ทำไมการระบาดของโควิด-19 ในจีนจึงสร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก?

5 ม.ค. 2566 - 10:21

  • หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และแคนาดา กำลังบังคับใช้ข้อจำกัดในการตรวจผู้ที่เดินทางมาจากจีน เนื่องจากข้อมูลผู้ติดเชื้อขาดความโปร่งใส

  • นักไวรัสวิทยาจากจีนกล่าวว่า “ประชาชนไม่จำเป็นต้องกลัวความเสี่ยงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าในจีน เพราะหลายแห่งทั่วโลกมีประสบการณ์ (การติดเชื้อขนาดใหญ่) มาแล้ว”

Why-the-outbreak-of-COVID-19-China-panic-around-the-world-SPACEBAR-Hero

ทำไมการระบาดของโควิด-19 ในจีนจึงสร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก

ขณะนี้จีนกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหญ่ที่สุดของประเทศหลังจากยกเลิกนโยบายคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ที่ใช้มานานกว่า 3 ปีเมื่อเดือนที่แล้ว 

นานาประเทศต่างพากันกังวลเกี่ยวกับการขาดข้อมูลและความโปร่งใสเกี่ยวกับการระบาดของโรคในจีน และนี่คือเหตุผลว่าทำไมมันจึงสร้างความหวั่นวิตก
 

ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ

ปักกิ่งยอมรับว่าขนาดของการแพร่ระบาดนั้นไปถึงจุดที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ ที่จะติดตามได้หลังจากสิ้นสุดการทดสอบจำนวนมากเมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้หยุดเผยแพร่สถิติการติดเชื้อและการเสียชีวิตทั่วประเทศรายวันแล้ว โดยความรับผิดชอบดังกล่าวได้ถูกโอนไปยังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CDC) ซึ่งจะเผยแพร่ตัวเลขเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น 

จีนรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดเพียง 15 ราย นับตั้งแต่เริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นไม่นานก็จำกัดเกณฑ์การบันทึกการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาให้แคบลง ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดความกังวลว่าระลอกของการติดเชื้อนั้นจะไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างถูกต้องในสถิติอย่างเป็นทางการ  

ด้านเจ้าหน้าที่ยอมรับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ข้อมูลที่รวบรวมนั้นดูน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการทดสอบ PCR จำนวนมาก 

ยินเหวินอู่ เจ้าหน้าที่ของ CDC กล่าวว่า “ขณะนี้ทางการกำลังรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลและแบบสำรวจของรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงปริมาณการโทรฉุกเฉินและการขายยาแก้ไข้ ซึ่งจะชดเชยข้อบกพร่องในการรายงานของเรา” 

ขณะเดียวกัน ทางโรงพยาบาลและฌาปนสถานในจีนก็กำลังต่อสู้กับผู้ป่วยและศพจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ในชนบทที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และแคนาดา ระบุว่า พวกเขากำลังบังคับใช้ข้อจำกัดในการตรวจผู้ที่เดินทางมาจากจีน เนื่องจากข้อมูลผู้ติดเชื้อขาดความโปร่งใส
 

ประมาณการคร่าวๆ

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Oxbpt7Gua6TqraIQ1wmq0/f689a5a22404d94ad1780a6c8d5bd18c/Why-the-outbreak-of-COVID-19-China-panic-around-the-world-SPACEBAR-Photo01
Photo: Jung Yeon-je / AFP
เมื่อเดือนที่แล้ว หน่วยงานระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคบางแห่งเริ่มเปิดเผยยอดรวมการติดเชื้อรายวันโดยประมาณ เนื่องจากขนาดของการระบาดยังไม่ชัดเจน 

เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในมณฑลเจ้อเจียงกล่าวเมื่อวันอังคาร (3 ม.ค.) ว่า จำนวนผู้ป่วยรายใหม่พุ่งขึ้น 1 ล้านคนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และคาดว่าการแพร่ระบาดจะเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมกราคม โดยเมืองฉวีโจวและโจวชานของมณฑลเจ้อเจียง ระบุว่า มีประชากรอย่างน้อย 30% ติดเชื้อไวรัส 

ส่วนเมืองชายฝั่งตะวันออกของชิงเต่ายังคาดการณ์ว่า จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 500,000 รายต่อวัน และคาดว่าศูนย์การผลิตทางตอนใต้ของตงกว่านจะสูงถึง 300,000 ราย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ในมณฑลไหหลำของเกาะ ก็ประเมินเมื่อวันศุกร์ (30 ธ.ค.) ที่ผ่านมาว่า อัตราการติดเชื้อที่นั่นทะลุ 50% แล้ว 

