‘ยูริ กาการิน’ มนุษย์อวกาศคนแรกในประวัติศาสตร์ กับ ก้าวสำคัญที่เปลี่ยนวงการดาราศาสตร์ไปตลอดกาล

24 มี.ค. 2566 - 06:56

  • เปิดเรื่องราววีรบุรุษโซเวียต ‘ยูริ กาการิน’ มนุษย์อวกาศที่เดินทางออกจากวงโคจรของโลกเป็นคนแรก และปมปริศนาการตายที่เป็นความลับมานานกว่า 45 ปี

Yuri-Gagarin-the-first-man-in-space-russia-SPACEBAR-Thumbnail
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันวงการดาราศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก  แต่หากย้อนเวลากลับไปในช่วงบุกเบิกของเทคโนโลยีอวกาศนั้นในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะยุคสงครามเย็นที่ทั้งสหรัฐฯ และโซเวียตต่างก็แข่งขันชิงดีชิงเด่นจะเป็นที่หนึ่งให้ได้  

ทว่ากว่าจะมียานหรือจรวดไปสำรวจนอกโลก ยานสำรวจดาวอังคาร เทคโนโลยีเพื่อดูกาแล็กซี หรือแม้แต่ภารกิจปกป้องโลกจากอุกกาบาต นักดาราศาสตร์ต้องลองผิดลองถูกนับหลายพันครั้ง พร้อมทั้งแลกและเสียสละมาไม่น้อยเลยเช่นเดียวกัน 

เพราะการเดินทางนอกโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากพวกเขาต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงและชั้นบรรยากาศนอกโลกให้ได้ ก่อนจะส่งคนขึ้นไปอวกาศจริงๆ ก็มีการทดลองส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นไปอยู่หลายครั้ง เช่น เจ้าหมาไลกา หรือ ลิงชิมแปนซี เป็นต้น 

จนกระทั่งในปี 1961 กลายเป็นสหภาพโซเวียตที่ประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศ นั่นก็คือ ‘ยูริ กาการิน’ นักบินอวกาศรุ่นบุกเบิกยุคแรก แต่ทว่าในปี 1968 วงการดาราศาสตร์ก็ต้องพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อกาการินเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินอย่างเป็นปริศนา 

ปัจจุบันครบรอบ 55 ปีแล้วที่เขาจากไป แต่การจากไปของกาการินไม่เคยสูญเปล่า และวงการดาราศาสตร์ยังคงก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันนั้นจนถึงทุกวันนี้  

มนุษย์อวกาศคนแรกที่โลกจดจำและเป็นตำนาน 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4N3OCVPETPxRLFwMHSs2qu/25320fb7c4fe768311f135b5b109ecc7/Yuri-Gagarin-the-first-man-in-space-russia-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP
12 เมษายน 1961 วันที่ประวัติศาสตร์โลกจารึกถึงความก้าวหน้าในวงการดาราศาสตร์กับความสำเร็จในการส่งมนุษย์คนแรกออกไปนอกโลกบนยานอวกาศวอสตอค 1 (Vostok 1) พร้อมนักบินอวกาศชาวโซเวียต ‘ยูริ อะเลคเซเยวิช กาการิน (Yuri Alekseyevich Gagarin)’ โดยในระหว่างการบินนั้น นักบินทดสอบและช่างเทคนิคอุตสาหกรรมวัย 27 ปีก็กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ออกไปโคจรรอบโลกในอวกาศเป็นเวลา 108 นาที 

ยานภารกิจ Vostok 1 ถูกปล่อยขึ้นไปพร้อมความเสี่ยง โดยมีการบรรทุกเสบียงอาหาร 10 วัน และหากเครื่องยนต์ขัดข้อง กาการินจำเป็นต้องรอให้วงโคจรสลายตัวตามธรรมชาติ  

ทว่าความเสี่ยงในครั้งนั้นก็เป็นไปในทางที่ดีมากๆ เมื่อยานภารกิจสามารถโคจรรอบโลกได้ 1 รอบที่ระดับความสูงสูงสุด 203 ไมล์ (327 กิโลเมตร) ซึ่งถูกควบคุมโดยระบบควบคุมอัตโนมัติทั้งหมด และขาดการติดต่อจากโลกไปราว 23 นาที ซึ่งข้อความเดียวที่กาการินส่งมาช่วงหนึ่งระหว่างที่เขาอยู่ในห้วงอวกาศระยะเวลา 1 ชั่วโมง 48 นาทีคือ “เที่ยวบินกำลังดำเนินการตามปกติ ผมสบายดี” 

