‘ฟินแลนด์’ ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก แต่กลับมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง

22 มี.ค. 2566 - 07:44

  • ปัจจัยอะไรกันนะที่ทำให้พลเมืองชาวฟินแลนด์มีความรู้สึกที่สวนทางกับอันดับ 1 ของโลกที่ประเทศได้รับโหวตมาตลอด 6 ปีซ้อน

Why-Finland-is-the-most-depressed-happiest-country-in-the-world-SPACEBAR-Hero
หากพูดถึง ‘ฟินแลนด์’ หลายคนจะรู้จักประเทศนี้ในฐานะประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกและเป็นหนึ่งในประเทศที่คอร์รัปชันน้อยที่สุดในโลก โดยจากการจัดอันดับ World Happiness Report ล่าสุดของเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDSN) พบว่า ฟินแลนด์คว้าแชมป์มา 6 ปีซ้อนแล้ว 

แต่รู้หรือไม่ว่าคนฟินแลนด์เองก็ประหลาดใจกับการติดอันดับนี้อย่างมาก คนภายนอกอาจมองว่าพลเมืองที่นี่คงมีความสุขมากจริงๆ ในทางตรงกันข้ามกลับพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายก็สูงมากๆ เช่นเดียวกันและวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าเยอะด้วย จึงเกิดคำถามตามมาว่า ‘จริงๆ แล้วฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขจริงหรือเปล่า?’  

แล้วสาเหตุใดที่ทำให้ชาวฟินแลนด์มีความรู้สึกที่สวนทางกับอันดับ 1 ของโลกขนาดนี้? 

ฤดูหนาวที่ยาวนานและมืดมิด 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/CyEqIpaY9fii7DQwCx1cR/d308ffd84038f663b2dea20c2d1f2d85/Why-Finland-is-the-most-depressed-happiest-country-in-the-world-SPACEBAR-Photo01
สภาพอากาศนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์และสุขภาพของคนที่นี่ แน่นอนว่าฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ราว 1 ใน 4 ของประเทศตั้งอยู่เหนือพื้นที่อาร์กติกเซอร์เคิล / Arctic Circle (ดินแดนฤดูหนาวตลอดกาลที่รุนแรงและมืดมิด) ทำให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ไม่ขึ้นเลยเป็นเวลากว่า 50 วันในช่วงฤดูหนาว และพระอาทิตย์เที่ยงคืน (เห็นแสงอาทิตย์ 24 ชั่วโมง) ในช่วงฤดูร้อนกว่า 70 วัน 

ด้วยสภาพอากาศที่เป็นเช่นนี้จึงทำให้ชาวฟินแลนด์มีอารมณ์แปรปรวนตามฤดูกาล หรือเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder / S.A.D) โดยเฉพาะฤดูหนาว และพบว่าฟินแลนด์กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกด้วย (11.6 ต่อประชากร 100,000 คน เทียบกับ 10.1 ในสหรัฐฯ) 

จากการวิจัยผลกระทบของสภาพอากาศต่อการตายและการทำร้ายตัวเองในฟินแลนด์นั้นพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการฆ่าตัวตายและการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ซึ่งหมายความว่ามันขึ้นอยู่กับการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ โดยผู้ชายจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของรังสีดวงอาทิตย์มากกว่าผู้หญิง ดังนั้นความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจึงมีมากขึ้นในฤดูหนาวเนื่องจากไม่มีแสงแดด  

ทว่าแสงแดดก็สามารถเป็นดาบสองคมได้ ในช่วงเวลาสั้นๆ แสงแดดที่มากขึ้นก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ แต่แสงแดดในระยะยาวก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน 

“แสงแดดมีผลกระทบต่ออารมณ์และความเป็นอยู่ที่ดีของเรา เช่นเดียวกับสุขภาพจิตของเรา แต่ผลกระทบไม่รุนแรงนัก โดยทั่วไปแล้วชีวิตของเราค่อนข้างคงที่” เอกกิเต อิสโซเมทซา ประธานสมาคมจิตเวชแห่งฟินแลนด์และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิกล่าว 

