนส่งต้นสนจากฟาร์มไปยังร้านค้าขนาดใหญ่หรือร้านในท้องถิ่นนั้นก็มีราคาสูง รวมถึงเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรในฟาร์มเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ยังพบว่า การทำประกันฟาร์มเองนั้นก็เพิ่มค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าอีกด้วย ซึ่งสำหรับฟาร์มบางแห่งอาจมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ราว 35%” 

“ชาวสวนต้นคริสต์มาสคนหนึ่งของฉันบอกว่า เขาต้องใช้เงิน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 525,000 บาท) ในการทำประกันฟาร์มต้นคริสต์มาสของเขา” เบรนแนน กล่าว 

จอร์จ และมาริยาน พาวเวลล์ เจ้าของฟาร์มในเมืองโบว์แมนวิลล์ รัฐออนแทริโอ แคนาดา มานานกว่า 40 ปี กล่าวว่า “ต้นไม้ต้องขาดแคลนแน่ๆ”  

อย่างไรก็ดี พวกเขาเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ปี 1980 ด้วยพื้นที่ 75 เอเคอร์ทางตะวันออกของโตรอนโต และพวกเขาพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากมายตลอด 40 ปี พาวเวลล์ กล่าวว่า “มีชาวสวนผู้ปลูกต้นสน 12 รายในพื้นที่นั้น ซึ่งตอนนี้ก็เหลือเพียงพวกเขาเท่านั้น ครั้งหนึ่งต้นกล้าเคยราคา 10 เซ็นต์/ต้น (ราว 3.15 บาท) แต่ตอนนี้อยู่ที่ 1.50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 52 บาท)”

 

สภาพอากาศยังเป็นปัญหาอยู่เสมอ

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5mFiDNTxL8jmSdXWOpfCYa/aa7d8a5f25f6a790af5f126a2f93f100/1Why-Christmas-trees-are-scarce-more-expensive-year-2022-natural-artificial-SPACEBAR-Photo02
Photo: Kenzo TRIBOUILLARD / AFP
เนื่องด้วยปริมาณน้ำฝนที่ลดลงอย่างผิดปกติทำให้คร่าชีวิตต้นสนที่เขียวตลอดปีไปหลายหมื่นต้นในปีนี้ และต้นสนที่เหลือมีราคาเฉลี่ยเกือบ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,500 บาท) หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 20% โดยราคาที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดจากการขาดตลาดเท่านั้น แต่ภาวะเงินเฟ้อยังทำให้ชาวสวนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 50% สำหรับวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย 

ตั้งแต่รัฐนิวอิงแลนด์ไปจนถึงรัฐเท็กซัส ฟาร์มต้นสนทั่วประเทศถูกบังคับให้ปิดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากภัยแล้งในฤดูร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและหลายต้นที่โตเต็มที่ก็มักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล 

‘Prairie Pines Christmas Tree Farm’ ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐแคนซัสที่ยังไม่ปิดแม้จะเจอปัญหาภัยแล้งเล่นงาน แต่ คิป สก็อตต์ เจ้าของฟาร์มกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ KWCH-DT ว่า เขาปลูกต้นไม้หลายพันต้นเมื่อต้นปีนี้ แต่สูญเสียไปแล้วกว่า 75% จากภัยแล้ง 

ข้อมูลล่าสุดจาก ‘National Integrated Drought Information System (NIDIS) หรือพระราชบัญญัติระบบข้อมูลภัยแล้งแบบบูรณาการแห่งชาติ’ รายงานว่ามากกว่า 59% ของ 48 รัฐตอนล่างประสบภัยแล้งตั้งแต่วันที่ 16-22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และในสัปดาห์เดียวกัน พืชผลราว 375.4 ล้านไร่ได้รับผลกระทบ และพบว่าในช่วงฤดูร้อน 40% ของประเทศต่างก็ประสบภัยแล้ง ซึ่งมีฟาร์มต้นสนแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัสต้องปิดไป  

