สูด ‘PM2.5’ ร้ายกว่าดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ทำอายุขัยสั้นลงหลายปี ฝุ่นจิ๋วแต่ผลกระทบไม่จิ๋วเหมือนชื่อ!

21 มีนาคม 2567 - 09:49

air-polution-pm25-cuts-life-expectancy-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ฝุ่นจิ๋ว ‘PM2.5’ ภัยร้ายตัวฉกาจที่โลกมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป ทั้งป่วยง่าย ตายเร็วยิ่งกว่าดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และการก่อก่อร้ายซะอีก

  • เอเชียใต้ ยังคงเป็นภูมิภาคที่ถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นตัวร้ายและน่าเป็นห่วงที่สุด โดยเฉพาะในอินเดีย ส่งผลให้อายุขัยผู้คนลดลงได้มากถึง 10 ปีทีเดียว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในห้วงเวลานี้วิกฤตมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นจิ๋ว ‘PM2.5’ ได้กลายเป็นปัญระดับโลกที่แต่ละประเทศเริ่มตระหนักถึงความร้ายกาจของมันมากขึ้นแล้ว ฝุ่นนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 7 ล้านรายทั่วโลก ทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้อย่างง่ายดายไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคปอด หอบหืด โรคมะเร็ง หรือแม้แต่โรคทางเดินหายใจอื่นๆ ที่สำคัญยังเป็นอันตรายได้อย่างง่ายดายในหมู่เด็ก คนชรา และผู้ป่วยทางเดินหายใจ 

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ผู้คนจะมี ‘อายุขัย’ สั้นลงจากมลภาวะทางอากาศที่เราหายใจเอามันเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวัน 

เมื่ออายุขัยของมนุษย์ (อาจ) สั้นลงเพราะฝุ่นจิ๋ว ‘PM2.5’

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2022 เผยให้เห็นว่า

“มลพิษทางอากาศเรื้อรังทำให้อายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกลดลงมากกว่า 2 ปีต่อคน ซึ่งมีผลกระทบเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ และเลวร้ายยิ่งกว่าการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ หรือการก่อการร้ายเสียอีก”

สถาบันนโยบายพลังงาน (EPIC) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกระบุในดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Life Index) ฉบับล่าสุด ซึ่งใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อตรวจวัดระดับ ‘PM2.5’ ว่า “ประชากรโลกมากกว่า 97% อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศเกินระดับที่แนะนำ โดยอนุภาคเหล่านั้นสามารถเข้าไปทำลายปอดได้…หากระดับ ‘PM2.5’ ทั่วโลกลดลงเหลือ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด อายุขัยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.2 ปี” 

การศึกษาเตือนว่ามลพิษทางอากาศถูกละเลยในฐานะปัญหาด้านสาธารณสุข เนื่องจากเงินทุนสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่เพียงพอ 

รายงานในปี 2019 ระบุว่า “ในบรรดาความเสี่ยงต่อสุขภาพทั่วโลก มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนและโรคมาลาเรียในแต่ละปีเสียอีก” 

ฝุ่นจิ๋วตัวร้ายมันร้ายแรงยิ่งกว่าการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ซะอีกนะ!

WHO ระบุว่า “มลพิษทางอากาศสามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ทั้งยังลดอายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกลง 2.2 ปีด้วย”

“หากเปรียบเทียบกัน การสูบบุหรี่จะลดอายุขัยลงประมาณ 1.9 ปี ในขณะที่การดื่มแอลกอฮอล์จะลดอายุขัยลง 8 เดือน ส่วนการดื่มน้ำไม่สะอาดและการมีสุขอนามัยที่ไม่ปลอดภัยส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยลดลง 7 เดือน ส่วนความขัดแย้งและการก่อการร้ายทำให้อายุขัยลดลงเพียง 9 วันเท่านั้น”

ตามข้อมูลของดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อชีวิตที่ยืนยาว (AQLI) ระบุ

นักวิจัยบอกว่า “มันไม่เหมือนกับการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ แต่มลพิษทางอากาศ ‘แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้’” 

‘เอเชียใต้’ กลายเป็นภูมิภาคที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นพิษเยอะที่สุด

การศึกษาระบุว่า “มลพิษทางอากาศที่สูงขึ้นสามารถลดอายุขัยลงได้มากกว่า 5 ปีต่อคนในเอเชียใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก...” 

ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกและเป็นสถานที่ที่การสูดอากาศเข้าไปนั้นอันตรายที่สุด ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และปากีสถาน อันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและการเติบโตของจำนวนประชากรเอง นำไปสู่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นทำให้คุณภาพอากาศในเอเชียใต้ลดลง ซึ่งปัจจุบันระดับมลพิษของฝุ่นละอองสูงกว่าช่วงต้นศตวรรษมากกว่า 50%  

“ขณะเดียวกันก็พบว่าอายุขัยของเด็กที่เกิดในประเทศต่างๆ เช่น ปากีสถาน และบังกลาเทศ จะลดลงมากกว่า 30 เดือน” รายงานประจำปีของเว็บไซต์ด้านมลพิษทางอากาศ ‘State of Global Air’ ระบุ  

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า 

  • ผู้คนในบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกในปี 2023  มีแนวโน้มที่อายุขัยจะสั้นลงโดยเฉลี่ย 6.8 ปีต่อคน เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่ลดลง 3.6 เดือน 
  • อินเดียมีส่วนรับผิดชอบต่อมลภาวะของโลกที่เพิ่มขึ้นประมาณ 59% นับตั้งแต่ปี 2013 เนื่องจากอากาศที่เป็นอันตรายคุกคามชีวิตที่สั้นลงในภูมิภาคที่มีมลพิษมากขึ้นของประเทศ โดยเฉพาะในกรุงนิวเดลีซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น และเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกประจำปี 2023 พบว่าอายุขัยเฉลี่ยลดลงมากกว่า 10 ปี 
  • ปี 2020 ชาวกรุงนิวเดลีจำนวน 20 ล้านคนได้สูดอากาศที่สะอาดที่สุดเป็นประวัติการณ์ในฤดูร้อนเนื่องจากการปิดเมืองเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา 
  • แต่สุดท้ายอินเดียก็เผชิญหน้ากับอากาศเป็นพิษในฤดูหนาวภายหลังการเผาขยะในฟาร์มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณา 

แต่หากประเทศต่างๆ ทั่วโลกสามารถลดระดับ ‘PM 2.5’ ให้เหลือ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามที่ WHO กำหนด อาจส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.3 ปี โดยเพิ่มจากประมาณ 72 ปีเป็น 74.2 ปี อีกทั้ง ประชากรโลกจะมีอายุยืนยาวถึง 1.7 หมื่นล้านปีด้วย 

  • คนบังกลาเทศจะมีอายุขัยเพิ่มขึ้น 5.4 ปีต่อคน 
  • อายุขัยคนปากีสถานจะเพิ่มขึ้น 3.9 ปีต่อคน 
  • ส่วนคนเนปาลจะมีอายุขัยเพิ่มขึ้น 4.6 ปีต่อคน 
  • สำหรับประเทศจีนจะมีอายุขัยเพิ่มขึ้น 2.6 ปีต่อคน และนักวิจัยยกให้เป็นประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการทำความสะอาดอากาศ ซึ่งสามารถลดค่าฝุ่น ‘PM2.5’ ลงได้ 42.3% นับตั้งแต่ประกาศ ‘สงครามลดมลพิษ’ อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2013-2021

ไมเคิล กรีนสโตน ผู้อำนวยการสถาบัน EPIC บอกกับสำนักข่าว ‘The Washington Post’ ว่า

เขาคาดการณ์ว่ามลพิษ ‘จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย’ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากประเทศต่างๆ จำนวนมากใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตพลังงานทั่วโลก

“ในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหินเป็นแชมป์ในแง่ของการสร้างมลพิษทางอากาศอนุภาคเล็ก ซึ่งทำให้ผู้คนมีอายุขัยที่สั้นลงและป่วยมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งยังเพิ่มอัตราการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย” กรีนสโตนกล่าว 

รายงานจาก EPIC ระบุว่า “มลพิษทางอากาศมีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงเหมือน ‘การยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว’ ” 

“นโยบายลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปพร้อมๆ กัน จะช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ำลง” นักวิจัยเขียน 

แต่นั่นแหละทุกอย่างต้องใช้เงินทุนและความร่วมมือของรัฐบาลทั่วโลกที่ต้องเล็งเห็นความสำคัญของการทำความสะอาดอากาศจริงๆ จังๆ เสียที เพราะมันคือสิ่งที่เราสูดดมทุกวัน มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากหลายๆ ประเทศทำได้ ไม่ใช่แต่จะได้อากาศสะอาดๆ กลับคืนมาเท่านั้น แต่อากาศจะไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย และโลกก็จะไม่ร้อนขึ้นด้วย 

ตอนนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลทั่วโลกจะกำจัดเจ้าฝุ่นจิ๋วตัวร้ายจริงๆ สักที? 

Photo by CHANDAN KHANNA / AFP

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์