ไขข้อข้องใจ ‘ทำไมเนปาลถึงเป็นประเทศที่มีเครื่องบินตกบ่อย?’

16 ม.ค. 2566 - 08:35

  • ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันทำให้เนปาลเป็นสถานที่ที่อันตรายสำหรับการบิน

  • เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก สายการบินของเนปาลจำนวนมากจึงจำเป็นต้องพึ่งพาสต็อกเครื่องบินที่เก่าแล้วสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ

  • สนามบินในเมืองลุคลา ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก

Why-do-planes-in-Nepal-crash-so-often_-SPACEBAR-Hero
จากข่าวเครื่องบินตก ครั้งเลวร้ายที่สุดของเนปาลในรอบ 30 ปีเมื่อวันอาทิตย์ (15 ม.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารไว้ทั้งหมดราว 72 คนและมีรายงานล่าสุดพบว่าคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 68 ราย โดยความผิดพลาดของสายการบิน Yeti Airlines ครั้งนี้ ทำให้เนปาลมีผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตกนับตั้งแต่ปี 2000 ถึง 341 รายจากทั้งหมด 18 เหตุการณ์ 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ยังเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของประเทศอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของการเดินทางทางอากาศในประเทศและกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อการบินมากที่สุดในโลก  

ด้านผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทัศนวิสัยต่ำ และภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ล้วนมีส่วนทำให้เนปาลขึ้นชื่อในฐานะสถานที่ขึ้นเครื่องบินที่อันตราย 

นอกจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปจนถึงรันเวย์ที่ตั้งอยู่บนภูเขา ก็ยังมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เนปาลกลายเป็นประเทศที่เกิดเหตุเครื่องบินตกจำนวนมาก 

ภูมิประเทศที่ไม่เป็นมิตรและอากาศที่ไม่เป็นใจ 

รูปแบบสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนไม่ใช่ปัญหาเดียวสำหรับการปฏิบัติการทางการบิน โดยในรายงานความปลอดภัยปี 2019 จากสำนักงานการบินพลเรือนของเนปาลระบุว่า ‘ภูมิประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ ของประเทศเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายครั้งใหญ่ที่นักบินต้องเผชิญ

ด้วยภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขานี้อาจเป็นเรื่องยากสำหรับการขับเครื่องบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศเลวร้าย ที่แย่ไปกว่านั้นคือ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องบินขนาดเล็กเพื่อเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลและเป็นภูเขาของเนปาล 

จากรายงานของสำนักงานการบินพลเรือน ระบุว่า เครื่องบินที่มีที่นั่งไม่เกิน 19 ที่นั่งมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง ขณะเดียวกันเที่ยวบินที่ออกจากกรุงกาฐมาณฑุก็มักจะเป็นเที่ยวบินขนาดเล็กเสียส่วนใหญ่ 

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันทำให้เนปาลเป็นสถานที่ที่อันตรายสำหรับการบิน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2wIAUgVnyCygPqF1vqHmzL/b34d62aa997607181629f5248af9b98e/Why-do-planes-in-Nepal-crash-so-often_-SPACEBAR-Photo01
Photo: POOJA PANT / AFP
“สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่นั่น ดังนั้นคุณจึงสูญเสียทัศนวิสัย…เห็นได้ชัดว่าเมื่อมีภูเขาเหล่านั้น เมฆก็เริ่มจับตัวกัน…ประกอบกับทางการเนปาลไม่มีการพยากรณ์อากาศที่ดีนักสำหรับการบิน” นีล ฮานส์ฟอร์ด ที่ปรึกษาด้านการบินจาก Strategic Aviation Solutions กล่าว 

ด้านนิกซัน กล่าวว่า สนามบินบางแห่งของเนปาลลงจอดได้ยาก “มีสนามบินหลายแห่งที่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษเพื่อเข้าและออกจากที่นั่น…ผมบินมา 31 ปี แต่ผมยังมีทักษะไม่ดีพอที่จะบินไปที่นั่น ดังนั้นคุณต้องฝึกพิเศษจริงๆ เพื่อบินเข้าและออกจากสนามบินที่ยุ่งยากเหล่านี้ เพราะลมเหล่านี้เคลื่อนที่ไปมาตลอดเวลา” 