เคธิ แรดด์ เจ้าของร่วมของฟาร์ม ‘Radde Tannenbaum Farm’ ในเมืองเมอริเดียน กล่าวกับ สถานีโทรทัศน์ KCEN-TV News ว่า “เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากที่จะปิด ด้วยเหตุผลที่ว่าเราไม่มีต้นไม้ที่จะทำให้ผู้คนพอใจ เราเพิ่งรู้ว่ามันจะดีกว่าที่จะตัดและวางแผนไว้ว่าอีก 1 ปีต้นสนจะกลับมาสวยงามอีกครั้ง” 

ในขณะที่ เอมิลี วัตเน หนึ่งในเจ้าของฟาร์มกล่าวว่า “ทุกคนจะมาปรากฏตัวในสุดสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมโดยคาดหวังว่าจะมีต้นสนที่แข็งแรงหลายเอเคอร์ แต่ว่ามันจะไม่เป็นเช่นนั้น พวกมันบางและเป็นสีน้ำตาลเล็กน้อย” 

เว็บไซต์ Gizmodo รายงานว่า รัฐแมสซาชูเซตส์ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยแล้งด้วยเช่นกัน โดย 80% ของรัฐกำลังประสบกับภัยแล้งระดับปานกลางถึงรุนแรงในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่สำนักข่าว CNBC Boston ก็รายงานว่า ชาวสวนผู้ปลูกต้นสนรายหนึ่งสูญเสียต้นไม้มากกว่า 1,000 ต้นที่ปลูกในฤดูใบไม้ผลินี้ ซึ่งคิดเป็นการสูญเสียมากถึง 95% 

วูดดี วูดดรัฟฟ์ เจ้าของ ‘Kadee Farm’ ในเมืองกรีนวิลล์ รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นผู้ขนส่งต้นสน กล่าวกับรายการทีวี ‘Good Morning America หรือ GMA’ ว่า “แน่นอนว่าต้นสนเหล่านั้นจะมีราคาแพงขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคก็จะจ่ายมากขึ้นในปีนี้ด้วยเช่นกันหากว่าพวกเขาต้องการต้นสนที่ยังมีชีวิตชีวา และถ้าคุณไปที่ร้านค้าปลีกใหญ่ๆ ผมก็สังเกตเห็นว่า ราคาของต้นสนเทียมก็พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและการขนส่ง”
 

ต้นคริสต์มาสแบบไหนที่ดีต่อสภาพอากาศ?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3mQMAuzqZwmVzNYIFUNp5T/fd6d492992e3087dae672ec4360515a1/1Why-Christmas-trees-are-scarce-more-expensive-year-2022-natural-artificial-SPACEBAR-Photo03
Photo: JOE RAEDLE / AFP
ในขณะที่บางคนสนุกสนานไปกับกลิ่นหอมของต้นคริสต์มาสจริงและมีความสุขที่ได้เลือกต้นสนที่ฟาร์มในท้องถิ่น แต่บางคนก็ชอบความเรียบง่ายของต้นสนเทียมที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้อีกครั้งในวันคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงนี้ 

แต่ทว่า ผู้บริโภคกลับเริ่มใส่ใจเรื่องสภาพอากาศมากขึ้น และพิจารณาว่าต้นไม้ชนิดใดมีผลกระทบน้อยที่สุดต่อภาวะโลกที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยนี้เองได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินใจในการเลือกซื้อต้นสน 

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า มันซับซ้อนที่จะบอกว่า ต้นไม้ชนิดใดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำที่สุดระหว่างต้นสนธรรมชาติหรือต้นสนเทียมแบบพลาสติกที่ซื้อตามร้านค้า ด้าน แอนดี ฟินตัน ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ภูมิทัศน์และนักนิเวศวิทยาป่าไม้ขององค์กรสิ่งแวดล้อม ‘Nature Conservancy’ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า “มันมีความแตกต่างและซับซ้อนมากกว่าที่คุณคิด” 
 