ทันทีที่กาการินกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอีกครั้ง เขาก็ประสบกับแรงดึงของแรงโน้มถ่วงถึง 8 เท่าระหว่างที่ยาน Vostok 1 กำลังลงมา ซึ่งยานไม่มีเครื่องยนต์ที่จะชะลอการกลับเข้าไปจอดที่เดิม และไม่มีทางลงจอดได้อย่างปลอดภัย เมื่อยานห่างจากพื้นโลกประมาณ 4 ไมล์ (7 กม.) กาการินจึงดีดตัวออกจากยานอวกาศและกระโดดร่มลงสู่พื้นโลก 

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ภารกิจถูกนับว่าเป็นการบินในอวกาศอย่างเป็นทางการซึ่ง Fédération Aéronautique Internationale (FAI) หน่วยงานกำกับดูแลด้านบันทึกการบินและอวกาศได้กำหนดให้นักบินต้องลงจอดพร้อมกับยานอวกาศ 

แต่ทว่ากาการินได้ออกจากยาน Vostok 1 ไปก่อนที่ยานจะลงสู่พื้นโลก และผู้นำโซเวียต ณ เวลานั้นก็ไม่ได้เปิดเผยว่ากาการินดีดตัวออกมาก่อนจนกระทั่งปี 1971 ถึงกระนั้น เขาก็ยังคงสร้างสถิติเป็นมนุษย์คนแรกที่ออกจากวงโคจรของโลกและเดินทางสู่อวกาศได้อยู่ดี  

หลังจากความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ กาการินก็กลายเป็นคนดังของโลกไปในชั่วพริบตา มีกองเชียร์นับแสนคนมาต้อนรับเขาที่จัตุรัสแดง ลานสาธารณะในกรุงมอสโก เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลนิน (Order of Lenin) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังอวกาศ และรับตำแหน่งวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต ทั้งยังมีการสร้างอนุสาวรีย์รวมถึงมีการเปลี่ยนชื่อถนนเพื่อเป็นเกียรติแก่กาการินด้วย 

อย่างไรก็ดี ชัยชนะของโครงการอวกาศโซเวียตในการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศนั้นถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ต่อสหรัฐฯ อย่างมาก ซึ่งมีกำหนดการบินอวกาศครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 1961 จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 1962 ‘จอห์น เกล็นน์’ ก็กลายเป็นมนุษย์อวกาศอเมริกันคนแรกที่สามารถขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จในภารกิจ ‘Friendship 7’ ซึ่งเป็นการกู้หน้าให้สหรัฐฯ หลังปล่อยให้อดีตสหภาพโซเวียตเอาชนะการสำรวจอวกาศไปได้ก่อน 

จุดจบที่น่าเศร้าของ ‘วีรบุรุษ’ 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6pfZnXvXVTHCJ6YurXA1jx/62bda9f5250b23cd6df08685c46d056c/Yuri-Gagarin-the-first-man-in-space-russia-SPACEBAR-Photo02
Photo: Dimitar DILKOFF / AFP
เนื่องจากโซเวียตไม่ต้องการเสี่ยงที่จะสูญเสียบุคคลสาธารณะที่สำคัญเช่นนี้ไป พวกเขาจึงลังเลที่จะอนุญาตให้กาการินกลับสู่อวกาศอีกครั้ง เพราะในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เขาได้กลับมาฝึกบินอีกครั้ง ซึ่งทางการเองก็สั่งห้ามเขาขึ้นบินสำหรับภารกิจโซยุซ 1 (Soyuz 1) ในปี 1967 โดยให้เป็นนักบินสำรองแทน และให้ วลาดีมีร์ โคมารอฟ เข้ามาเป็นนักบินตัวจริงในภารกิจครั้งนี้ 

โชคไม่ดีที่ยานภารกิจนี้ผ่านการทดลองมาทั้ง 3 ครั้งและล้มเหลวทั้งหมด รวมถึงมีการตรวจพบข้อบกพร่องของยาน แต่ภารกิจก็ยังได้รับการอนุมัติให้ดำเนินต่อไปจนนำไปสู่การสูญเสียนักบินอวกาศคนแรกในประวัติศาสตร์ ภายหลังจากที่ปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศและผังส่วนควบคุมยานขัดข้อง จากนั้นร่มชูชีพกลับพันกันจนไม่สามารถกางได้ทำให้ยานตกลงมาในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม แม้โซเวียตจะรักษาชีวิตของกาการินจากภารกิจโซยุต 1 ไว้ได้ แต่ในปีต่อมา 1968 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ชาวโซเวียตก็ต้องตกใจกับข่าวเศร้าหลังพบว่ากาการินเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินขับไล่ MiG-15 ตกในเมืองเล็กๆ ใกล้กับมอสโกระหว่างที่เขาฝึกบินร่วมกับ วลาดิเมียร์ เซโยกิน  