แต่ทางด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูง อู๋ ซุนโหย่ว กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (29 ธ.ค.) ว่า เมืองปักกิ่ง เฉิงตู และเทียนจินได้ผ่านจุดสูงสุดนั้นมาแล้ว โดยเจ้าหน้าที่เมืองกว่างโจวก็กล่าวเช่นเดียวกันเมื่อวันอาทิตย์ (1 ม.ค.) ที่ผ่านมา ขณะที่ทางแพทย์อาวุโสของโรงพยาบาลในเซี่ยงไฮ้ได้ประเมินเมื่อวันอังคาร (3 ม.ค.) ว่า มีมากถึง 70% ของประชากร 25 ล้านคนของเมืองที่อาจติดเชื้อในระลอกปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี มีบันทึกที่รั่วไหลจากการประชุมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมื่อเดือนที่แล้วเปิดเผยว่า พวกเขาเชื่อว่ามีผู้คนติดเชื้อไปแล้ว 250 ล้านคนทั่วประเทศจีนในช่วง 20 วันแรกของเดือนธันวาคม ขณะเดียวกัน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงก็ประเมินว่าชาวจีนเกือบ 1 ล้านคนอาจเสียชีวิตในฤดูหนาวนี้อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ 

นอกจากนี้ ‘Airfinity’ บริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสุขภาพก็ได้คาดการณ์ว่า อาจมีผู้เสียชีวิต 11,000 รายและติดเชื้อ 1.8 ล้านรายต่อวัน โดยจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 1.7 ล้านรายภายในสิ้นเดือนเมษายน
 

สายพันธุ์ใหม่?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5dRnDcqTG9kji3VzLU4QkF/048c484ab0d732ee14274c6fe53868b1/Why-the-outbreak-of-COVID-19-China-panic-around-the-world-SPACEBAR-Photo02
Photo: Jung Yeon-je / AFP
หลายประเทศอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อเป็นเหตุผลในการคัดกรองเชื้อโควิดจากชาวจีน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นจากระลอกปัจจุบันหรือไม่ 

ซูเวิ่นป๋อ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ CDC กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนกำลังพัฒนาฐานข้อมูลพันธุกรรมแห่งชาติของตัวอย่างโควิดที่ได้มาจากการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลซึ่งจะช่วยติดตามการกลายพันธุ์ 

ขณะที่ทางผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของจีนได้กล่าวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.5.2 และ BF.7 นั้นกลายพันธุ์มากที่สุดในปักกิ่ง ซึ่งเป็นนัยที่บอกให้รู้ว่าสายพันธุ์เดลตายังคงแพร่ระบาดอยู่ 

พวกเขากล่าวว่า “โอมิครอนยังคงเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุดในเซี่ยงไฮ้” ส่วนสายพันธุ์ย่อยอย่าง XBB และ BQ ที่แพร่เชื้อได้มากกว่านั้นจะระบาดหนักในหลายๆ ประเทศทางตะวันตก ซึ่งยังไม่แพร่หลายในจีน 

ทั้งนี้ ปักกิ่งได้ส่งตัวอย่างเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจำนวน 384 ตัวอย่างในเดือนที่ผ่านมาไปยังฐานข้อมูลออนไลน์ระดับโลกอย่าง GISAID แต่ทว่าจำนวนรวมทั้งหมดของประเทศที่ส่งเข้าฐานข้อมูลที่ 1,308 รายการนั้นน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ อังกฤษ กัมพูชา และเซเนกัล 

GISAID กล่าวเมื่อวันศุกร์ (30 ธ.ค.) ที่ผ่านมาว่า “ตัวอย่างล่าสุดจากจีนทั้งหมดคล้ายกับสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งพบระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม” 

จินตงเหยียน  นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวในรายการพอดคาสต์อิสระเมื่อเดือนที่แล้วว่า “ประชาชนไม่จำเป็นต้องกลัวความเสี่ยงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าในจีน หลายแห่งทั่วโลกมีประสบการณ์ (การติดเชื้อขนาดใหญ่) แต่หลังจากนั้นก็ไม่เกิดสายพันธุ์ที่ร้ายแรงกว่าหรือก่อให้เกิดโรค”  

“ผมไม่ได้บอกว่าการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ (ที่ร้ายแรงกว่า) นั้นเป็นไปไม่ได้เลย แต่ความเป็นไปได้นั้นน้อยมาก” จิน กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์