ต้นสน VS ต้นเทียม

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6PLfMJH8BjE0M54GR4ATn9/edeb6f729556d8bf321de2a8d1b4466f/1Why-Christmas-trees-are-scarce-more-expensive-year-2022-natural-artificial-SPACEBAR-Photo04
Photo: JOE RAEDLE / AFP
เป็นเรื่องง่ายที่จะจินตนาการว่าการใช้ต้นสนเทียมซ้ำทุกปีเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า แต่ ฟินตัน กล่าวว่า “หากใช้ต้นเทียมเป็นเวลานานกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาเฉลี่ยในการดูแลรักษาและแน่นอนว่ามลพิษของต้นเทียมนั้นจะสูงกว่าต้นสนจริงอย่างแน่นอน…หากเราใช้ต้นไม้เทียมเพื่อยืดอายุการใช้งาน ความสมดุลก็จะเปลี่ยนไป และผมรู้มาว่ามันต้องใช้เวลากว่า 20 ปีกว่าที่ carbon balance หรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิจะเป็นศูนย์” 

นั่นเป็นเพราะว่า โดยทั่วไปแล้วต้นเทียมจะทำจากพลาสติกพอลิไวนิลคลอไรด์หรือ พีวีซี ซึ่งพลาสติกมีฐานมาจากปิโตรเลียมและสร้างขึ้นในโรงงานปิโตรเคมีที่พ่นมลพิษ จากการศึกษายังพบว่า พลาสติกพีวีซีก่อให้เกิดมะเร็งและความเสี่ยงด้านสาธารณสุข รวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย 

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ต้นคริสต์มาสเทียมในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีน ซึ่งหมายความว่าสินค้าจะถูกขนส่งโดยเรือที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นจะเคลื่อนย้ายโดยรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ก่อนที่จะลงจอดบนชั้นวางของผู้จัดจำหน่าย หรือหน้าประตูบ้านของผู้บริโภค 

ในทางกลับกัน เจมี วอร์เนอร์ ผู้อำนวยการบริหารของ ACTA กล่าวกับ CNN ว่า “ต้นเทียมอาจถูกพิจารณาจากปัจจัยการผลิต และการขนส่งในต่างประเทศ ในขณะที่ต้นจริงจะพิจารณาจากการปลูก การใส่ปุ๋ย และการรดน้ำ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการเพาะปลูกประมาณ 7-8 ปี” 
 

แล้วต้นคริสต์มาสจริงล่ะมีประโยชน์อย่างไร? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1iQFWhSHHFXZTt0KIqyd1v/7cc7cc177dc768b7ca99563b11a2aa37/1Why-Christmas-trees-are-scarce-more-expensive-year-2022-natural-artificial-SPACEBAR-Photo05
Photo: JOE RAEDLE / AFP
ตามข้อมูลของ ‘National Christmas Tree Association’ หรือสมาคมต้นคริสต์มาสแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วต้นคริสต์มาสจะใช้เวลา 7 ปีในการเติบโตอย่างเต็มที่และเมื่อโตขึ้นก็จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ รวมทั้งช่วยปกป้องป่าด้วย 

หากต้นสนถูกตัดหรือเผา ต้นสนเหล่านั้นจะสามารถปล่อยคาร์บอนที่สะสมไว้กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศได้ แต่ ดั๊ก ฮันด์ลีย์ โฆษกของสมาคมต้นคริสต์มาสแห่งชาติ ซึ่งสนับสนุนการใช้ต้นคริสต์มาสจริง กล่าวว่า “การตัดต้นคริสต์มาสหรือการเก็บเกี่ยวจากฟาร์มจะมีความสมดุลก็ต่อเมื่อชาวสวนปลูกต้นกล้าทดแทนเพิ่มในทันที” 

แต่อย่างไรก็ตาม ฟินตันก็ไม่แนะนำให้ตัดต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อนำกลับบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันอยู่ในพื้นที่ที่คุณไม่ได้รับอนุญาต และเขาแนะนำให้ซื้อต้นไม้จากฟาร์มในท้องถิ่นแทน 