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความยากจน 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2NWbHggevvhoSKfhkTxjEM/ebd6a20f14239d792804f33a550345b5/Why-Finland-is-the-most-depressed-happiest-country-in-the-world-SPACEBAR-Photo02
ฟังดูน่าทึ่งใช่ไหมว่าทำไมประเทศที่ติดอันดับมีความสุขที่สุดในโลก 6 ปีซ้อน กลับเจอกับภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความยากจนอย่างน่าประหลาดใจ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเงินตามมาตรฐานสากล แต่ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มสูงขึ้น 

ตามรายงานของ OECD (องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป ) ระบุว่า 70% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปีมีงานที่ได้รับค่าจ้างในฟินแลนด์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการจ้างงานของ OECD ที่ 68% แต่รายได้สุทธิต่อหัวของครัวเรือนที่ปรับแล้วโดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 29,943 ดอลลาร์ (ราว 1 ล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 33,604 ดอลลาร์ (ราว 1.1 ล้านบาท) 

ขณะที่กลุ่มประชากรระดับท็อป 20% ในฟินแลนด์มีรายได้เกือบ 4 เท่าของประชากรระดับล่าง 20% ซึ่งถือว่าเป็นช่องว่างความไม่เสมอภาคที่ดูต่ำกว่าประเทศในสหภาพยุโรปอื่นๆ อย่างมาก  

จากรายงานเมื่อไม่นานมานี้พบว่ารายได้ต่ำในฟินแลนด์นั้นมีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในประชากรวัยทำงาน และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจก็เริ่มปรากฏให้เห็นได้ชัดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เพราะรายได้ที่ต่ำส่วนใหญ่ไปเกี่ยวข้องกับความทุกข์ยากในชีวิตประจำวัน 

ตามสถิติแล้ว ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะรับรู้ถึงภัยคุกคามมากขึ้นในละแวกใกล้เคียง มีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ รู้สึกขาดการเชื่อมต่อจากชุมชน และรับรู้ถึงการควบคุมต่ำในที่ทำงาน นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการว่างงานและความเจ็บป่วยทางจิต และพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายนั้นจะเจอบ่อยกว่าในหมู่ผู้คนที่ว่างงาน 

ในขณะเดียวกันวัยรุ่นที่เป็นซึมเศร้าก็มักจะถูกกีดกันออกจากตลาดแรงงาน และการขาดงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะซึมเศร้าก็กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่เชื่อมโยงการถูกกีดกันจากงานที่ได้รับค่าจ้างด้วยเช่นกัน 

เสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2lHoFOICpJTg49NZ4yRzY8/73c297ce7af968b389a61ba2671b145f/Why-Finland-is-the-most-depressed-happiest-country-in-the-world-SPACEBAR-Photo03
ความเจ็บป่วยทางจิตอื่นๆ อย่างโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยในฟินแลนด์ส่วนใหญ่มักมาจากการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปคิดเป็น 4% ที่ได้รับผลกระทบของประชากรฟินแลนด์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปที่ 2.4% อย่างมาก 

ทั้งนี้ พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะที่มีอัตราภาวะซึมเศร้าอยู่นั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ และแน่นอนว่ามันมักเกี่ยวโยงกับสภาพอากาศที่มืดมิดและหนาวเย็น อย่างไรก็ตาม นั่นก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าเหตุใดอัตราการติดสุราและโรคซึมเศร้าของฟินแลนด์จึงแตกต่างจากประเทศในกลุ่มนอร์ดิกอื่นๆ ที่มีสภาพธรรมชาติเหมือนกัน และเหตุใด ‘การดื่มให้เหมือนชาวฟินแลนด์’ จึงกลายเป็นคำพูดที่ได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน 

อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมาในอดีตจะพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายในฟินแลนด์นั้นสูงมากๆ จากในปี 1990 มีจำนวนการฆ่าตัวตายประจำปีเกิน 1,500 ราย แต่ก็พบว่าในปัจจุบันสถิติก็ลดลงมากเช่นเดียวกัน โดยในปี 2017 พบว่ามีเพียง 824 รายที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 

แต่ถึงกระนั้น ก็ควรยอมรับว่าที่ผ่านมาอัตราการฆ่าตัวตายในฟินแลนด์นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปจริงๆ และการศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่าโรคพิษสุราเรื้อรังและการล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัวยังคงแพร่หลายอยู่ แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขเนื่องจากผลโหวตความสุขอันดับ 1 ของโลกที่ฟินแลนด์ได้รับทำให้หลายๆ ประเทศมองว่าพลเมืองที่นี่มีความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว 

‘ความเหงา’ เป็นเหตุ! 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7I9ZwEaa0TYHOoVtxFQOVX/e5a69e788ab7c2eb33ff343372b2ade3/Why-Finland-is-the-most-depressed-happiest-country-in-the-world-SPACEBAR-Photo04
เฮลซิงกิมิสซิโอ (Helsinkimissio) องค์กรสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานด้วยความสมัครใจตั้งแต่ปี 1883 พร้อมกับเป้าหมายที่ ‘ช่วยลดความเหงา’ ระบุว่า มีการขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 30% ในปี 2020 และเหตุผลที่ใหญ่ที่สุดในการติดต่อองค์กรเข้ามาสำหรับคนหนุ่มสาวและคนชรา นั่นก็คือ ‘ความเหงา’ 

สำหรับผู้สูงอายุ ความเหงาหมายความว่า ไม่มีใครให้พูดคุยด้วยและไม่มีใครที่จะทำธุระให้พวกเขา เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถูกบังคับให้อยู่บ้านโดยเฉพาะในช่วงล็อคดาวน์โควิด-19 แต่สำหรับคนหนุ่มสาว ความเหงานั้นทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ โรงเรียนและอนาคต 

“เรายังสังเกตเห็นว่าความรุนแรงในหมู่คนหนุ่มสาวรุนแรงขึ้นมาก เราเห็นสิ่งนี้ตามท้องถนนและโรงเรียนในเฮลซิงกิเมื่อฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนที่ผ่านมา” ฮันนา คารี ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิการกล่าว 

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ พบว่า การก่ออาชญากรรมโดยคนหนุ่มสาวลดลงตั้งแต่ปี 2012 แต่เพราะโรคระบาดโควิด-19 กลายเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการก่ออาชญากรรมรุนแรงเพิ่มขึ้น 

จารี คอสกี สารวัตรอาชญากรแห่งกรมตำรวจเฮลซิงกิ กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 นั้นมีอาชญากรรมรุนแรงที่กระทำโดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และตำรวจเองก็ยังกังวลเกี่ยวกับการใช้มีดของเยาวชนที่เพิ่มขึ้นด้วย 

จากที่กล่าวมาข้างต้น คุณยังมีความเชื่ออยู่ไหมว่า ‘ฟินแลนด์ยังคงเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกจริงๆ?’ จริงๆ แล้วผลโพลที่ออกมาก็วัดได้เพียงภาพรวมเท่านั้น ในท้ายที่สุดพลเมืองชาวฟินแลนด์ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายอย่างภายในประเทศเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ หรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็ตาม

หากว่ากันไปตามที่ตาเห็นเราอาจมองว่าฟินแลนด์ดูเป็นประเทศที่มีความสุขจริงๆ แต่หากลองมองให้ลึกกว่านั้นและพิจารณาอีกหลายๆ มุมก็จะพบว่าไม่ใช่คนในประเทศทั้งหมดสักหน่อยที่จะรู้สึกมีความสุข หากความสุขวัดจากการปราศจากภาวะซึมเศร้า ฟินแลนด์ก็คงไม่ใช่ประเทศที่มีความสุขที่สุดเป็นแน่ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์