ทว่าการตายของกาการินกลับกลายเป็นปริศนา ทั้งยังมีการสืบสวนต่างๆ นานาถึงสาเหตุการเสียชีวิต โดยสรุปว่ากาการินอาจหักเลี้ยวเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งแปลกปลอมอย่าง นกหรือบอลลูนอากาศ ทำให้เครื่องบินสูญเสียการควบคุมและจบลงด้วยการตกลงสู่พื้น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินหลายคนมองว่าข้อสรุปนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ จนข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่ว 

บางคนคิดว่ากาการินอาจกำลังดื่มอยู่ บ้างก็บอกว่าเขาและเชโยกินอาจเสียสมาธิจากการถ่ายรูปจากหน้าต่างเครื่องบิน ส่วนคนอื่นๆ บอกว่าวาล์วควบคุมแรงดันในห้องโดยสารอาจล้มเหลว ทำให้นักบินทั้ง 2 ประสบภาวะขาดออกซิเจน หรือมีการคาดเดาถึงทฤษฎีที่แปลกประหลาดกว่านั้นรวมถึงการก่อวินาศกรรมด้วยแรงจูงใจทางการเมือง การฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่การปะทะกับ UFO ก็มี 

และสาเหตุการเสียชีวิตยังคงเป็นปริศนาตั้งแต่นั้นมา จนเวลาล่วงเลยถึง 45 ปีจึงได้รับการเปิดเผยในปี 2013 

ความจริงที่ไม่เป็น (ความลับ) อีกต่อไป 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6v2BX3DOyUsed9ih3SDAFA/3410d49763ccafa08670940eded1c56a/Yuri-Gagarin-the-first-man-in-space-russia-SPACEBAR-Photo03
Photo: NATALIA KOLESNIKOVA / AFP
เพื่อนของกาการินและเพื่อนนักบินอวกาศชาวรัสเซีย อเล็กซี ลีโอนอฟ ซึ่งอยู่ในพื้นที่วันที่เครื่องบินตกและทำหน้าที่ร่วมกับ เกอร์แมน ติตอฟ ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุ 

จนกระทั่งในปี 2013 ลีโอนอฟได้ประกาศผ่านเครือข่าย Russia Today TV ว่า รายงานอีกฉบับเกี่ยวกับสาเหตุเครื่องบินตกซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นเรื่องจริงที่ในวันนั้นมีเครื่องบินสกัดกั้น Su-15 อีกลำหนึ่งกำลังบินทดสอบในวันนั้น โดยบินต่ำกว่าระดับความสูงที่กำหนดไว้ 33,000 ฟุตโดยไม่ได้ตั้งใจ แทนที่จะผ่านใกล้กับจุดที่เครื่องบินของกาการินบินอยู่ประมาณ 2,000 ฟุต  

ทั้งนี้เครื่องบินขนาดใหญ่ดังกล่าวจะสามารถพลิกคว่ำเครื่องบินที่มีขนาดเล็กกว่าอย่าง MiG-15 ได้เลย หากเครื่องบินทั้ง 2 เข้ามาใกล้กันมากเกินไป 

หลังจากใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์หลายๆ แบบ รายงานจึงสรุปได้ว่าคำอธิบายที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวสำหรับเครื่องบินตกคือ Su-15 บินเข้าใกล้เครื่องบินของกาการินมากเกินไปในวันนั้น จนทำให้เครื่องบินของกาการินพลิกและสูญเสียการควบคุมจนดิ่งลงสู่พื้นดินแบบที่ไม่สามารถกู้คืนได้ 

เมื่อถูกถามว่าทำไมรายงานสาเหตุถึงใช้เวลานานมาก ซึ่ง ลีโอนอฟ ให้ตอบว่า “ผมเดาว่าสาเหตุหนึ่งในการปกปิดความจริงคือเพื่อซ่อนความจริงที่ว่าเครื่องบินลำนั้นดันไปตกใกล้กับมอสโกมาก” 

อย่างไรก็ดี ลีโอนอฟเองเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตนของนักบินทดสอบ Su-15 คนนั้นซึ่งปัจจุบันอายุกว่า 90 ปี เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขที่จะสามารถเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชนได้เมื่อผ่านไปเกือบ 5 ทศวรรษหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงของกาการิน 

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านเลยมาถึง 55 ปีแล้วที่กาการินจากไป แต่โลกและวงการดาราศาสตร์ยังคงจดจำและระลึกถึงเขาเสมอ ใครจะไปรู้ว่าความเสี่ยงของเขากับภารกิจ Vostok 1 ในครั้งนั้นจะเป็นใบเบิกทาง ทั้งยังสร้างแรงใจในการทดลองครั้งต่อๆ ไปของนักบินอวกาศได้มากขนาดนี้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3Xdatvp0wv9hLcLp1cygAi/d67b40fb646da6f1bf691731e8870a2e/info_Yuri-Gagarin-the-first-man-in-space-russia__1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์