“การซื้อต้นคริสต์มาสธรรมชาติ คือ การสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่น ชาวสวนในท้องถิ่น และสำหรับผม นั่นเป็นส่วนสำคัญของการอนุรักษ์ เมื่อผู้ปลูกต้นสนสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากที่ดินของตนได้ พวกเขาก็มีโอกาสน้อยที่จะขายเพื่อการพัฒนาและแปลงเป็นอย่างอื่น” ฟินตัน กล่าวทิ้งท้าย 

 

เมื่อเทศกาลคริสต์มาสสิ้นสุดลง 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Ra8qD61QIfJIRepLZ70Rc/7f8cc16edca13c7bbe40357b46c4c275/1Why-Christmas-trees-are-scarce-more-expensive-year-2022-natural-artificial-SPACEBAR-Photo05_copy
Photo: Kenzo TRIBOUILLARD / AFP
ปลายทางของต้นคริสต์มาสหลังจากเทศกาลสิ้นสุดลงก็คือ การฝังกลบ โดยต้นไม้เหล่านั้นมีส่วนในการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีพลังรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 80 เท่า 

ฮันด์ลีย์ กล่าวว่า “ต้นคริสต์มาสลงเอยด้วยการฝังกลบนั้นเป็นเรื่องที่น่าท้อใจมาก…เราจำเป็นต้องมีพื้นที่แยกสำหรับขยะที่สามารถทิ้งต้นคริสต์มาสได้” 

แต่ทั้งนี้ รัฐบางแห่งได้เปลี่ยนต้นสนที่ถูกทิ้งให้เป็นประโยชน์ต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม อย่างในนิวยอร์ก จะมีการเก็บต้นสนที่ทิ้งไว้บนขอบถนนเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือทำปุ๋ยหมัก แปรรูปเป็นวัสดุคลุมดินและนำไปใช้บำรุงต้นไม้อื่นๆ ทั่วเมือง 

“เมื่อเจ้าของบ้านใช้ต้นคริสต์มาสเสร็จแล้ว มันง่ายและเป็นเรื่องธรรมดามากในอเมริกาที่จะแปลงเป็นวัสดุคลุมดิน ซึ่งนั่นก็คือคาร์บอนที่เก็บไว้จะถูกใส่กลับลงไปในดิน” ฮันด์ลีย์ กล่าวเสริม 

นอกจากนี้ ฟินตัน ยังกล่าวอีกว่า “ต้นคริสต์มาสในอดีตสามารถนำมาใช้ซ้ำเพื่อการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยได้ พวกมันสามารถช่วยควบคุมการกัดเซาะได้หากวางไว้ริมลำธาร หรือริมฝั่งแม่น้ำ และยังสามารถช่วยให้ที่อยู่อาศัยใต้น้ำเจริญเติบโตได้หากวางไว้ในแม่น้ำ หรือทะเลสาบ” 

ในขณะที่การสิ้นสุดอายุของต้นเทียมนั้นก็จะมีความแตกต่างกันไป หากว่าพวกมันลงเอยด้วยการฝังกลบ อาจจะต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย หรือหากนำไปเผาก็อาจปล่อยสารเคมีอันตรายออกมาได้ 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผู้คนจะเลือกหนทางใด จะเลือกต้นจริงหรือต้นเทียม ต่างก็มีผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเทศกาลสุดพิเศษนี้ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ทุกคนเลือกที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมได้ แม้ว่าปีนี้ (2022) ฟาร์มคริสต์มาสจะเจอวิกฤติภัยแล้งมากมาย รวมถึงการเผชิญหน้ากับภาวะเงินเฟ้อจนบางแห่งถึงขนาดต้องปิดกิจการไป ถึงกระนั้น ก็มิอาจหยุดยั้งความนิยมของผู้ที่ต้องการดื่มด่ำเฉลิมฉลองกับเทศกาลแสนอัศจรรย์นี้ได้  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/65u65icLrvkODTs9Rl2Cxn/58468e2f6d9dcc68c5c6cc2c6b289af4/info-Why-Christmas-trees-are-scarce-more-expensive-year-2022-natural-artificial

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์