รันเวย์ท่ามกลางภูเขาสูงเป็นความท้าทาย 

สนามบินในเมืองลุคลา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเนปาล ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก เพราะเป็นหนึ่งในรันเวย์ที่ห่างไกลและลงจอดยากมาก โดยรันเวย์ของสนามบินแห่งนี้เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ประตูสู่เอเวอเรสต์’ ที่ตั้งอยู่บนหน้าผาระหว่างภูเขา และดิ่งลงสู่เหวลึกในตอนท้าย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5IcEeWplknoxwBp7yvHIUl/89724fd300f0dca01a7a7b0fb00db6c9/Why-do-planes-in-Nepal-crash-so-often_-SPACEBAR-Photo02
Photo: ท่าอากาศยานเทนซิง-ฮิลลารี (AFP / Prakash MATHEMA)
‘ท่าอากาศยานเทนซิง-ฮิลลารี’ หรือรู้จักในชื่อ ‘ท่าอากาศยานลุคลา’ เป็นจุดเริ่มต้นยอดนิยมสำหรับผู้ที่เดินทางไปยังยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งล้อมรอบด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ตั้งอยู่บนที่สูงและมีรันเวย์ที่สั้นมากประมาณ 527 เมตร เมื่อเทียบกับรันเวย์ท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์อยู่ที่ 3,658 เมตร 

เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขาล้อมรอบสนามบิน นักบินจึงแทบไม่มีที่ว่างสำหรับข้อผิดพลาดเลย เพราะทันทีที่เข้าใกล้รันเวย์ พวกเขาจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องนำเครื่องลงเท่านั้น  

ความปลอดภัยของสายการบินที่ย่ำแย่ 

ในปี 2015 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเนปาลผ่านความร่วมมือในการดำเนินการด้านความปลอดภัยด้านการบิน และใน 2 ปีต่อมา ICAO และเนปาลก็ได้ประกาศความร่วมมือเพื่อแก้ไขข้อกังวลด้านความปลอดภัยดังกล่าว 

ในขณะที่ประเทศได้ปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ เมื่อปี 2016 ได้เกิดเหตุเที่ยวบินของ Tara Air ขัดข้องขณะบินซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกันกับเหตุเครื่องบินตกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา  

ในช่วงต้นปี 2018 เที่ยวบินของสายการบิน US-Bangla Airlines จากธากาไปยังกาฐมาณฑุเกิดขัดข้องขณะลงจอดและเกิดไฟลุกไหม้ คร่าชีวิตผู้คนบนเครื่องไป 51 รายจากผู้โดยสารทั้งหมด 71 คน 

และในเดือนพฤษภาคม 2022 เที่ยวบินของ Tara Air ได้ชนเข้ากับภูเขาที่ระดับความสูงประมาณ 14,500 ฟุตทางตอนเหนือของเนปาล ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 22 ราย 

เทคโนโลยีทางการบินที่ล้าสมัย

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7m3tANfM18HfjX206L3eCf/cbaa76905635a62c51a3abc8d5fbc9ff/Why-do-planes-in-Nepal-crash-so-often_-SPACEBAR-Photo03
Photo: เครื่องบิน ‘Summit Air Let L-410 Turbolet’ พุ่งชนกับเฮลิคอปเตอร์ขณะที่มุ่งหน้าสู่กาฐมาณฑุ (AFP / STR)
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก สายการบินของเนปาลจำนวนมากจึงจำเป็นต้องพึ่งพาสต็อกเครื่องบินที่เก่าแล้วสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งหลายสายการบินไม่ได้ติดตั้งเรดาร์ตรวจสภาพอากาศสมัยใหม่หรือเทคโนโลยี GPS ที่สามารถช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับทัศนวิสัยหรือสภาพอากาศได้ 

เบด อูปรีตี กัปตัน กล่าวกับ The Guardian เมื่อปี 2021 ว่า “เราไม่สามารถมีเครื่องบินอายุ 43 ปีไว้บินได้…เทคโนโลยีหรือสิ่งที่ขาดไปนั้นเป็นอันตรายต่อการบินในสถานที่อย่างเช่นเนปาล” 

ดร.อชานา เชรธา นักอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า “โครงสร้างพื้นฐานบนพื้นดินยังขาดอยู่…จำเป็นต้องมีการลงทุนในการพัฒนาสถาบันอุตุนิยมวิทยาการบินเพื่อช่วยสร้างบริการสภาพอากาศในการปฏิบัติงานสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศที่ปฏิบัติการต่ำกว่า 10,000 ฟุต” 

หน่วยงานด้านการบินพลเรือนของเนปาล ระบุว่า “เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากลยุทธ์ นโยบาย และกระบวนการเพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมการบินทั้งหมดภายในประเทศดำเนินไปในระดับสูงสุด” 

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานทำงานตามมาตรฐานสากล แต่หลายประเทศและบริษัททัวร์ได้ห้ามหรือหยุดให้บริการกับสายการบินเนปาลเนื่องจากประวัติความปลอดภัยต่ำ โดยตั้งแต่ปี 2013 สายการบินทั้งหมดจากเนปาลถูกปฏิเสธไม่ให้ให้บริการทางอากาศไปยังสหภาพยุโรปเนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์