การประหารชีวิตด้วย ‘ก๊าซไนโตรเจน’ ครั้งแรกจะมีขึ้นที่สหรัฐฯ ในวันนี้ (25 ม.ค.) โดยจะใช้วิธีการที่โหดร้ายและเจ็บปวดที่แม้แต่สหประชาชาติก็บอกว่าเป็น ‘การทรมาน’
เคนเน็ธ สมิธ นักฆ่าชาวแอละแบมาวัย 58 ปี ถูกตัดสินประหารชีวิตฐานฆาตกรรมผู้หญิงคนหนึ่งตามการจ้างวานของสามีนักเทศน์ของเธอในปี 1988 และมีกำหนดจะถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษในเดือนพฤศจิกายน 2022 แต่เขากลับรอดชีวิตเพราะเกิดข้อผิดพลาด

ต่อมารัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งใน 3 รัฐเท่านั้นที่มีกฎหมายประหารชีวิตด้วยไนโตรเจน ตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยก๊าซไนโตรเจนแทน แม้ว่ารัฐจะเรียกวิธีการนี้ว่า ‘มีมนุษยธรรม’ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าวิธีนี้อาจทำให้เกิด ‘ความเจ็บปวด’ และ ‘ความอัปยศอดสูมากเกินไป’ พร้อมเตือนว่านักโทษอาจอยู่ในสภาพผัก (vegetative state) แทนที่จะตาย หรืออาจสำลักจนตายได้จากการอาเจียน
การประหารชีวิตครั้งใหม่จะมีขึ้นที่เรือนจำโฮลแมน เมืองแอตมอร์ รัฐแอละแบมา และดำเนินการระหว่างเวลา 02.00 น. ของวันพฤหัสบดีถึง 06.00 น. ของวันศุกร์ (ตามเวลาท้องถิ่น) สมิธจะถูกประหารชีวิตจากภาวะขาดออกซิเจนเนื่องจากสูดดมก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในร่างกายมากเกินไปจนทำให้หายใจไม่ออก (Nitrogen hypoxia)
กระบวนการการประหารด้วย ‘ก๊าซไนโตรเจน’ เป็นอย่างไร?
กระบวนการจะคล้ายกับการฉีดยาพิษ สมิธจะถูกตรวจค้นแบบเปลื้องผ้าก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่นำตัวเข้าไปในห้องประหารชีวิต และถูกมัดไว้กับเตียงจนไม่สามารถขยับแขนขาใดๆ ได้ จากนั้นก็สวมหน้ากากกรองก๊าซครอบเต็มหน้าชนิด ‘Type-C’ ซึ่งมักใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกซิเจน แต่ในกรณีของสมิธ เขาจะถูกบังคับให้หายใจเอาไนโตรเจนเข้าไป
ก่อนเริ่มกระบวนการประหาร ผู้คุมจะอ่านคำสั่งประหารชีวิตและถามสมิธว่าเขามีคำพูดสุดท้ายหรือไม่ หลังจากนั้นผู้คุมจะออกจากห้องและเปิดใช้งานระบบไนโตรเจน
แต่ตามทฤษฎีแล้ว กระบวนการนี้ไม่ควร ‘เจ็บปวด’
รายงานจากคณะกรรมการสอบสวนความปลอดภัยและอันตรายจากสารเคมีของสหรัฐฯ ระบุว่า “การหายใจเอาไนโตรเจนเข้าไปอาจทำให้บุคคลหมดสติได้หลังจากหายใจเพียง 1 หรือ 2 ครั้ง เนื่องจากผู้สัมผัสสารไม่ได้รับการเตือนล่วงหน้า และไม่สามารถรับรู้ได้ว่าระดับออกซิเจนนั้นต่ำเกินไป”
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน สมิธจะหมดสติลงในไม่กี่วินาที เนื่องจากก๊าซขัดขวางไม่ให้ออกซิเจนเข้าถึงสมอง เขาอาจจะรู้สึกอิ่มเอิบเล็กน้อยในระหว่างขั้นตอนนี้ จากนั้นการมองเห็นของเขาจะมัวลง เมื่อขาดออกซิเจนที่สำคัญ เซลล์ของเขาจะเริ่มตาย และอวัยวะของเขาจะล้มเหลวภายใน 15 นาที
“หลังจากปล่อยก๊าซไนโตรเจนแล้ว จะมีการให้ยาเป็นเวลา 15 นาทีหรือ 5 นาทีตามข้อบ่งชี้ของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) แล้วแต่ว่าระยะเวลาใดจะนานกว่า…ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะค้นพบได้อย่างมั่นใจ หรือมีความเป็นไปได้ที่ระบุว่าการประหารชีวิตด้วยก๊าซไนโตรเจนนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเจ็บปวดให้กับสมิธอย่างมาก” เจ้าหน้าที่กล่าว
อย่างไรก็ดี บางรัฐก็กำลังมองหาวิธีใหม่ๆ ในการประหารชีวิตนักโทษ เนื่องจากยาที่ใช้ในการประหาร (ซึ่งเป็นวิธีการประหารชีวิตที่ใช้กันมากที่สุดในสหรัฐฯ) กลายเป็นเรื่องยากที่จะหาได้ ทั้งนี้ มีเพียง 3 รัฐ ได้แก่ แอละแบมา มิสซิสซิปปี้ และโอคลาโฮมา ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ก๊าซไนโตรเจนมาเป็นวิธีการประหารชีวิต
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรัฐใดที่พยายามใช้วิธีนี้ หากกระบวนการประหารชีวิตสมิธสำเร็จในวันนี้ นี่จะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้วิธีการประหารชีวิตแบบใหม่นับตั้งแต่มีการฉีดยาพิษในปี 1982